ช่วงที่จันทำบูโจแรกๆ จันลองไปเสิร์ชดูตามไอจีบ้าง ยูทูปบ้าง ซึ่งโอ้ย ทุกคน~ มีแต่อะไรหรูหราหมาเห่าเต็มไปหมด บางคนวาดรูป บางคนเอากระดาษสีนู้นสีนี้มาตัดแปะ ไหนจะ Caligraphy อีก นี่ถ้าต้องฝึกเขียน Caligraphy ชาตินี้คงไม่ได้ลงมือทำบูโจสักที แล้วจันที่เกิดมาสามสิบกว่าปี เคยลองตกแต่งสมุดสวยงามแบบนี้มาแล้วไม่รู้กี่สิบรอบ แล้วก็ถอดใจด้วยความรวดเร็วไม่เคยเกินอาทิตย์สักครั้ง
จันลองสังเกตตัวเอง พบว่ายิ่งการทำบูโจเป็นเรื่องยุ่งยากเท่าไหร่ ความสนใจในการจดก็จะน้อยลงเท่านั้น คนที่เป็นเหมือนกัน วันนี้จันมีเทคนิคมาฝากค่ะ เป็นวิธีที่จันใช้ ไม่ยุ่งยาก ช่วยให้สมุดของเราเรียบร้อยแบบไม่ต้องพยายามมาก ใช้ได้ทั้งชายและหญิงค่ะ
Table of Contents
เทคนิคที่ 1 : เลือกสีอุปกรณ์ที่จะใช้ให้คุมโทน
ปกติเวลาเราจะเริ่มต้นอะไรใหม่สักอย่าง เราชอบซื้ออุปกรณ์ใหม่กันใช่ไหมคะ แต่เดี๋ยวก่อน ! ก่อนที่จะพุ่งตัวไปซื้อปากกาสียกโหล ไฮไลท์ หรือ Masking Tape เราควรวางแผนให้รอบคอบค่ะ
เทคนิคแรกคือการเลือกสีที่เราใช้ให้เข้ากัน ซึ่งจันเรียกว่าการคุมโทนค่ะ ถึงจะไม่รู้ทฤษฎีสี เราคุมโทนได้โดยการใช้สีเฉพาะตาม Color Palette ค่ะ
เพื่อนๆ อาจตัดสินใจจากโทนสีที่ชอบ เช่น Earth Tone / Pastel ได้เลยค่ะ เอาชื่อโทนไปเสิร์ชใน Google Image + คำว่า Color palette เข้าไป ก็จะได้สีต่างๆ หลายๆ สีรวมๆ กันเป็นชุดๆ แนะนำแบบ 5-7 สีจะพอดีค่ะ สีหนึ่งชุดคือเขาจัดมาแล้วว่าเข้ากันได้ ใช้ด้วยกันแล้วสวยงาม ก็เอาสีพวกนี้ไปซื้ออุปกรณ์ค่ะ ทั้งสีปากกา สีไฮไลท์ สีมาสก์กิ้งเทป สติ๊กเกอร์ต่างๆ จะถูกคุมโทนไปในทิศทางเดียวกันโดยอัตโนมัติ
อย่างของจัน จันเลือกสีปากกาที่จะใช้เขียนตัวหนังสือปกติก่อน จันชอบเขียนหนังสือด้วยปากกาหมึกซึม หมึกสีน้ำตาล จากนั้นมาเลือกพาเล็ทที่เข้ากับสีน้ำตาล เราจะตัดสินใจได้ง่ายขึ้นค่ะ แต่สีไฮไลท์หรือสีปากกาไม่ต้องซื้ออย่างละให้ครบพาเล็ทนะคะ การใช้อุปกรณ์เดิมๆ ทำให้เราแต่ละสีมีความหมายในตัวของมันเองมากขึ้น เช่นเห็นไฮไลท์สีชมพู แปลว่าสำคัญ เป็นต้นค่ะ
- สีเข้มสุดในพาเล็ท : ใช้เป็นสีหมึกเขียนเนื้อหาใช้ 1 ด้าม 1 สี (ต้องพกติดตัวตลอดคู่กับบูโจเลยนะ)
- สีเข้มรองจากเข้มสุด : ใช้เป็นสีปากกาเขียนหัวข้อ 1-2 สี
- สีเข้มรองลงมา : ใช้เป็นสีมาส์กกิ้งเทป เอาไว้แบ่งพื้นที่หรือตกแต่ง
- สีอ่อน : ใช้เป็นสีไฮไลท์ประมาณ 1 สี เน้นข้อความสำคัญ
- สีอ่อนสุด : ซื้อเป็นไฮไลท์หัวตัด สำหรับขีดเส้นที่ต้องการแบ่งพื้นที่แล้วเขียนทับ เช่น พื้นที่ไว้เขียน Key ของทุกวัน
- ถ้าออกไปข้างนอก พกแค่ปากกาที่ใช้เขียนเนื้อหากับบูโจพอค่ะ อื่นๆ ทิ้งไว้ตอนรีวิวช่วงเย็นที่บ้านได้เลย
เทคนิคที่ 2 : จัดหน้าและพื้นที่ให้เหมาะสมและสบายตา
บูโจก็คือหนังสือประเภทนึง ดังนั้นเราสามารถใช้หลักการจัดเลย์เอาท์มาใช้ในการออกแบบบูโจของตัวเองได้ค่ะ หลักการง่ายๆ 3 อย่างคือ
- จัดตัวอักษรชิดด้านใดด้านหนึ่ง เสมอกันด้านใดด้านหนึ่ง ทำให้ดูง่าย เป็นระเบียบ สวยงามค่ะ
- ขยายส่วนสำคัญให้ใหญ่ เช่น หัวข้อ อาจใช้ปากกาเมจิกหัวใหญ่ในการเขียนหัวข้อแทนปากกาปกติ
- แยกพื้นที่ให้ชัด เรื่องเดียวกันอยู่ด้วยกัน คนละเรื่องกันก็เว้นและแยกให้ชัดเจน ถ้าอยากให้สมุดเราสะอาดตามากขึ้น ให้พยายามเว้นที่ให้มากขึ้น โดยเฉพาะขอบกระดาษเนี่ยสำคัญมากๆ ถ้าเขียนจนสุดจะไม่สวยเลยค่ะ ต้องเว้นเสมอนะ
อีกเรื่องที่สำคัญคือการออกแบบโดยใช้หน้าคู่ค่ะ เคยสงสัยไหมคะว่าทำไมการใช้โปรแกรมเวิร์ดจัดรายงานถึงได้ต่างจากนิตยสารที่เราเคยเห็น ทั้งๆ ที่ก็เป็นรูปกับข้อความเหมือนกัน คำตอบก็คือเพราะ Word ส่วนใหญ่จัดทีละหน้า แต่นิตยสารจัดทีละคู่ค่ะ (หน้าซ้าย-หน้าขวา) กับบูโจ เราใช้วิธีวางทีละคู่ได้เหมือนจัดนิตยสาร เวลาเราร่าง Template สำหรับ Bujo ให้เราคิดเป็นหน้าคู่ค่ะ
เทคนิคที่ 3 : ใช้ตัวปั๊มแทนการใช้แปะสติ๊กเกอร์
ตอนจันตัดสินใจจะเริ่มเขียนบูโจ จันซื้อสติ๊กเกอร์มาเต็มเลยค่ะ แต่ท้ายที่สุดแล้ว จันพบว่าการใช้สติ๊กเกอร์หลายชุดตกแต่งบูโจ สวยยากมากกกก! เพราะมันมีองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งสไตล์ลายเส้น สี ธีม ที่เวิร์คกว่าสำหรับจันคือการใช้ตัวปั๊มแบบที่เราเลือกหมึกเองได้ (แบบไม่มีหมึกในตัวนั่นแหละค่ะ) ลองหาตัวปั๊มตาม Shopee ดูนะคะ พวกชื่อเดือนครบทั้งปี หรือช่องปฏิทิน ใช้ได้เยอะเลยค่ะ และอย่าลืมซื้อหมึกที่สีเข้ากับโทนสีของเราด้วยนะคะ
เทคนิคที่ 4 : ใช้ Pattern เดิมตลอดทั้งเล่มหรืออย่างน้อยตลอดทั้งเดือน
เวลาจดบูโจพยายามใช้อุปกรณ์เซ็ตเดิมๆ และการจัดหน้าแบบเดิมไปตลอด บูโจก็จะสวยงาม เป็นระเบียบ ต่อเนื่องค่ะ นอกจากนี้ยังช่วยประหยัดเงินจากการซื้ออุปกรณ์บ่อยๆ และประหยัดหัวจากการต้องมาคิดทุกเดือนได้ด้วยค่ะ แต่ถ้าเราอยากจะเปลี่ยน ให้เปลี่ยนแบบมีเหตุผลเช่น เปลี่ยนเป็นเดือนๆ ไป ตามฤดูกาล หรือถ้าขยันจัด แนะนำเปลี่ยนเป็นหน้าคู่ไปค่ะ ให้ธีมของหน้าซ้าย หน้าขวาไม่หลุดจากกัน เวลากลับมาดูจะไม่สะดุด ทุกอย่างจะได้ดูมีที่มาที่ไป ไม่สะเปะสะปะค่ะ
เทคนิคที่ 5 : เพิ่มอะไรเข้าไปในเล่มก็ได้ด้วยยางมัดผม
วิธีการของ Traveller’s Note คือการเชื่อมสมุดโน้ตต่างๆ โดยใช้ยางรัดค่ะ (ดูในคลิปด้านล่างนะคะ) เราสามารถเอาวิธีเดียวกันมาดัดแปลงได้ ของจันใช้ยางรัดผมเส้นบางๆ มารัดสมุดโน้ตสองเล่มเข้าด้วยกัน และใช้เพื่อเพิ่มไอเท็มต่างๆ ลงไปค่ะ พอรัดยางมัดผมไว้กับสันสมุดแล้ว เราสามารถดัดแปลงได้หลากหลายเลยค่ะ เช่น การติดพวงกุญแจห้อยๆ การผูกริบบิ้นเพิ่มที่ขั้นหนังสือ และการประดิษฐ์ช่องใส่การ์ด ไปดูตัวอย่างเทคนิค 5.5 กันค่ะ
เทคนิคที่ 5.5 : มาทำที่ใส่การ์ดและอุปกรณ์กระจุกกระจิกกันเถอะ
จันใช้วิธียางรัดนี้ ทำช่องใส่ของเพิ่มค่ะ ใส่พวกแผงสติ๊กเกอร์ ที่คั่นหนังสือ ไม้บรรทัดเล็กๆ ได้ค่ะ วิธีการทำไม่ยากเลย ลองทำดูกันค่ะ
อุปกรณ์
- ซองจดหมายสวยๆ แบบฝาบน
- กรรไกร
- สกอตเทปหรือ Masking Tape
- ยางรัดผม
- ดินสอ ไม้บรรทัด
วิธีทำ
ถามว่าถ้าพับครึ่งซองแล้วสอดเข้าหนังยางไปเลยได้ไหม คำตอบก็คือได้ค่ะ เพียงแต่วาเวลาเราใส่ของเข้าไปแล้ว ต้องระวังว่าของจะไปอยู่ตรงกลางระหว่างรอยพับ อาจทำให้ปิดไม่ลงหรือยับได้ค่ะ จันจึงอยากแนะนำให้แบ่งเป็นสองช่องแบบนี้ค่ะ
นี่ล่ะค่ะ 5 เทคนิคที่ช่วยให้บูโจเราสวยงามแบบไม่ต้องลงทุนลงแรงมาก นอกจาก 5 เรื่องนี้ ที่สำคัญคือลายมือ ลองเขียนให้ช้าลง ใส่ใจมากขึ้น แล้วบูโจของเพื่อนๆ จะสวยงามขึ้นแน่นอนค่ะ 😘
เดี๋ยวอาทิตย์หน้าจะเอาสมุดเล่มอื่นๆ ที่จันใช้ทั้งหมดมาให้ดูกันค่ะ ว่าก่อนจะมาเป็นบูโจ จันผ่านสมรภูมิการใช้สมุดอะไรมาบ้าง 555
ขอบคุณที่ติดตามนะคะ
*********************
ทั้งหมดเป็นการเขียนและวาดโดยจันเอง ใครจะก๊อปไปไว้ไหน
เครดิต www.nuchun.com ด้วยนะคะ
ขอบคุณค่า
– แอดหนูจัน – บล็อกเกอร์ตัวกลม อารมณ์ดีที่ชอบหาอะไรทำสนุกๆ ภายในบ้าน รักการเขียน การอ่าน การวาดรูป และการทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองเป็นชีวิตจิตใจ หลงใหลในมนต์เสน่ห์ของเครื่องเขียน อุปกรณ์งานฝีมือและอุปกรณ์ศิลปะ Craft it Myself • Draw my Life • Create my World