Nuchun's Atelier

บล็อกรีวิวเครื่องเขียน l สีมาร์คเกอร์ l อุปกรณ์วาดรูป พร้อมวิธีทำงานประดิษฐ์สนุกๆ ที่ทำได้ที่บ้าน

[Portfolio] ตอนที่ 2 : รวบรวมผลงานเป็น portfolio เล่มใหญ่

*หมายเหตุ : จันขอเรียกรวมๆ ทั้งกิจกรรม การบ้าน ตัวอย่างงาน และทุกสิ่งทุกอย่างที่ใส่ portfolio ได้ ว่า “ผลงาน” นะคะ

ปกติเราจะเข้าใจว่าแต่ละคนจะมี Portfolio เพียงเล่มเดียวใช่ไหมคะ? แน่นอนว่าเวลาเราสมัครหรือสอบเข้า เราต้องส่งพอร์ตให้กรรมการแค่เล่มเดียวอยู่แล้ว แต่เวลาเราสมัครเราไม่ได้สมัครที่เดียว เราสมัครหลายที่ซึ่งอาจจะแตกต่างกันไปคนละด้่าน คนละสาขา และต้องการความสามารถคนละแบบ ดังนั้นเราควรมี Portfolio เล่มใหญ่กับเล่มย่อยค่ะ เล่มใหญ่เราเก็บเอกสารและผลงานทุกด้านของเราไว้ แล้วเมื่อจะสมัครอะไรก็ดึงความสามารถที่เกี่ยวข้องกับแขนงที่เราต้องการสมัครออกมารวมกันใส่แฟ้มอีกเล่มหนึ่ง ใช้เสร็จก็ใส่แฟ้มคืนตามเดิม หรือจะบันทึกเป็นไฟล์แล้วเลือก print เฉพาะหมวดที่ต้องการนำไปเสนอก็ได้ค่ะ

วิธีนี้เหนื่อยครั้งเดียว ไม่ต้องส่งทีก็ทำที รวดเร็ว ดึงมาใช้ได้ทันทีค่ะ

ขั้นตอนแรกของการทำ Portfolio อย่างแรก คือการรวบรวมผลงานให้ได้มากที่สุดก่อนค่ะ

ไม่ว่าเราจะต้องทำ Portfolio หรือยังไม่ต้องทำก็ตาม สิ่งหนึ่งที่จันอยากบอกทุกคนก็คือ “จงเห็นความสำคัญของงานของตัวเองและรักษาไว้ให้ดีที่สุดค่ะ !” ลองคิดดูว่า ถ้าวันหนึ่งเราเกิดต้องทำ Portfolio แต่เราไม่มีผลงานอะไรที่จะเอาไปโชว์ได้เลย เพราะชิ้นงานก็ทิ้งไปหมดแล้วและไฟล์งานก็ลบไปหมดแล้วด้วย ทีนี้เราจะทำยังไงล่ะ การทำงานขึ้นมาใหม่เพื่อแสดงความสามารถของเรานั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเสียด้วยใช่ไหมละคะ ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนเก็บผลงานทั้งหลายไว้หรืออย่างน้อยๆ ก็คิดสักนิดก่อนทิ้ง มันไม่ดีจริงๆ เหรอ หรือ เอาไปใช้อะไรได้อีกหรือเปล่า ถึงแม้จะไม่ต้องทำ portfolio แต่สิ่งที่เราเคยทำนอกจากจะเป็นความทรงจำที่ดีแล้ว เรายังเอามาพัฒนาต่อยอดได้หรืออาจมีเหตุจำเป็นที่ต้องใช้งานก็มีอยู่บ่อยๆ ดังนั้นไม่ว่าจะเก็บเป็นรูปแบบไหนก็อยากให้เก็บไว้ค่ะ

01

เวลาที่เราเก็บถ้าเป็นงานเขียน งานเอกสาร ภาพถ่ายดิจิตอล จะเซฟเป็นไฟล์อย่างเดียวก็ได้ค่ะ อาจรวมไว้ใน folder ใด folder หนึ่งของเครื่อง หรือถ้าแยก Drive ใน Harddisk ไปเลยได้ก็ยิ่งดี เอาไว้เก็บงานสัก drive หนึ่ง แล้วจัดระบบให้ดี อย่างตอนทำงาน (ในที่ทำงาน จันต้องจัดระบบข้อมูลให้ดีมากๆ เพราะมักต้องใช้ไฟล์เก่าโดยไม่ทันตั้งตัวอยู่บ่อยๆ)​ จันจะตั้งชื่อ folder เรียงตามวันที่ (แนะนำเป็น ปี เดือน วันค่ะ เครื่องคอมพ์จะเรียงได้ถูกต้อง ไม่สลับไปสลับมา) ต่อท้ายด้วยชื่องาน หรืออาจแยกเป็นประเภทของงานไป เช่น วาดรูป DIY งานแปล ตัดต่อวิดีโอ จัดเล่ม ฯลฯ หาง่าย ใช้สะดวก พอมีไฟล์เก็บไว้ อะไรก็ง่ายขึ้นค่ะ จะค้นหา แก้ไข หรือทำซ้ำก็ไม่ยากแล้ว ถ้าฮาร์ดดิสก์มีจำกัดก็ไรท์แผ่นเก็บแล้วเขียนหน้าแผ่นไว้ก็ดีค่ะ

2013-06-22 01.03.10

แต่ถ้าเป็นผลงานที่เป็นชิ้นงาน อย่างรูปวาด หนังสือ นิตยสาร ก็เก็บรวมกันไว้ที่ใดที่หนึ่ง ถ้าเป็นนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ไม่อยากเก็บทั้งเล่มก็ควรตัดเฉพาะหน้าเก็บไว้ อย่างน้อยๆ มีอยู่สัก 1 copy ก็ยังดีนะคะ ถ้าให้ดีก็สแกนเป็นไฟล์เก็บไว้จะได้ print ออกมาเพิ่มได้โดยไม่ต้องใช้ตัวจริง แต่สำคัญที่สุดคือถ้าเป็นพวกนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ต้องจด วัน เดือน ปี ที่ออก หมายเลขหน้า จันแนะนำให้เก็บหน้าปกไว้ด้วยค่ะ

แต่ถ้าผลงานเป็นสิ่งของ ไม่ใช่อะไรแบนๆ อย่างเช่น งานปั้น ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็ให้ถ่ายภาพค่ะ โดยถ่ายบนพื้นขาวหรือดำก็ได้ ถ้าเป็นไปได้ถ่ายนอกบ้านจะสวยกว่าเพราะแสงออกมาเท่าๆ กัน แล้วก็ใช้กล้องนะคะ กล้องมือถือปริ้นท์ออกมา บางทีความละเอียดมันไม่ค่อยพอนะ

พวกประกาศณียบัตรต่างๆ เอกสารเกี่ยวกับการศึกษา ผลการสอบ ใบรับรอง และรายละเอียดรายวิชาก็ควรรวมไว้เป็นแฟ้มเดียวเช่นเดียวกันค่ะ จันอ่านมาว่าฝรั่งคนหนึ่งรวบรวมตัวอย่างงานและเอกสารต่างๆ ของตัวเองตั้งแต่เรียนอยู่มหาวิทยาลัย แล้วเมื่อสัมภาษณ์งานเธอก็หิ้วแฟ้มใหญ่ๆ ของตัวเองไปด้วย โดยมีข้อมูลทุกอย่างในนั้นพร้อมทั้งฉบับสำเนา (ตัวอย่างงาน Resume เอกสารต่างๆ) ระหว่างการสัมภาษณ์ก็ดึงมาใช้ประกอบการพูดคุยค่ะ อย่างเช่น เมื่อกรรมการถามว่าทำ excel เป็นไหม เธอก็หยิบตัวอย่าง excel ออกมาแล้วอธิบายให้กรรมการฟัง Portfolio แบบนี้จะต่างจากที่เราเข้าใจนิดหน่อย เพราะไม่ได้เอาไว้สำหรับโชว์ทั้งเล่ม ถ้าเขาไม่ขอก็ไม่ต้องให้ดูค่ะ แต่เอาไว้เป็นข้อมูลอ้างอิงประกอบการสัมภาษณ์ เหมาะกับการสัมภาษณ์งานในบริษัทมากๆ เลยค่ะ

หลังจากการรวบรวมผลงานทั้งหมดแล้ว แยกประเภทผลงานเป็นหมวดต่างๆ เช่น วาดภาพ งานประดิษฐ์​ ถ่ายภาพ เขียนโปรแกรม งานเอกสาร แล้วคัดผลงานที่เราภูมิใจที่สุดออกมา แต่ละประเภทให้เลือกประเภทละ 6-20 ชิ้นค่ะ ตรงนี้ไม่จำเป็นต้องเลือกเองนะคะ เพราะถ้าเราตัดสินงานตัวเอง เรามักจะคิดถึงเรื่องอื่น เช่น ขั้นตอนระหว่างทำและความประทับใจอื่นๆ ที่ไม่ได้มาจากคุณภาพของผลงาน แนะนำให้คนที่เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ เป็นคนเลือกค่ะ เมื่อเลือกได้แล้วเราจะได้ portfolio เล่มใหญ่มาเล่มหนึ่งที่รวมความสามารถทั้งหมดของเราไว้ค่ะ

ครั้งหน้าจันจะสอนหลักการจัดหน้าที่ดีนะคะ

*********************

ทั้งหมดเป็นการเขียนและวาดโดยจันเองใครจะก๊อปไปไว้ไหน
เครดิต www.nuchun.com ด้วยนะคะ
ขอบคุณค่า