Nuchun's Atelier

บล็อกรีวิวเครื่องเขียน l สีมาร์คเกอร์ l อุปกรณ์วาดรูป พร้อมวิธีทำงานประดิษฐ์สนุกๆ ที่ทำได้ที่บ้าน

[Portfolio] ตอนที่ 4 : เดาใจกรรมการ

ครั้งนี้จันจะมาพูดถึงการคัดเลือกผลงานจาก Portfolio เล่มใหญ่มาใส่เล่มเล็กกันบ้างค่ะ Portfolio เล่มเล็กก็คือ Portfolio จริงที่เราจะส่งให้แก่ที่ต่างๆ เพื่อให้ผู้รับพิจารณาตัวเรา ว่าเราเป็นคนที่เหมาะสมหรือไม่ สิ่งสำคัญคือเดาใจกรรมการว่าเขาต้องการคนแบบไหน ความสามารถแบบไหน และนำเสนอสิ่งนั้นใน Portfolio ของเรา ดังนั้นวันนี้เราจะมาลองเดาใจกรรมการด้วยกันค่ะ

จันขอแยกกรรมการตามลักษณะผลงาน และ วัตถุประสงค์ของ Portfolio แล้วกันนะคะ

1. Portfolio เพื่อสมัครเรียน (เรียนต่อมหาวิทยาลัยและสมัครคอร์สต่างๆ)
เดาใจกรรมการ : กรรมการเหล่านี้คัดเลือกคนจาก Portfolio จำนวนมาก โดยมากแล้วมักคัดเลือกคนที่มีความสามารถและสนใจเฉพาะด้านนี้จริงๆ ก่อนแล้ว รองลงมาคือคนที่มีความสามารถด้านนั้นและด้านอื่นๆ ด้วย เพราะจุดประสงค์ของการเรียนคือต่อยอดความสามารถมากกว่าจะเป็นการเปิดรับคนทั่วไป (ไม่อย่างนั้นเขาคงไม่ต้องการ Portfolio จริงไหมคะ)

ดังนั้นสิ่งที่กรรมการน่าจะมองหาอยู่ คือ Portfolio ที่มีเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่สมัคร ความสามารถอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องก็ไม่ต้องใส่ อาจแค่ระบุไว้ในประวัติส่วนตัว เนื่องจากกรรมการต้องตรวจ Portfolio จำนวนมาก ให้รวบรัดสั้นที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ มากที่สุดควรมีผลงานไม่เกิน 20 ชิ้น หน้าปกโดดเด่นสะดุดตาเพื่อให้กรรมการหยิบของเราขึ้นมาก่อน ถ้ามีความสามารถหลายประเภทควรแยกหมวดหมู่และทำสารบัญ

– เพิ่มเติมเกี่ยวกับสาย fashion นอกจากจะทำพอร์ตเกี่ยวกับผลงานต่างๆ แล้ว อีกอย่างที่ทำได้คือ lookbook ค่ะ จะทำเป็นบล๊อคหรือ scrapbook ก็ได้นะ รวบรวมเสื้อผ้าการแต่งตัวที่ใส่แต่ละวัน จุดประสงค์หลักของ fashion blog และ lookbook คือเป็นไอเดียการ Mix and Match ให้กับคนอื่นๆ ค่ะ คนที่เข้ามาดูจะได้ไอเดียการแต่งตัวหรือจะใช้เพื่อ promote สินค้า fashion ก็ได้ ถ้าอยากให้เป็นจริงเป็นจังขึ้นมาอีกหน่อย อาจเพิ่มรูปสเกชเสื้อผ้าลงไปด้วยค่ะ

– สายการละคร ดนตรี หรือ ภาพยนตร์ จะแทรก DVD บันทึกภาพการแสดงเข้าไปด้วยก็ได้ค่ะ แต่ควรมีภาพ screenshot ให้ด้วย

เอกสารที่สำคัญ : ประวัติส่วนตัว (TH/EN) ประวัติการศึกษา รางวัลที่ได้รับ กิจกรรมในโรงเรียน ความสามารถพิเศษ ทั้งหมดนี้เขียนเป็นลิสต์ ไม่เกิน 3 หน้า

2. Portfolio เพื่อสมัครงาน (รวม freelance ด้วยนะคะ)
เดาใจกรรมการ : การสมัครงานมีอยู่สองแบบ คือแบบร่อน ยังไม่รู้ว่าจะได้ทำอะไร ใบสมัครฝ่ายบุคคลเป็นผู้คัดเลือกจากผู้สมัครจำนวนมากเพื่อหาคน Profile ดีและมีความสามารถมาก เพื่อหาคนเก่งมาไว้ในบริษัท แล้วจากนั้นจึงหาตำแหน่งที่เหมาะสมให้เรา แต่ในทางกลับกัน การสมัครอีกแบบคือการสมัครตามตำแหน่งว่าง ถ้ามีตำแหน่งว่าง ระบุชัดเจนว่าต้องทำงานอะไร ผู้สมัครมักจะไม่เยอะนัก อาจจะ 4-5 คน และฝ่ายบุคคลต้องรีบหาคนให้เร็วที่สุดเพื่อให้งานเดินต่อไปได้ คนมีประสบการณ์ย่อมดีกว่าในกรณีนี้

ดังนั้นกรณีการสมัครงานแบบร่อน สิ่งที่ควรทำคือการส่ง Resume ไปก่อนค่ะ ไม่ต้องส่ง Portfolio ไป ให้บอกความสามารถของเราทั้งหมดลงไปใน Resume  ยาวไม่เกิน 2 หน้า รางวัล ผลการเรียน ใส่ไปให้หมดค่ะ

แต่ถ้าการสมัครงานแบบระบุตำแหน่ง ให้ลองพิจารณาตำแหน่งกับลักษณะของบริษัทให้ดีค่ะ ตำแหน่งที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ อย่างเป็นครีเอทีฟ ดีไซน์เนอร์ งานออกแบบต่างๆ และนักเขียน ควรจะใส่ผลงานหลากหลายแนวค่ะ เพราะสายอาชีพนี้ยิ่งเราทำอะไรได้เยอะเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้จินตนาการของเรากว้างไกลเท่านั้น เราจะทำอะไรได้หลายอย่างและขยายขอบเขตความคิดและการทำงานของเราออกไป และควรมีงานด้าน commercial ด้วยค่ะ เพราะจุดนี้จะทำให้ได้เปรียบมากหรือเป็นงานที่ต่อยอดการทำงานในสายงานที่สมัครได้ก็จะได้รับความสนใจค่ะ

ส่วนงานด้านเอกสาร สิ่งที่ฝ่ายบุคคลตามหาคือคนที่ทำงานได้และมั่นใจว่าจะอยู่นาน Profile เราควรนำเสนอส่วนที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งเหมือนการทำ Portfolio เพื่อสมัครเรียนค่ะ อีกอย่างคือการเปิดรับสมัครแบบนี้ หมายความว่าต้องการคนที่ทำงานได้ทันที ดังนั้นตัวอย่างผลงานควรสมบูรณ์แบบที่สุดและในเมื่อพิจารณา Portfolio ไม่กี่เล่ม เราเพิ่มจำนวนหน้าได้ค่ะ อาจจะ 30-40 หน้า

ขณะเดียวกันถ้าสมัครบริษัทเล็กๆ ไม่ว่าจะตำแหน่งแบบไหน ขอให้ใส่ความสามารถทั้งหมดลงไปค่ะ เพราะบริษัทเล็กมีพนักงานน้อย ยิ่งพนักงานในบริษัททำงานได้หลายอย่างแค่ไหน ยิ่งดีเท่านั้น บริษัทเล็กๆ จะชอบคนที่ทำงานได้หลายอย่างค่ะ

ปล. ถ้าเป็นตัวอย่างงานของบริษัทอื่นที่เคยอยู่ ต้องดูเอกสารให้แน่ใจว่าไม่มีความลับของบริษัทนะคะ

เอกสารที่สำคัญ : Resume กิจกรรมในมหาวิทยาลัยและกิจกรรมเพื่อสังคม รางวัลต่างๆ ที่ได้รับ Recommendation

3. Portfolio เพื่อเสนอ Gallery
เดาใจกรรมการ : นำเสนอ Gallery หรือผู้จัด exhibition หมายความว่าผลงานจะต้องพร้อมจะจัดแสดงได้ทันที มีมากพอ เป็น Series เดียวกันหรือมีจุดร่วมอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เป็นภาพขาวดำหมด ภาพที่ถ่ายด้วยกล้อง หรือ เทคนิคใดเทคนิคหนึ่ง หรือมีธีมใดธีมหนึ่ง และต้องเป็นผลงานที่ดีพอจะออกโชว์ได้

ดังนั้นควรเตรียมงานที่มี concept theme ที่เป็น collection เดียวกัน อาจมีจุดร่วมที่ลักษณะภาพ สี แสง หรือ ภาพถ่าย ภาพวาด บุคคลคนเดียวกัน ประเภทเดียวกัน และต้องมีจำนวนมากพอที่จะแสดงได้ทันที และควรมีสื่อที่ review งานของเรามากพอ เพื่อบอกว่าผลงานของเรามีคนสนใจค่ะ

เอกสารที่สำคัญ​ : ประวัติส่วนตัว รางวัลที่ได้รับ ประวัติการทำงาน

4. Portfolio เพื่อสัมภาษณ์งาน

เดาใจกรรมการ : การสัมภาษณ์งานนั้นโดยมากแล้วจะไม่ได้ขอให้นำ Portfolio มาด้วย เพราะถ้าจะขอก็มักจะขอตั้งแต่สมัครแล้ว การสัมภาษณ์จึงเน้นการพูดคุยเป็นหลัก

ดังนั้น Portfolio ที่เรานำไป ก็เพื่อให้การพูดคุยชัดเจนขึ้น เป็นหลักฐานว่าสิ่งที่เราพูดเป็นความจริงหรือยกตัวอย่างผู้สัมภาษณ์เห็นชัดเจน เราควรเตรียมเอกสารทุกอย่างไป ทั้ง Resume เอกสารเกี่ยวกับการศึกษา ตัวอย่างงานตามคุณสมบัติของการสมัคร Portfolio นี้เราไม่จำเป็นต้องให้ผู้สัมภาษณ์ดูทั้งเล่มหากเขาไม่ได้ขอ แต่เมื่อพูดคุยถึงเรื่องที่เรามีเอกสาร ก็ค่อยหยิบเอกสารนั้นออกมาประกอบการสัมภาษณ์ค่ะ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือให้แยกประเภทของเอกสารและจัดเรียงให้ดี เพราะเราไม่ควรเสียเวลานานระหว่างการพูดคุยเพื่อหาเอกสาร จะทำยังไงก็ได้ให้เรารู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน อาจมีที่ขั้นหน้า สารบัญ และพยายามเก็บเอกสารไว้เป็นปึกๆ เย็บรวมกันไว้เป็นชุดๆ อย่าแยกแผ่นใส่แฟ้มเพราะจะดึงออกมาใช้ยาก สุดท้ายคือเตรียมไว้อย่างน้อย 2 ชุดค่ะ เพื่อให้เราใช้อธิบายชุดหนึ่งและให้กรรมการชุดหนึ่ง แค่นี้ก็พร้อมแล้วค่ะ

 

แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากกกกกกก คือ
ให้เรียงผลงานที่ดีที่สุดไว้เปิดและปิดพอร์ตค่ะ
เพื่อให้เกิดความประทับใจแรกและส่งท้ายด้วยความรู้สึกดีๆ
และคิดถึงผู้พิจารณาเป็นสำคัญแล้วทำทุกอย่างที่อำนวยความสะดวกให้เขามากที่สุดค่ะ
ทุกสิ่งทุกอย่างจะช่วยส่งเสริมผลงานของเราและสร้างความประทับใจให้ผู้พิจารณาได้ดียิ่งขึ้นค่ะ

ครั้งหน้าจันจะมาต่อเรื่องการทำ Portfolio แบบ electronics และ online นะคะ

*********************

ทั้งหมดเป็นการเขียนและวาดโดยจันเองใครจะก๊อปไปไว้ไหน
เครดิต www.nuchun.com ด้วยนะคะ
ขอบคุณค่า