[Portfolio] ตอนที่ 5 : Portfolio แบบอื่นๆ

อย่างที่บอกไปตั้งแต่ตอนแรกๆ ว่า Portfolio นั้นจะเป็นสื่ออะไรก็ได้ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เป็นแฟ้มเล่มๆ เพียงอย่างเดียว ดังนั้นวันนี้จันจะพูดถึง Portfolio อื่นๆ ที่เราทำได้ค่ะ

Video Reel หรือ Portfolio แบบวิดีโอนั่นเองค่ะ

ไม่ว่าจะร้องเพลง เต้นรำ เล่นดนตรี ถ่ายภาพยนตร์ เล่นกีฬา หรือทำ animation, stop motion, 3D ต่างๆ มีกิจกรรมอยู่มากมายที่ไม่อาจสื่อความหมายด้วยภาพนิ่งได้ Portfolio แบบวิดีโอจึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมหากต้องการนำเสนอความสามารถเหล่านี้ค่ะ

วิดีโอนั้นควรมีความยาวไม่เกิน 3 นาที สั้นๆ ควรเป็นวิดีโอที่ตัดต่ออย่างดีแล้ว ไม่ใช่แค่เป็นคลิปธรรมดา สำหรับงานที่ไม่ได้เน้นเสียง เน้นภาพมากกว่า เรื่องเสียงอาจไม่ต้องให้ความสนใจมากนักก็ได้ค่ะ เพราะถ้าเน้นผลงานภาพ ว่ากันว่า 9/10 ของกรรมการปิดเสียงค่ะ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องหา soundtrack ที่เหมาะสมที่สุดก็ได้ และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ เราควรเขียนกำกับบนหน้าจอไว้ด้วย เช่น วิธีการจัดไฟ composition รายละเอียดทางเทคนิคต่างๆ และควรมีช่วงพักบ้างเพื่อให้ผู้ดูรู้สึกผ่อนคลาย นอกจากนี้ DVD หรือวิดีโอเทป จะต้องทำ Package ให้ดี และคิดถึงวิธีส่งไว้บ้าง ถ้ากล่องเป็นกระดาษอ่อน ส่งใส่ซองก็บุบ ซีดีถ้าไม่ห่อกันกระแทกก็แตกได้ อย่างนี้เป็นต้น คิดให้รอบคอบค่ะ

Portfolio Online

Portfolio online นั้นเป็นวิธีสร้างโอกาสได้นับไม่ถ้วนค่ะ เพราะ internet นั้น worldwide คนทั่วโลกมีโอกาสได้ดูผลงานของเราตลอดเวลา อัพเดทได้ทันใจ สม่ำเสมอ ส่งทางอีเมลได้สะดวก ผู้ดูเลือกดูผลงานตามที่ต้องการได้ และช่วยแสดงทักษะด้านคอมพิวเตอร์ได้ดีมากๆ ด้วยค่ะ

Untitled-1

Credit : ninamika.com

อย่างแรกเมื่อตัดสินใจจะทำเว็บ Portfolio แล้ว เราควรเริ่มจากการเลือกโฮสติ้งที่เราจะฝากข้อมูลในเว็บก่อนค่ะ โฮสติ้งหรือที่ฝากข้อมูลเว็บมีทั้งแบบฟรีและเสียเงิน โปรแกรมเว็บก็มีทั้งแบบสำเร็จรูปและต้องทำขึ้นมาเอง รูปแบบก็มีหลากหลาย อย่างเว็บของจัน (แต่เว็บจันไม่ใช่เว็บ portfolio นะคะ) เรียกว่า blog ซึ่งจุดเด่นคือเรื่องล่าสุดจะขึ้นบนหน้าแรกเสมอไม่ว่าอยู่หมวดหมู่ใด ถ้าอัพเดทบ่อยๆ อยากให้คนติดตามมากๆ แนะนำค่ะ !

แต่ถ้าเป็นเว็บไซต์ เราเลือกได้ว่าหน้าแรกจะให้โชว์อะไร หรือหน้าอาจคงเดิมตลอดก็ได้

นอกจากนี้ยังมี Social Networking ต่างๆ และเว็บสำหรับ portfolio โดยเฉพาะ

  • tumblr.com ที่เป็นบล๊อคฟรี แต่เน้นการโพสต์รูปและเป็น social ด้วยในตัว
  • 15 Free Online Portfolio Hosting Sites เว็บสำหรับเพื่อใช้เป็น portfolio โดยเฉพาะ มีหลากหลายมากเลยค่ะ

เวลาที่เลือกแบบเว็บไซต์ ให้เลือกแบบเรียบง่ายเพื่อทำให้ผลงานดูโดดเด่นและใช้ง่าย ถ้าเราออกแบบเว็บให้ใช้ง่าย เป็นการแสดงความใส่ใจต่อผู้ใช้ค่ะ หมายความว่างานของเราก็จะใช้ง่าย เข้าถึงคนอื่นได้ง่ายเช่นเดียวกัน และไม่ว่าผู้ว่าจ้างระดับไหนก็ดูเว็บไซต์ของเราได้ เมื่อตัดสินใจเลือกรูปแบบของเว็บแล้ว ลองเปิดดูกับ Browser มาตรฐาน ทั้ง Mozilla Firefox, Google Chrome และ Safari ดูค่ะ ถ้าแสดงผลตามที่เราต้องการถือว่าโอเค แต่ถ้าไปลองกับ Internet Explorer แล้วเพี๊ยนไม่ต้องตกใจค่ะ เป็นเรื่องปกติ ถ้าเราแก้ไขไม่ได้จริงๆ ก็ให้เน้น Browser มาตรฐานเป็นหลักค่ะ

Untitled-2

Credit : junaida.com

เมื่อได้รูปแบบเว็บหรือสมัครหน้าเว็บที่เราจะฝาก portfolio ไว้เรียบร้อยแล้วก็ให้อัพข้อมูลต่างๆ ขึ้นเว็บค่ะ เราเตรียมงานให้หลากหลาย แยกเป็นประเภทๆ หรือเป็น collection ให้เรียบร้อย แต่เอาเฉพาะผลงานที่แสดงความสามารถซึ่งเราต้องการทำงานเท่านั้นนะคะ ถ้ามีอะไรบางอย่างที่เราทำได้ แต่ไม่ชอบ ไม่อยากทำ หรือไม่มั่นใจว่าจะทำเป็นอาชีพได้ ก็ไม่ต้องเอาลงเว็บค่ะ ผลงานเก่าๆ ก็ใส่เข้าไป โดยเฉพาะผลงานสร้างชื่อให้เรา เพราะจะเป็นสิ่งที่สร้างความเชื่อถือให้ลูกค้าค่ะ

จากนั้นที่ลืมไม่ได้คือ หน้า About ซึ่งบอกประวัติของเรา เราเป็นใคร ทำงานอะไร มีประสบการณ์อะไรบ้าง (อาจใส่รีวิวจากลูกค้าเก่าลงไปค่ะ) อาจมีลิสต์พร้อมลิงค์เพื่อให้ดูงานเก่าๆ ของเราได้ บอกมุมมองด้านที่เกี่ยวกับงานพร้อมเหตุผล และงานอดิเรกที่แสดงตัวตนที่เกี่ยวข้องกับผลงาน เราจะรวม File Resume ให้กดดาวน์โหลดด้วยก็ได้ค่ะ แต่อย่าใส่ข้อมูลติดต่อส่วนตัว เช่น เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ อีเมลส่วนตัว เป็นไฟล์ *.pdf หรือ Microsoft word ก็สะดวกดีนะ

และมีหน้า contact ปุ่ม Hire me! ต้องหาง่ายที่สุดในเว็บ ถ้าชอบ สนใจอยากร่วมงานด้วยต้องติดต่อได้ทันทีค่ะ (ส่วนมากหน้า contact จะให้กรอกข้อความแล้วส่งให้เรา โดยที่เราไม่ต้องให้อีเมลหรือเบอร์โทรค่ะ เมื่อเราสนใจจะติดต่อกลับไปเอง ไม่ใช่การให้ ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทร บนเว็บนะคะ)

เมื่อเว็บไซต์พร้อมแล้ว ต้องมาลองคิดว่า เราจะทำยังไงให้คนเข้า จำไว้นะคะ คนเข้ามาก = โอกาสมีงาน/ได้งานมาก  เพื่อเรียกคนเข้าให้หาทางทำ SEO (search engine optimization ง่ายๆ คือทำยังไงให้ Search engine ค้นเว็บเราเจอก่อน อย่างนั้นล่ะค่ะ) และอาจทำเป็นเว็บให้ความรู้เกี่ยวกับสายงานที่เกี่ยวข้อง แบ่งปันความรู้เป็นประจำ เล่า Behind the scene ของผลงานที่เราทำตั้งแต่ต้น แจกเครื่องมือที่มีประโยชน์ และให้คำปรึกษา จะช่วยให้มีคนเข้าเยอะขึ้นค่ะ นอกจากนี้ยังช่วยสร้างความน่าเชื่อถือได้มากขึ้นอีกด้วยนะ

Don’t do these ! ข้อไม่ควรทำ !

  1. รวมงานเก่าๆ ที่ฝีมือยังไม่ถึงขึ้นปัจจุบันเข้าไปใน portfolio ด้วย เพราะจะทำให้คนดูสับสน ว่าสรุปทำงานได้ดีหรือไม่ดีกันแน่
  2. อย่าแบ่ง 1 หน้า 1 ผลงานเหมือนใน portfolio แบบแฟ้ม ยิ่งต้องคลิกมากเท่าไหร่ ผู้ดูเว็บจะรู้สึกลำบากมากขึ้นเท่านั้น
  3. ไม่ควรใช้ web flash เพราะมีปัญหากับ plugin มาก
  4. เวลาส่งไปสมัคร ควรส่งลิงค์ตรง ถ้าเว็บเราไม่ได้เป็น portfolio ทั้งเว็บ ให้ส่งลิงค์ตรงไปหน้า portfolio เลย อย่าให้ผู้พิจารณาต้องมานั่งเดาว่าหน้าไหน ถ้าเข้าไปผิด เว็บอาจไม่เกิดประโยชน์เลยก็ได้
  5. โชว์เฉพาะผลงานที่แสดงความสามารถในด้านที่เราอยากทำเท่านั้น ถ้างานไหนที่เราทำได้แต่ไม่ชอบ และไม่อยากทำเป็นอาชีพก็ไม่ต้องใส่มาค่ะ

*********************

ทั้งหมดเป็นการเขียนและวาดโดยจันเองใครจะก๊อปไปไว้ไหน
เครดิต www.nuchun.com ด้วยนะคะ
ขอบคุณค่า