วันนี้จะมาคุยสิ่งที่ได้เรียนรู้เรื่องการใช้สีให้ได้อ่านกันค่ะ
ตอนแรกที่จะระบายสีภาพนี้ ก็มีความรู้สึกกังวลเรื่องสีอยู่ไม่น้อยเลย เพราะว่างานของจันน่ะ มักจะระบายสีแบบเยอะแยะเต็มไปหมดอยู่เสมอ พักหลัง มักจะโดนติมาว่า ไม่ค่อยคุมโทนไปในทางเดียวกัน ยิ่งคิด ก็ยิ่งรู้สึกกลัวที่จะลงสี เลยตัดสินใจถามพี่ที่ทำงานเก่าที่เรียนศิลปะมา
วันนี้เรามาเรียนรู้วิธีการลงสีตามหลักทฤษฎีกันดีกว่าค่ะ
“พี่บอมบ์ๆ ชุนรบกวนถามเรื่องทฤษฎีสีหน่อยสิคะ”
“ถามมา”
“ชุน (ที่ทำงานเก่าเรียกว่าหนูชุน ตามชื่อภาษาอังกฤษที่คนอ่านไม่ค่อยถูก ฮ่าๆ) ชุนงงว่าเวลาลงสีรูป ชุนจะเริ่มยังไงดี คือรูปชุน detail มันเยอะ แล้วตัดสินใจไม่ถูกว่าจะต้องเริ่มตรงไหนก่อน”
Table of Contents
STEP 1 : การกำหนดโทน
“ก่อนอื่นเลย ชุนต้องกำหนดโทนของภาพก่อน ง่ายๆ แค่ว่าภาพนี้จะเป็นโทนร้อนหรือโทนเย็น ถ้าภาพนี้จะเป็นโทนร้อน ก็คือมีสีร้อนอยู่ในรูปมากกว่าสีเย็น หรือถ้าภาพโทนเย็นก็ต้องมีสีโทนเย็นมากกว่าโทนร้อน โดยมากก็จะใช้อัตราส่วน 80 : 20 เมื่อตัดสินใจได้แล้วก็ลงพื้นที่ส่วนใหญ่เพื่อคุมโทน ไหนเอารูปมาดูสิ”
STEP 2 : ลงสี Background ตามด้วยวัตถุชิ้นใหญ่ ไกลมาใกล้
“อย่างในภาพนี้น่ะ เราควรจะลงสีพื้นที่เป็นส่วนที่เยอะที่สุดในรูปก่อน ถ้าเป็นสีมาร์คเกอร์ ชุนลงสีเฉดที่อ่อนที่สุดของสีนั้นๆ ไปก่อน อย่าเพิ่งคัดน้ำหนักนะ ค่อยๆ ตัดสินใจไปทีละส่วน จำง่ายๆ ว่าอะไรอยู่ไกลสุดให้ลงก่อน อย่างในรูปปลาทองกับหนูชุนอ่ะ ต้องลงสุดท้าย จุดเด่นระบายทีหลังจะสวยกว่า เพราะเราจะได้รู้ว่าทำยังไง มันถึงจะเด่นออกมาน่ะ”
“การไล่น้ำหนักน่ะ ที่ให้ทำทีหลังเพราะว่าเราควรจะเห็นภาพรวมของรูปก่อน แต่ว่าหลายคนก็ยั้งใจไว้ไม่อยู่ อยากจะให้เสร็จเป็นส่วนๆ ไป การทำแบบนั้นมันจะเห็นภาพเล็ก ไม่เห็นภาพรวม แล้วสิ่งที่อยากให้เด่นที่สุด อาจจะกลืนหายไปได้ พวก detail เราเอาสีร้อนไปแซมได้ ในอัตราส่วนที่ไม่มากเกินไปนะ ไม่จำเป็นต้องเป็นสีเดียว”
STEP 3 : ลองหาตัวอย่างรูป
“เวลาใช้ Reference สีเนี่ย เขาใช้กันยังไงคะ”
“จะระบายตามสีแบบเขาก็ได้ หรือจะใช้อ้างอิงเปอร์เซ็นต์การใช้สีก็ได้เหมือนกัน อย่างในรูปเขาคุมโทนเย็นก่อน ส่วนที่เน้นก็ใช้โทนร้อน อัตรา 70 : 30 พื้นหลังเป็นสีเข้มและโทนเย็นไปก่อนน่ะ”
STEP 4 : ตัดสินใจเรื่องน้ำหนัก ขาว เทา ดำ
“จุดที่มีพื้นที่พอๆ กับจุดเด่นของภาพ ควรจะลงแบบไหนดีคะ”
“ก็เหมือนเดิมแหละ ลงสีพื้นบริเวณนั้นก่อน แต่ไม่ให้กลืนกับ background นะ ยังเป็นโทนเย็นโทนหลักของเราอยู่แต่มันจะง่ายขึ้น ถ้าชุนตัดสินใจเรื่องน้ำหนักก่อน”
“น้ำหนักคือ…?”
“ลองมองภาพเป็นขาว-เทา-ดำ สิ่งที่จะทำให้ของที่อยู่บนพื้นดำเด่นก็คือสีขาวใช่ไหม นั่นล่ะ หมายความว่าจุดเด่นของภาพก็ควรเป็นสีขาวไงล่ะ พวกของประดับก็ไม่ควรจะเด่นเท่าปลา ตอนนี้ที่ชุนกลัวว่าปลาจะไม่เด่นก็เพราะว่าของประดับชุนมันสว่างไงล่ะ เราน่ะ คัดน้ำหนักเร็วไปหน่อย แต่อย่าไปคิดมาก ทำให้เสร็จแล้วเรามาทำให้เข้มขึ้นได้อีกนี่ เพิ่มน้ำหนักได้ทาทับยิ่งสวย มีน้ำหนัก มีมิติ”
STEP 5 : ถ้าขาวจะเบาไปก็เพิ่มน้ำหนักที่ขอบขาว
“ชุนตั้งใจอยากให้ปลาเป็นสีขาว แล้วมีลายสีส้ม แต่ไม่แน่ใจว่ามันจะดูเบาไปไหม พี่บอมบ์ว่ายังไงคะ”
“ถ้ากลัวเบาก็เพิ่มน้ำหนักที่ขอบเอาโดยไล่สีเทาที่ขอบๆ ให้ดูมีมิติแต่ยังเป็นโทนขาวอยู่”
จันลงสีส้มหนักกว่าที่คิดไว้เยอะเลย แย่จัง… แต่เอาจริงๆ จันก็ว่ามันสวยดีล่ะนะ ลงทับไปทับมาจนหมึกล้น ไม่ซึมหมึกเลยล่ะ
เป็นอันเสร็จจ้า…
Comment การลงสีตามทฤษฎี
ยากอ่ะค่ะ อยากร้องไห้ คือเพราะมันกลับความเคยชินแบบหน้ามือเป็นหลังมือก็เลยรู้สึกฝืนๆ มาก
ทำแล้วไม่สนุกแบบงานชิ้นอื่นๆ เอาไว้งานหน้าจะสู้ใหม่ จะลองหาเทคนิคการระบายสีไปเรื่อยๆ ค่ะ !
(แต่ถึงเป็นวิธีที่ไม่สนุก Professional เขาก็ทำกันนะ ลองเอาไปดู ไปฝึกกันได้จ้า)
ขอบคุณพี่บอมบ์ด้วย ลูกพี่ของชุนเอง—
พบกันใหม่ตอนหน้า !
*********************
ทั้งหมดเป็นการเขียนและวาดโดยจันเอง
ใครจะก๊อปไปไว้ไหน เครดิต www.nuchun.com ด้วยนะคะ
ขอบคุณค่ะ
– แอดหนูจัน – บล็อกเกอร์ตัวกลม อารมณ์ดีที่ชอบหาอะไรทำสนุกๆ ภายในบ้าน รักการเขียน การอ่าน การวาดรูป และการทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองเป็นชีวิตจิตใจ หลงใหลในมนต์เสน่ห์ของเครื่องเขียน อุปกรณ์งานฝีมือและอุปกรณ์ศิลปะ Craft it Myself • Draw my Life • Create my World