Nuchun's Atelier

บล็อกรีวิวเครื่องเขียน l สีมาร์คเกอร์ l อุปกรณ์วาดรูป พร้อมวิธีทำงานประดิษฐ์สนุกๆ ที่ทำได้ที่บ้าน

สมุดอื่นๆ ก่อนจะมาเป็นบูโจ

วันนี้น่าจะเป็นตอนสุดท้ายของเรื่องบูโจแล้วนะคะ คิดอยู่เหมือนกันว่าจะมีอะไรที่ให้เราพูดถึงได้อีกไหมน้า แต่ก็ยังคิดไม่ออกนอกจากเรื่องนี้ เอาเป็นว่าถ้ามีอะไรเพิ่มเติมหรือใครเข้ามาแล้วอยากให้เพิ่มตรงไหน เดี๋ยวจันมาอัพอีกแล้วกันเนอะ วันนี้อยากจะมาเล่าให้ฟังกัน ว่าจริงๆ ก่อนจะเป็นบูโจ จันเคยใช้สมุดอย่างไรบ้าง เผื่อจะเป็นไอเดียสำหรับคนที่อยากจะใช้สมุดจดแบบอื่นๆ กัน หรือกำลังประสบปัญหาว่าใช้สมุดหมดไวมากๆ ค่ะ

รู้จักแบคกราวด์ของจันกันสักนิด

สวัสดีค่ะ ชื่อจันนะคะ จันเรียนจบด้านภาษา เรียนอีกอย่าง ทำงานอีกอย่าง มีความสนใจด้านอาร์ต กราฟิก วาดรูป และทำงานประดืษฐ์ต่างๆ จันทำงานกราฟิกดีไซน์เนอร์ มีบล็อกเล็กๆ แห่งนี้ สอนวิธีทำงานประดิษฐ์ รีวิวเครื่องเขียน และอื่นๆ และยังใช้ภาษาอยู่โดยการแปลหนังและละครญี่ปุ่นที่มีซับไตเติ้ลต้นฉบับภาษาอังกฤษเป็นงานอดิเรกค่ะ

คนหนึ่งคนกับสมุด 6 คอนเซปต์

พูดไปก็ตลกนะคะ แต่ด้วยความที่จันมีความสนใจหลากหลาย ทำให้จันเป็นคนที่เดี๋ยวสนใจตรงนู้นทีตรงนี้ที (เป็นเป็ดแหละ บอกตรงๆ 55) แต่ไม่ใช่คนสมาธิสั้นนะ คือเป็นคนทำงานต่อเนื่องได้นานๆ แต่จะหมกมุ่นอะไรสักอย่างอยู่ได้ประมาณ 2-3 เดือน แล้วหันไปสนใจตรงอื่นต่อ ชีวิตจันเป็นแบบนั้นมาตลอด และไม่แปลกเลยที่จันจะใช้สมุดบันทึก 6 เรื่องด้วยกันค่ะ

สมุดคอนเซปต์ที่ 1 : สมุดสเก็ตช์

สมุดทำเองปกผ้า ด้านในทำจากกระดาษใช้แล้วหน้าเดียวค่ะ ทุกต้นปีจะเปลี่ยนไส้ในออก แต่ใช้ปกเดิมค่ะ
ภาพร่างในสมุดกับภาพที่เสร็จแล้วค่ะ

สมุดสเก็ตช์เป็นสมุดสันเกลียว ด้านในทำเองจากกระดาษหนึ่งหน้าที่ใช้งานแล้วขนาด A3 มาพับครึ่ง ปกนอกใช้กระดาษแข็งหุ้มผ้าพิมพ์ลาย แล้วเย็บเล่มเข้าด้วยกันค่ะ ดูวิธีทำที่นี่เลยค่ะ เล่มนี้เพราะทำจากกระดาษรีไซเคิล ก็เลยโฟลว์ไอเดียการวาดได้ดีมากๆ เวลาใช้หมึกไม่ซึมถึงกันเพราะเป็นกระดาษคนละแผ่นค่ะ

พอเวลาหมดเล่มก็หมุนเกลียวออก เลือกหน้าที่ชอบแล้วนำไปใส่เล่มใหญ่ที่มีเกลียวใหญ่ขึ้นอีกเล่มนึงค่ะ แล้วเอากระดาษมาเติมในปกเดิม จริงๆ ก่อนหน้านี้วาดค่อนข้างสะเปะสะปะ เดี๋ยววาดหน้าซ้ายบ้าง หน้าขวาบ้าง ทำให้เวลาคัดเอาเก็บจะไม่ค่อยเป็นระเบียบ ปีนี้ตั้งใจว่าจะเขียนไอเดียหน้าซ้าย สเก็ตช์จริงหน้าขวาค่ะ บางทีเพิ่งตื่นมึนๆ ฝันเห็นอะไรมา จะเขียนเป็นคำพูดไอเดียไว้ค่ะ เช่น ตกปลาแซลมอนบนชิ้นปลาแซลมอนหั่น อยู่บนคลื่นที่ให้อารมณ์แบบคลื่นของโฮคุไซแต่เป็นชีสเยิ้มๆ แล้วออกมาเป็นรูปนี้ค่ะ 555

สมุดคอนเซปต์ที่ 2 : สมุดการเงิน

เป็นสมุดของ Moleskine ขนาด A5 ที่ตอนแรกว่าจะจดชีวิตปีละสองหน้าค่ะ แต่หมดความพยายามไปซะก่อน เลยเอามาจดเรื่องการเงินแทน เช่น รายรับรายจ่าย เงินเดือน เงินฝาก แพลนการใช้เงินต่างๆ ความรู้เรื่องการเงิน Short note จากหนังสือต่างๆ อยู่ในนี้หมดเลยค่ะ เป็นเล่มที่จดเรื่องเงินจนชิน ตอนนี้ใกล้จะหมดแล้วค่ะ

สมุดคอนเซปต์ที่ 3 : สมุดความรู้

สมุดการแปล มีผังตัวละครอยู่ค่ะ เพราะแปลซีรีส์ 10 ตอนจะต้องใช้ความต่อเนื่องมากๆ เลยจดแบบนี้ค่ะ
สมุดด้านการตลาด เวลาจันจดพวกเนื้อหาวิชาการจ๋าๆ จันจะใช้การแบ่งคอลัมน์เป็น 2-4 คอลัมน์ เพื่อให้กวาดสายตาได้เร็วขึ้นค่ะ

จันมีสองเรื่องที่สนใจตอนนี้ค่ะ คือเรื่องการแปลกับเรื่องการตลาดที่แยกเป็นคนละเล่ม จะมีจดวิธีต่างๆ เทคนิค หรือประสบการณ์ที่ได้จากการลองทำ อย่างสมุดการแปล จะมีเนื้อหาหลักการแปลจากหนังสือ มีผังตัวละครที่เราใช้ตอนแปลละครญี่ปุ่นแต่ละเรื่องค่ะ ซึ่งเวลาย้อนดูก็จะจำได้เลยว่า อ้อ เราเคยแปลเรื่องนี้น้า เคยผ่านปัญหาแบบไหนมา อะไรประมาณนี้ค่ะ ส่วนเรื่องการตลาดเป็นสมุด A4 เย็บเล่มเองเหมือนเดิม ปกกระดาษคราฟต์ค่ะ จันเพิ่งเริ่มเรียนใช้ไป 1/3 ยังไม่ได้มีอะไรมาก ส่วนมากเป็นโน้ตย่อจากคอร์สออนไลน์ต่างๆ ค่ะ

สมุดคอนเซปต์ที่ 4 : สมุดไอเดีย

เธอมีทำไมตั้ง 3 เล่มก่อนนนน
อันนี้จดไอเดียแบ่งเป็นครึ่งบนกับล่างค่ะ เนื้อหาด้านบนเป็นพวกคอนเทนต์ ด้านล่างเป็นวิธีประดิษฐ์ Tutorial ต่างๆ อีกเล่มนึงคล้ายๆ แบบนี้แต่เป็นแผ่นเดียวกัน A5 ไม่มีลูกเล่นค่ะ
เล่มนี้จะเอาไว้แปะ Catalogue ของสิ่งของต่างๆ ที่มีวางขาย เอาไว้เป็นไอเดียในการประดิษฐ์ค่ะ

เป็นเล่มที่จดไอเดียบล็อก คอนเทนต์ต่างๆ และวิธีการ D.I.Y หรือรีวิวอุปกรณ์ที่ใช้เป็นส่วนใหญ่ค่ะ สมุดที่ใช้เป็นสมุดเกลียวขนาด A5 ทำเองสองเล่มในปกเดียว เล่มแรกแบ่งครึ่งบนล่าง (ตัดฉับๆ เลย) เพราะรู้สึกว่าแต่ละเรื่องใช้ไม่ถึงหนึ่งหน้า เลยแบ่งเป็นครึ่งบนล่างค่ะ ส่วนอีกเล่มเป็นเล่มเต็มๆ เอาไว้วางแผนเรื่องบล็อกกับเพจ จันใช้ปกของ Fromthenon ลายสกอตหุ้มสมุดค่ะ เล่มที่ขอบสีเหลืองเป็นของ Hobonichi แท้ที่ฝากเพื่อนซื้อเพราะ Collab กับดีไซน์เนอร์ที่ชอบค่ะ เสียดายยังใช้ไม่เต็มเล่ม ย้ายมาบูโจเสียก่อน ตอนนี้ใช้บ้างแต่ส่วนมากเขียนในบูโจมากกว่าแล้วค่ะ ส่วนเล่มลายจุดสีแดง ทำเองตั้งแต่ปกไปจนถึงการเย็บเล่ม เอาไว้แปะรูปค่ะ

สมุดคอนเซปต์ที่ 5 : สมุด Journey

สมุดพองมากค่ะ ครั้งหน้าจะเปลี่ยนสันเกลียวให้ใหญ่กว่านี้ 55
แผนที่ที่เอาไว้จดเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างไปเที่ยว
มีช่องใส่ของด้วย พวกใบเสร็จหรือโปสการ์ดและอื่นๆ จะใส่ในนี้ค่ะ

เล่มนี้ใช้สำหรับเก็บสิ่งที่บันทึกจากการไปเที่ยวค่ะ เวลาที่ไปเที่ยว จันจะปริ้นท์แผนที่สวยๆ ขนาด A3 พับใส่กระเป๋าไปด้วย พอเราไปที่ไหน เป็นยังไง มีความประทับใจอะไรบ้าง จะเขียนไว้ล้อมรอบแผนที่และโยงแผนที่ด้วยค่ะ จันทำสมุดเกลียวที่ทำจากกระดาษการ์ดแข็งขนาด A4 ติดสองด้าน (ด้านล่างกับด้านขอบ) เพื่อให้เป็นซองเก็บของ จากนั้นติดแผนที่ ตั๋วต่างๆ โปสการ์ดลงไป พวกของอย่างอื่น ใบเสร็จนู้นนี่ใส่ในซองที่เราทำไว้ ก็เรียบร้อยค่ะ เล่มนี้จะพองเป็นพิเศษ แต่เวลาย้อนกลับมาดู ดูง่ายดีค่ะ

สมุดคอนเซปต์ที่ 6 : สมุด To-Do-List

เล่มสุดท้ายเป็นเล่มที่จดภารกิจประจำวันค่ะ สมัยที่ยังทำงานในบริษัท จันจะใช้กระดาษหน้าเดียว A5 ง่ายๆ เป็นแบบเย็บด้านบน แล้วใส่เข้าไปในปกผ้าอีกทีค่ะ ทุกครั้งที่หมดวันก็จะดึงหน้าออก ไม่ก็เปิดหน้าถัดไปทั้งๆ แบบนั้น สมัยก่อนไม่ได้คิดจะเก็บหรือรีวิวอะไรว่าตัวเองทำอะไรเลย กระทั่งมาพบบูโจที่เริ่มเข้าใจว่าจริงๆ มันเป็นเรื่องสำคัญนะ เพราะการทำงานในบริษัทเหมือนทำงานของเราให้เสร็จตามที่ได้มอบหมายก็พอ ก็เลยไม่ได้สนใจจะเก็บความทรงจำอะไรไว้ นอกจากว่าจะมีบทเรียนอะไรสำคัญๆ ถึงจะแยกจดไว้เล่มอื่น แต่ใครที่แค่อยากรู้ว่าตัวเองต้องทำอะไรบ้าง ก็แนะนำสมุดแบบนี้นะคะ ใช้ง่าย ประหยัดดีค่ะ

จันยังใช้สมุดทุกเล่มอยู่นะคะ ยกเว้นสมุดไอเดียกับสมุด To-Do-List ที่ตอนนี้กลายเป็นบูโจไปเรียบร้อยแล้วค่ะ แต่ในความคิดเห็นของจัน บูโจก็ลัดเกินไปในหลายเรื่อง จนบางครั้งรู้สึกว่า เอ้อ ชีวิตคนเราจะต้องย่ออะไรให้ถึงขนาดนั้นเชียวเหรอ จันเลยยังชอบใช้ภาษาแบบเดิมๆ ที่บูโจเรียกว่าการเขียนยาวอยู่ อีกอย่างที่ทำบูโจแล้วรู้สึก ก็คือจันคิดว่าเราไม่ควรสอนบูโจให้เด็กๆ ค่ะ แต่ควรให้สมุดบันทึกไม่มีเส้นเขาไปปลดปล่อยจินตนาการมากกว่ายึดติดกับวิธีแบบนี้

ข้อดี-ข้อเสียของการแยกสมุด

ข้อดี

จันแยกสมุดใช้มานาน มีทั้งเล่มที่ใช้จนหมดและไม่หมดค่ะ ส่วนตัวสิ่งที่ชอบคือเราเก็บมันไว้ได้ทั้งเล่มโดยไม่ต้องมานั่งหาว่าเล่มนี้เรื่องอะไร หาข้อมูลก็ไม่ยาก เล่มนี้เรื่องการแปล ก็เป็นเรื่องนั้นๆ ทั้งเล่ม เหมือนหนังสือเล่มนึงค่ะ

อีกอย่างที่จันว่าดีมากๆ คือจันใช้สมุดเกลียวทำเองซะเยอะค่ะ ในลิสต์ทั้งหมดนอกจากสมุดการเงินแล้ว จะเป็นสมุดสันเกลียวที่จันทำเองทั้งหมดเลย จริงๆ ที่บ้านจันมีเครื่องเย็บเล่มเกลียวแบบร้านซีรอกส์ เพราะว่าเคยขายสมุดทำมือตอนม.ปลายค่ะ สมุดเกลียวพลาสติกนี้ ถอดสันได้ตลอดและสามารถใช้เกลียวกับปกเดิมต่อได้ด้วย ทำให้เราสามารถเรียงหน้าใหม่ได้ หรือแยกชิ้นส่วนเอาหลายๆ เล่มมารวมกันได้ ซึ่งดีมากๆ เลยค่ะ

แม้ว่าบูโจจะรวมทุกอย่างไว้ในเล่มเดียวได้อย่างลงตัวมากๆ แต่ว่าสมมติถ้าเราจดเก่ง จดจนหมดเล่มเร็วเกินไปก็จะลำบากแล้วใช่ไหมคะ แต่พอแยกออกไปเหมือนเป็นสารานุกรมของแต่ละเรื่องของเราเอง จันคิดว่าการแยกก็เป็นสิ่งที่ดีเหมือนกันค่ะ แต่ถ้าใครไม่ได้จดเก่งขนาดนั้น ใช้สมุดไม่หมดอยู่บ่อยๆ การทำบูโจก็อาจเพียงพอแล้วค่ะ

ข้อเสีย

  • ใช้ที่เก็บเยอะค่ะ ซึ่งเคยอ่านหนังสือแปลญี่ปุ่นเรื่อง “อย่าปล่อยให้สิ่งของยึดครองโต๊ะทำงานคุณ” เขียนโดยทซึจิฮะชิ ทะดะชิ สำนักพิมพ์อมรินทร์ ฮาว-ทู ก็เขียนเรื่องการสแกนเอกสารเข้าไปในคอมพิวเตอร์ ซึ่งน่าสนใจดีค่ะ แต่จันก็ยังชอบการอ่านจากสมุดอยู่ดีนะ จันต้องกันไว้ชั้นนึงสำหรับเก็บสมุดจดเลยค่ะ
  • เสี่ยงจะเลิกไปก่อนกลางคัน หรือใช้สมุดไม่หมดเล่ม โดยเฉพาะเรื่องที่ไฟแรงในช่วงแรก แต่มาพบว่าไม่สนใจจริงๆ ในช่วงหลัง อันนี้เป็นบ่อยมากๆ อะไรที่ยังไม่แน่ใจว่าจะผ่านมาแล้วก็ผ่านไป อาจจะต้องจดรวมๆ เป็นบูโจไปก่อนค่ะ
  • พกไปไหนไม่สะดวก แน่นอนว่าการพกสมุดหลายเล่มไปกับตัวไม่สะดวกอยู่แล้วค่ะ อาจจะต้องเก็บทุกอย่างไว้ที่บ้านหรือที่ทำงาน แล้วพกติดตัวด้วยสมุดแค่เล่มเดียว ก่อนจะมาแยกเล่มเมื่อจบวันลงค่ะ

คำแนะนำสำหรับนักจดบันทึก

ใครที่รู้สึกว่าตัวเองจดเยอะมาก เปลี่ยนสมุดแทบไม่ทัน จันแนะนำอย่างนี้ค่ะ

Cr. Aliexpress
  1. ใช้สมุดที่สามารถถอดเปลี่ยนหน้าได้ เดี๋ยวนี้จะมีพวกสันเกลียวถอดได้ และเครื่องเจาะราคา 300-400 บาท ให้ซื้อแบบนั้นมาใช้แทนค่ะ เพื่อให้สามารถถอดหน้า แยกหน้า ย้ายหน้าได้ หรือถ้าไม่รู้จะจดอะไรแล้ว กระดาษยังเหลือ ก็เอาไว้ใช้เล่มต่อๆ ไปได้ ซื้อเกลียวมาเยอะๆ เลย แล้วแยกเป็นหลายๆ เล่ม หรือจะซื้อแบบห่วงใหญ่หน่อย 16 มม. อะไรแบบนี้ จะได้เย็บเล่มได้หนาขึ้นค่ะ ปกหรือกระดาษเราเลือกเองได้เลยว่าอยากจะใช้แบบไหน
  2. เราสามารถใช้การทำสารบัญตามหลักของบูโจมาใช้สมุดจดแต่ละเรื่องได้ค่ะ
  3. เปลี่ยนมาใช้สมุดที่ใหญ่ขึ้น จากสมุดเล็กๆ เล่ม A6 หรือ A5 ให้เปลี่ยนมาใช้ A4 แทน เล่มที่พกติดตัวประจำวันอาจใช้เล่มเล็กได้ แต่เล่มที่จดแล้วจะเก็บไว้ ให้ใช้เล่มที่ใหญ่ขึ้นแทนค่ะ เพื่อให้มีพิ้นที่ต่อเล่มเยอะขึ้น
  4. Tablet เป็นตัวเลือกที่ดีค่ะ ช่วงนี้เรียนป.โทออนไลน์ตลอด ชีทอะไรต่างๆ เขามีแต่เป็นไฟล์ให้ จันเลยใช้ Tablet ที่มีปากกาเขียนเอา (จันใช้ Samsung Tab S7 กับแอพ Noteshelf) จริงๆ จันก็ชอบความพกง่ายของมันนะคะ เครื่องเดียวพกได้เป็นร้อยเป็นพันเล่ม ถ้าจันไม่ติดว่าชอบสัมผัสกระดาษอยู่และโดนล่อใจด้วยปกสมุดด้วย 555 ไม่งั้นจันคงใช้ Tablet ทั้งหมดไปแล้ว
  5. สุดท้าย ลองใช้หลักการกรองดูค่ะ ว่าสิ่งที่เราจะจดนั้นจำเป็นกับ Goal ของเราจริงๆ ไหม อย่างที่ Ryder บอก คือไม่ใช่ทุกอย่างที่จำเป็นสำหรับเราค่ะ ถ้าเราพบเจอความยุ่งยากมากๆ เข้า เราควรลดความลำบากนั้นลงด้วยการตัดอะไรออกไปจากชีวิตเราเสียบ้างนั่นเอง

ถ้าถามว่าคนเราจะมีสมุดได้สักกี่เล่มกัน ก็ขอให้เอาจันเป็นบรรทัดฐานนะคะ 555 ว่าต้องมีเกิน 6 เล่มแน่นอน ลองเอาการแยกเล่มของจันไปลองใช้กันนะคะ เผื่อจะได้สมุดสนุกๆ อีกหลายๆ เล่มเลยค่ะ

ขอบคุณที่ติดตามค่ะ

*********************
ทั้งหมดเป็นการเขียนและวาดโดยจันเอง ใครจะก๊อปไปไว้ไหน
เครดิต www.nuchun.com ด้วยนะคะ
ขอบคุณค่า