หลังจากคราวที่แล้วคุยเกี่ยวกับการรวมและคัดผลงานเพื่อใส่พอร์ตเล่มใหญ่ไปแล้ว ครั้งนี้จันจะมาแนะนำเรื่องการจัดหน้าให้ฟังค่ะ
การจัดหน้าพอร์ตก็เหมือนการดีไซน์หนังสือเล่มหนึ่ง สิ่งที่สำคัญก็คือ
1. มีระบบแบบเดียวกันตลอดเล่ม อะไรวางไว้ส่วนไหนของหน้าก็วางไว้ตำแหน่งเดียวกันทุกหน้า โดยเฉพาะพวกคำอธิบายต่างๆ ชื่องาน วันที่สร้างผลงาน ฯลฯ ผู้อ่าน Portfolio ของเราจะรู้ได้อย่างรวดเร็วว่าถ้าอยากดูข้อมูลอะไรจะต้องอ่านตรงไหน ไม่ทำให้เกิดความสับสนค่ะ (แต่การตกแต่งอาจมีรายละเอียดต่างกันได้บ้างนะ ดูให้เข้ากับผลงานก็ได้ค่ะ)
2. อย่างน้อยๆ ต้องผลงานละหน้า อย่าแบ่งหน้าใส่ผลงานหลายชิ้น เพราะอย่างนั้นเมื่อถึงเวลาที่ต้องคัดผลงานลงในพอร์ตย่อย จะสลับ เรียงใหม่ลำบาก และพิมพ์หน้าเดียว ไม่ควรพิมพ์หน้าหลังนะคะ
3. อ่านง่าย ชัดเจน หลีกเลี่ยงการใช้ font ที่อ่านยาก สวิงสวายจนอ่านไม่ออก พยายามใช้ font ธรรมดาแต่ดูดี และไม่ควรใช้สีพื้นกับสีตัวอักษรที่ใกล้เคียงกันมากจนอ่านยาก ผู้พิจารณา Portfolio ไม่ได้ดูของเราเล่มเดียว ทำให้เขารู้ข้อมูลสะดวกมากเท่าไหร่ ย่อมดีเท่านั้นค่ะ
4. ไม่ต้องใส่เลขหน้า อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้แล้ว ว่า Portfolio เล่มนี้เป็น Portfolio เล่มใหญ่ และอาจต้องสลับหน้า เรียงหน้าใหม่ตลอดในเล่มย่อย ดังนั้นจึงไม่ต้องใส่เลขหน้าค่ะ
5. สะอาดๆ เรียบง่าย ไม่ต้องตกแต่งมาก เพื่อไม่ให้ส่วนประกอบเด่นกว่าผลงาน
ในแต่ละหน้า นอกจากผลงานแล้ว สิ่งที่ลืมไม่ได้เลยคือรายละเอียดเกี่ยวกับผลงาน แม้ว่าบางคนอาจบอกว่าภาพอธิบายได้ทุกอย่าง แต่จริงๆ แล้ว มีหลายอย่างที่ภาพเองก็บอกไม่ได้ หรือไม่ชัดเจนพอที่จะรู้ค่ะ
– ผลงานศิลปะ : ชื่อผลงาน วิธีที่ใช้ ขนาดของผลงาน (กว้าง x ยาว x สูง) วันเดือนปีที่ทำเสร็จ ทำเพื่ออะไรหรือในโอกาสใด แรงบันดาลใจคืออะไร มีความท้าทายอะไรบ้างที่ต้องเผชิญ และ เขียน copyright เพื่อป้องกันการลอกผลงาน
– เอกสาร : ตัวอย่างเอกสารที่ใส่ Portfolio ควรระบุหัวเรื่อง โปรแกรมที่ใช้ทำ วัตถุประสงค์ในการทำ และคำอธิบายเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับผลงาน
– บทความหรือเรื่องที่แต่งเอง : บทความต่างๆ ทั้งที่ได้ตีพิมพ์หรือเขียนไว้เล่นๆ ควรมี ชื่อเรื่อง วัน เดือน ปีที่เขียน เป้าหมายของการเขียน และ เนื้อเรื่องสรุปย่อๆ ขึ้นก่อนเพื่อชักจูงให้ผู้พิจารณาอ่านบทความจริง ถ้าได้ตีพิมพ์ต้องระบุ ชื่อหนังสือหรือนิตยสาร วันที่ลง เลขหน้า คอลัมน์ และถ้าเก็บปกนิตยสารไว้ด้วยจะดีมากค่ะ ฯลฯ
– กิจกรรมต่างๆ (อบรม สัมมนา เข้าค่าย ฯลฯ) : ชื่อกิจกรรม ผู้จัดกิจกรรม วัน เดือน ปี สถานที่ บอกสิ่งที่ทำและความประทับใจสั้นๆ อาจประกอบด้วยประกาศณียบัตรที่ได้มาจากกิจกรรม เป็นรูปประกอบเล็กๆ ไม่ต้องใหญ่ค่ะ
โปรแกรมจัดหน้าที่น่าจะง่ายที่สุดก็คือ Microsoft Word ตั้งค่าขอบ 4 ด้านให้เท่ากัน (0.25-0.5 นิ้ว กำลังสวยค่ะ แต่ถ้าจะ print ใหญ่ๆ ขอบประมาณ 1 นิ้วดีกว่า) font ภาษาไทยขนาด 16pt ภาษาอังกฤษประมาณ 12pt กำลังสบายตา ถ้าเป็นผลงานศิลปะหรือ portfolio แบบเน้นรูปให้ใช้ความยาวของรูปเท่ากันทุกรูป พื้นที่บนล่างจะได้เหลือเท่ากันเสมอ คำบรรยายต่างๆ จะอยู่ด้านบนหรือด้านล่างของกระดาษก็ได้ แต่พยายามอย่าให้ทับรูปเป็นอันขาด
ขนาดที่แนะนำคือ A4 แต่ถ้าเป็นผลงานศิลปะตลอดทั้งเล่ม ไม่มีด้านอื่นเลย จะทำขนาด A3 ก็ได้ค่ะ แล้วไปอัดรูปหรือ print เอา งานศิลปะถ้าใหญ่หน่อยจะดีค่ะ เดี๋ยวนี้แฟ้มสอดขนาด A3 ก็หาซื้อได้ที่ตามร้านขายอุปกรณ์สำนักงานด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปที่มีรายละเอียดเยอะๆ แนะนำขนาดใหญ่ค่ะ
มีตัวอย่างมาให้ดูกัน แบบเหล่านี้มาจากหนังสือออกแบบค่ะ จะสังเกตเห็นรายละเอียดตัวเล็กๆ พื้นเป็นสีเรียบๆ เพื่อส่งให้รูปเด่นยิ่งขึ้น เราก็จัดวางลักษณะนี้ได้เช่นกัน
Credit : PIEBOOKS หนังสือ Girly & Cute Graphics
Credit : PIEBOOKS หนังสือ New Girly Graphics
Credit : PIEBOOKS หนังสือ Attractive Flyer Designs
Credit : PIEBOOKS หนังสือ Attractive Flyer Designs
Credit : PIEBOOKS หนังสือ Designs that Grab Women’s Attention
Credit : PIEBOOKS หนังสือ William Morris: Father of ModernDesign and Pattern Textile, Book & Editorial Designs and More
Credit : PIEBOOKS หนังสือ Advertising Design with Illustration
สุดท้ายคืออย่าลืมเก็บไฟล์ที่จัดหน้าแล้วไว้ด้วยค่ะ เผื่อเอาไว้อัพเดทงานใหม่ๆ ใส่เข้าไปจะได้ไม่ต้องมานั่งทำใหม่กัน ถ้าเรามีผลงานใหม่ๆ ก็ลองดูว่าเอามาแทนผลงานชิ้นเก่าๆ ชิ้นไหนได้ พยายามอัพเดทอยู่เสมอ ผลงานที่อยู่ใน port จะได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ
เอาล่ะค่ะ ได้ portfolio ประจำตัวกันมาแล้ว ครั้งหน้าเรามาจัด portfolio เล่มเล็กเพื่อส่งให้กรรมการพิจารณากันบ้างค่ะ
*********************
ทั้งหมดเป็นการเขียนและวาดโดยจันเองใครจะก๊อปไปไว้ไหน
เครดิต www.nuchun.com ด้วยนะคะ
ขอบคุณค่า
– แอดหนูจัน – บล็อกเกอร์ตัวกลม อารมณ์ดีที่ชอบหาอะไรทำสนุกๆ ภายในบ้าน รักการเขียน การอ่าน การวาดรูป และการทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองเป็นชีวิตจิตใจ หลงใหลในมนต์เสน่ห์ของเครื่องเขียน อุปกรณ์งานฝีมือและอุปกรณ์ศิลปะ Craft it Myself • Draw my Life • Create my World