#Freetimechallenge : ตอนต้น – ปรับแผนการเงินเสียใหม่

สวัสดีทุกคนค่ะ วันนี้เราจะมาเริ่ม Freetime Challenge กันค่ะ !
กิจกรรมแรกอาจจะไม่สนุก แต่จันอยากให้เพื่อนๆ ทำกัน โดยอาศัยภาวะของเหตุการณ์ให้เป็นประโยชน์ค่ะ นั่นก็คือการปรับแผนการเงินเสียใหม่นั่นเองค่ะ มันไม่น่าสนุกเลยใช่ไหมคะ พวกเราผลัดการจัดการเงินกันมาตลอด บ้างก็ไม่จริงจัง เพราะยังไม่เคยเห็นความน่ากลัวของการไม่มีรายได้ แต่ตอนนี้เป็นโอกาสแล้วค่ะ! หากเพื่อนๆ คือผู้อยู่รอด และชีวิตถูก reset กลับมามีงานเข้า มีเงินเข้า เรานำวิกฤตินี้มาเป็นอุทาหรณ์และเตรียมวางแผนรับมือกันเถอะค่ะ

ข้อแนะนำที่จันเอามาเขียนได้มาจากสิ่งที่คุณพ่อซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางการเงินสอนมา รวมกับหนังสือหลายเล่มที่จันได้อ่าน จันเอามารวมกัน แล้วแยกเป็นข้อๆ ที่เพื่อนๆ น่าจะทำตามได้ สิ่งที่เขียนยาว ละเอียด ทำได้จริง และเป็นประโยชน์สำหรับเพื่อนๆ ไม่มากก็น้อยค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=6B2jhZUDjj0&feature=youtu.be&fbclid=IwAR1VnCZSAFrUfB6UXXQx6B01FuxHrPoDwoTh7KSlQT-Hvhxa0ZA0unljWck
ปกติเป็นแบบนี้กันรึเปล่าคะ? 55555 ชีวิตจริงเลยเนอะ…

Step 1 : เปลี่ยนความคิดซะก่อน

https://youtu.be/BBWDB9BNxtU
  1. ออมเงินเป็นงานอดิเรก
    ถ้าเราเอาการเก็บเงินเป็นงานอดิเรกล่ะ? จันว่าเอาจริงๆ มันมีประโยชน์และสนุกดีนะคะ เป็นกิจกรรมที่ได้ประโยชน์กับตัวเองและท้าทายตัวเองมากๆ คิดซะว่าเป็นเกมแบบนึง ถ้ามันไม่สนุก ก็คงไม่มีการ Challenge 1 เดือน 10,000 เยน ในรายการทีวีเรตติ้งสูงของญี่ปุ่นหรอกจริงไหม (ดูคลิปด้านบนเลย สนุกมากๆ !)
  2. การออมเงินไม่ได้หมายความว่าต้องมีรายได้มากๆ แต่หมายถึงใช้ให้น้อยลง (ก็ได้)
    สมมติเรามีเป้าหมายการออมในใจจำนวนหนึ่ง แต่เรากลับใช้เงินไม่เคยเหลือสักเดือน เรามีตัวเลือกสองอย่าง คือ หาเงินให้มากขึ้น หรือ ใช้จ่ายน้อยลง แต่ว่าความจริงแล้วสิ่งที่เริ่มทำได้เลยคือการลดรายจ่าย เราจะไม่ต้องหวังพึ่งใคร นอกจากวินัยของตัวเองเท่านั้น ใครคิดว่าออมได้นิดเดียว จะมีประโยชน์อะไร ขอให้คิดว่า อย่างน้อยได้ฝึกนิสัยก็คุ้มค่ากับที่ออมแล้ว เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดในเรื่องเงิน คือวินัยการใช้เงินค่ะ มีมากมีน้อยก็อยู่ได้ ถ้าเรามีสิ่งนี้ติดตัวค่ะ
  3. ไม่ดู ไม่เห็น ไม่ลอง ไม่เสพ >>> ไม่ซื้อ
    จริงๆ นะ เคยไปช็อปปิ้งกับเพื่อนหลายคน จันว่าสูตรไม่ดู ไม่ลอง = ไม่ซื้อ เป็นสิ่งที่ช่วยได้เยอะเลยค่ะ คือถ้าเราตั้งใจจะซื้ออยู่แล้ว แล้วหาสิ่งที่ดีที่สุดโดยเสพรีวิวหรือหาข้อมูลเยอะๆ อันนี้ดี แต่ถ้าติดตามรีวิวเพราะอยากตาม อยากรู้ อยากลอง ให้เลิกซะ เพราะนั่นแหละคือการที่ตกเป็นเหยื่อการตลาดเข้าแล้ว~
  4. คิดซะว่าเงินออมคือหนี้
    ให้คิดซะว่าเงินออมเป็นหนี้ของเรา เป็นสิ่งที่เราต้องจ่ายทุกเดือน ไม่ว่างเว้น พอคิดแบบนี้ ทั้งที่มีอยู่ในมือก็จะไม่นำออกมาใช้จ่าย และจะเก็บทุกเดือนโดยไม่คาดหวังว่าจะนำมาใช้ด้วยค่ะ

Step 2 : สำรวจรายได้และรายจ่าย

หลังจากเปลี่ยนความคิด Mindset กันแล้ว เรามาสำรวจรายได้และรายจ่ายแต่ละเดือนของเรากันดีกว่า ยิ่งรู้ว่าเราใช้เงินอย่างไร เราก็จะเข้าใจการใช้เงินของตัวเองมากขึ้น

  1. เริ่มจากสำรวจรายรับกันก่อน ให้เปิด Slip เงินเดือนดู ว่าเงินที่เข้าบัญชีเรามาแต่ละเดือนคือเท่าไหร่ ถ้าใครได้เงินเดือนแต่ละเดือนไม่เท่ากัน เช่น มีค่า Service Charge หรือ Commission เพิ่มเติมจากเงินเดือน ขอให้ลองเอาสถิติหลายๆ เดือนมาเฉลี่ยว่าได้สักเดือนละเท่าไหร่เพื่อคิดเป็นรายได้ค่ะ
  2. แยก รายจ่ายประจำ เช่น หนี้ ผ่อนชำระ ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำมัน/ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าโทรศัพท์ เงินให้พ่อแม่ คอขาดบาดตายก็ต้องจ่าย รวมค่าใช้จ่ายเหล่านี้ออกมาเป็นตัวเลข
  3. ดูค่าใช้จ่ายจิปาถะต่อเดือนของตัวเราอย่างละเอียด พวกค่าขนม ค่าอาหารที่แพงกว่ามื้อปกติ ค่าสังสรรค์ ค่าชอปปิ้งต่างๆ สิ่งที่จะช่วยได้มากที่สุดคือการทำบัญชีรายจ่ายค่ะ ขอให้จดอย่างเดียวว่าซื้ออะไรออกไปบ้าง โดยแบ่งกลุ่มคร่าวๆ เป็น 3 กลุ่ม คือ 1. จำเป็น 2. เรื่องงาน (แบบไม่เข้าข้างตัวเองนะ) 3. ไม่จำเป็น/อยากได้ ลองทำเป็นฟอร์แมทภาพด้านล่างดูค่ะ

3. ตั้งเป้าหมายเงินออมและเงินที่จะใช้จ่ายจิปาถะ หลังจากที่เห็นรายได้และรายจ่ายในหนึ่งเดือนแล้ว เราก็จะเห็นทันทีว่าเราใช้จ่ายเยอะกับตรงไหน จำเป็นไหม ตัดตรงไหนได้ เรามีให้เลือก 2 สูตรค่ะ

3.1 รายได้ – (ค่าใช้จ่ายประจำ + เงินสำหรับเงินออม) = ค่าใช้จ่ายจิปาถะ
ว่าง่ายๆ คือหักรายจ่ายประจำไปแล้ว ออมแล้ว ที่เหลือก็ใช้ วิธีนี้ดีสำหรับคนที่มีเงินเดือนชัดเจน ไม่มีเพิ่ม ไม่มีลดค่ะ

3.2 รายได้ – (ค่าใช้จ่ายประจำ + เงินสำหรับเงินออม) = ค่าใช้จ่ายจิปาถะ (fixed) + เงินออมเพิ่มเติม
สำหรับคนที่มีเงินเดือนแต่ละเดือนไม่เท่ากัน (เช่น มีเงินเพิ่มเติมจาก Commission และ Service Charge) ให้กำหนดเงินออมและค่าใช้จ่ายจิปาถะเป็นตัวเลขไปเลยค่ะ เพราะว่าหากเดือนไหน ได้เงิน Service Charge หรือ Commission มาก เราก็จะเก็บเงินส่วนต่างไว้ออมได้อีกทางค่ะ

จริงๆ เงินค่าใช้จ่ายจิปาถะเนี่ย เป็นเงินเพื่อกิเลสเน้นๆ เลยค่ะ เพราะค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เราได้ตัดไปอยู่ในค่าใช้จ่ายประจำแล้ว การตั้งเป้าหมายว่าจะออมเงินเดือนละเท่าไหร่ ไม่ต้องหักดิบนะคะ ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป เอาแบบที่เราทำแล้วสบายใจ อย่ากดดันตัวเองจนเครียดแล้วกลับไปช็อปปิ้งระบายความเครียด จะแย่กว่าเดิมค่ะ

ตัวอย่างของจัน
ค่าใช้จ่ายประจำ = 33%
ค่าใช้จ่ายจิปาถะ = ประมาณ 20-25% ของเงินเดือนค่ะ ซื้อความสุขบ้างอะไรบ้าง
เงินสำหรับออม = 43%
ของจันคือไม่มีบัตรเครดิต จ่ายเงินตัวเองอย่างเดียว ไม่มีภาระบ้าน รถ อาศัยอยู่กับที่บ้านค่ะ ที่ทำงานมีอาหารให้สามมื้อ ยูนิฟอร์มให้ใส่ ซักรีดให้ ประมาณนี้ แน่นอนว่ายิ่งอายุมากขึ้นก็จะยิ่งมีภาระมากขึ้น ใครที่ยังไม่มีภาระอะไรเลย ก็รีบตั้งหน้าตั้งตาเก็บเงินก่อนก็จะได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่าค่ะ

ไว้อาทิตย์หน้ามาต่อกันอีก 3 Step นะคะ ^___^

*********************
ทั้งหมดเป็นการเขียนและวาดโดยจันเอง
ใครจะก๊อปไปไว้ไหน เครดิต www.nuchun.com ด้วยนะคะ
ขอบคุณค่ะ