Nuchun's Atelier

บล็อกรีวิวเครื่องเขียน l สีมาร์คเกอร์ l อุปกรณ์วาดรูป พร้อมวิธีทำงานประดิษฐ์สนุกๆ ที่ทำได้ที่บ้าน

เริ่มต้นปีใหม่กับการทำบูโจ

จันกำลังศึกษาเรื่องบูโจหรือ Bullet Journal อย่างจริงจังค่ะ เพราะช่วงนี้จันลาออกจากงานมาเรียนต่อปริญญาโท ดังนั้นที่เฉื่อยแฉะเพราะไม่ต้องทำอะไรนอกจากเรียน 3 วิชา / เทอม เลยรู้สึกว่าควรจะ Productive ให้มากกว่านี้นะ และอยากจะทำความรู้จักตัวเองอีกครั้งนึง จันเลยลุกขึ้นมาทำบูโจ และนี่จะเป็นวิถีบันทึกบูโจในฉบับของจันค่ะ

Bujo คืออะไร

ลองเปิดฟังในคลิปดูนะคะ น่าจะเข้าใจมากกว่า สำหรับจัน บูโจคือการจดบันทึกแบบสั้น รวมทุกเรื่องไว้ในสมุดเล่มเดียวผ่านการแยกประเภทเรื่องราวด้วย Key หรือสัญลักษณ์ เจ้าของบูโจสามารถกำหนดทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตนเอง สุดท้ายแล้ว การจดบูโจจะช่วยดักกรองสิ่งไม่จำเป็นออกจากชีวิตเราออกไป เพื่อให้ความสำคัญและโฟกัสกับสิ่งที่สำคัญจริงๆ ประมาณนี้ค่ะ

จันจะขอแยกเนื้อหาออกเป็นสามตอน เรื่องอุปกรณ์ การแยกเล่มบูโจ และ Tools (วิธีจด) ที่จันนำมาใช้ค่ะ

วันนี้จะมาพูดเรื่องอุปกรณ์ที่จำเป็นกันก่อนเลย !

หลังจากซื้อมาเยอะ อุปกรณ์ดองก็มาก จันคัดสรรสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนที่อยากทำบูโจไม่ว่าจะแบบ Minimal หรือแบบสวยๆ มาให้แล้วค่ะ

สมุดบันทึก Bujo

สมุดเห็ด~

หลังจากที่ลองใช้มาทั้ง A5 (ครึ่ง A4) และ A6 (1/4 ของ A4) ส่วนตัวจันชอบ A6 ค่ะ เพราะพกง่าย เหมาะสมกับกิจวัตรที่ไม่ได้แน่นเอี๊ยด ถ้าเยอะก็ใช้สองหน้าได้เต็มดี ไม่เยอะก็หน้าเดียว 

จันเลือกสมุดราคาถูกที่เป็นกระดาษ 100 แกรมและเย็บกี่ค่ะ (ร้อยด้าย) จะได้เปิดเขียนสะดวกทั้งหน้าซ้ายหน้าขวา ที่จันไม่ใช้สมุดแพงๆ เพราะว่ารู้สึกว่าไม่คุ้มเท่าไหร่ แล้วมันเกร็งด้วย (เคยไหมคะ แบบสมุดแพงแล้วไม่กล้าเขียนอะไรเละเทะ สุดท้ายไม่เขียนอีกเลย จันเป็นค่ะ) 

กระดาษสมุดใช้ตามแบบถนัดได้เลยค่ะ จะ dotted grid เส้นบรรทัด หรือแบบกระดาษขาวเลย จันใช้แบบขาวเลย ไม่มี grid หรือ dotted เพราะรำคาญเวลาต้องเขียนตามช่องกริดหรือจุดที่มีให้ แล้วไซส์ไม่เหมาะกับขนาดลายมือจันค่ะ มันจะคร่อมๆ แปลกๆ 

เรื่องแกรมกระดาษ บางคนบอกบางแล้วดี มีกระดาษแพงๆ หลายตัวที่บางแต่ไม่ซึม มักจะเป็นสมุดราคาแพงค่ะ เป็นกระดาษที่ดีมากๆ แต่ส่วนตัวจันไม่ชอบ เพราะเวลากดแรงๆ กระดาษจะเป็นคลื่นๆ เป็นรอยกดปากกา กระดาษเหมือนสาหร่ายอบกรอบอ่ะ ไม่ชอบเลย ใครกดปากกาแรงๆ ไม่แนะนำเลยค่ะ

เล่มที่จันใช้เป็น Daily Log และจดอะไรที่เกี่ยวข้องในปีนั้นๆ ค่ะ 59 บาทนี้ จันชอบมากค่ะ กระดาษผิวเนียน สีนวลๆ เขียนด้วยหมึกปากกาหมึกซึมแล้วไม่แตก ซึมบ้างแต่อยู่ในระดับที่รับได้ และกระดาษเนื้อหนา ทำให้แม้จะกดปากกาแรงหน่อย กระดาษก็ไม่ขรุขระค่ะ นอกจากนี้ จันซื้อสมุดอีกเล่มนึงค่ะ เป็นเล่มบางๆ ไซส์เดียวกัน เพื่อทำเป็นเล่มที่เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังในตอนที่ 2 เนอะ ว่าทำไมต้องมี 2 เล่ม

แต่สมุดมันเพลนๆ ไม่ค่อยสวย จันซื้อปกเห็ดจาก Aliexpress เป็นปก Journal แบบผ้ามาสวมทับตัวเล่มค่ะ (ลองหาใน Shopee/Lazada ใช้ Keyword : Journal Cover หรือเสิร์ช TRAVELER’S notebook (ร้าน Lamune) / Hobonichi / Kinbor / Fromthenon ก็ได้ค่ะ แต่ Aliexpress จะมีให้เลือกเยอะกว่า) ราคาอาจจะแพงหน่อย หลักร้อยถึงหลักพัน บางเจ้ามีค่าส่งเป็นร้อย รอของนานมาก~ แต่คุ้มค่ะ อย่าลืมซื้อปกพลาสติกใสมาสวมทับด้วยนะคะ จะได้ไม่เก่าเร็ว พอปกข้างนอกดูดีแล้ว จะใช้สมุดอะไรก็ได้ จันว่าเวิร์คมากๆ เลยนะ เปลี่ยนสมุดเล่มข้างในได้ตลอด ทีนี้จะเอาสมุดฟรีหรืออะไรมาใส่ก็ได้แล้ว หรือจะใส่ไปมากกว่า 1 เล่มก็ได้ค่ะ 

Cover ของ Hobonichi จะเหมือนปกใส่หนังสือพลาสติกที่เราเคยเห็น แต่เขาทำออกมาเป็นผ้าหรือพลาสติกพิมพ์ลาย ทำให้ดูสวยงามพร้อมช่องเก็บของคล้ายๆ ฟังก์ชั่นกระเป๋าสตางค์ค่า วิธีสังเกตคือจะมีที่เสียบปากกาต่อกันสองอัน
Cover แบบ Traveller’s Notebook ฝีมือคนไทยสู่เวทีโลกค่า~ ไซส์ Traveller’s จะไม่ใช่ไซส์มาตรฐาน และส่วนมากจะเป็นปกหนัง

ตัว Cover หลักๆ จะมี 3 แบบคือ

  • ต้นแบบ Hobonichi คือเป็นปกที่เอาไว้สวมทับตัวเล่ม สังเกตว่าจะมีที่เสียบปากกาต่อกันสองอัน
  • ต้นแบบ TRAVELER’S notebook ของ Midori ที่ใช้วิธีการขึงสมุดไว้กับยางยืดตรงสัน
  • แบบเจาะรู 6 รู หรือ Organizer ซึ่งถ้าจะทำไส้เองก็ต้องซื้อเครื่องเจาะ
  • ต้นแบบ Kinbor จะเป็นแป๊ะๆ แม่เหล็ก
  • ส่วนตัวจันใช้แบบ Hobonichi กับ Kinbor ค่ะ เพราะใช้ง่าย สมุดขนาดมาตรฐานดี ปล. เตือนนิดนึงว่าให้เช็ครูปให้ดีก่อนซื้อนะคะ บางอันจะเป็นสมุดปกผ้าถอดปกไม่ได้ และบางอันเป็นแบบเจาะรูนะ ดูให้ชัวร์ว่าเป็นปกแบบที่เราต้องการจริงๆ เนาะ
  • ถ้าปกที่เราต้องการจะใส่มีส่วนที่นูนกว่าปกติ เช่น อันรูปเห็ด ส่วนสีแดงเขาเป็นผ้าขนหนาเลยปกออกมา ปกพลาสติกของ Kinbor ปกติจะใส่แล้วยาวไม่พอ ให้กรีดด้านหลังเพื่อเป็นช่องให้ปกยื่นออกมาได้ค่ะ ถ้าเจอกรณีแบบนี้ในปกแบบอื่นๆ ใช้วิธีเดียวกันนี้ได้ค่า

มาเพิ่มให้เรื่องของปกพลาสติกนะคะ ปกพลาสติกแม้จะเป็นขนาด A5, A6 เหมือนกัน แต่แต่ละยี่ห้อ ไซส์จะไม่เหมือนกันเลยค่ะ ดังนั้นแนะนำให้ซื้อของยี่ห้อนั้นๆ มา เช่น ปกหุ้ม Kinbor ก็ใช้ปกพลาสติกเดียวกัน ปก Fromthenon ใช้หุ้มปกยี่ห้อตัวเองได้และ Hobonichi ได้ค่ะ นอกจากนี้ยังมีแบบสกรีนลายบนปกพลาสติกด้วย ลองดูนะคะ

  • ปก A5, A6 fromthenon สำหรับปก fromthenon และ Hobonichi
  • ปก A5, A6 Kinbor สำหรับปก Kinbor

ปากกาพกติดตัว

ปากกาหมึกซึมแบบกด ชอบมากๆ เลยค่ะ

จันใช้ปากกาหมึกซึม Platinum : Curidas แท่งใสที่ใช้อยู่แล้ว หัว M ค่ะ จันติดใช้ปากกาหมึกซึมมานานแล้ว เพราะรู้สึกว่าคุมเส้นง่าย ลายมือสวยขึ้นเวลาใช้ สมัยก่อนใช้ Lamy ซึ่งส่วนตัวก็ยังคิดว่าดีมากๆ อยู่ แค่เส้นจะใหญ่หน่อย ลองหาหมึกซึมมาใช้กันค่ะ จะได้ไม่ต้องเปลี่ยนปากกาบ่อยๆ ลดขยะไปได้ แถมลายมือสวยขึ้นด้วยนะ ! ส่วนหมึกเป็นหมึก Lamy สีน้ำตาลค่ะ หมึกลามี่ดีสำหรับปากกาหมึกซึมค่ะ ไม่ค่อยตันเท่าไหร่ ชอบมากๆ แต่ถ้าใครไม่ถนัดปากกาหมึกซึม ลองใช้ของ Sarasa ที่เป็นหมึกเจลก็ได้ค่ะ มีให้เลือกเยอะดี

ปากกาไฮไลท์

แนะนำให้เลือกสีที่ไปกันได้กับหมึกปากกา ส่วนตัวจันซื้อแบบเป็นเซ็ตถูกๆ ค่ะ (6 แท่ง 38 บาท) หรือใครอยากใช้นานๆ จันแนะนำของ Mildliner (Zebra) ค่ะ เดี๋ยวนี้มีให้เลือกเยอะเลยค่ะ ไม่ใช่สีสะท้อนแสงแล้วก็มี เลือกมา 2-3 แท่งนะคะ 

พวก Hilight ที่เราเห็นขายกันทั่วไป เพื่อนๆ อาจจะสงสัยว่าแล้วใช้ปากกาพวกโคปิคแทนกันได้ไหม จริงๆ หมึกของสองตัวนี้ต่างกันนะคะ พวกไฮไลท์มีเป็นหมึกน้ำ แต่โคปิคเป็นหมึกแอลกอฮอล์ ถึงจะใช้เขียนเป็นสีได้ไม่ต่างกัน แต่โคปิคจะซึมมากกว่า จันใช้กระดาษ 100 ปอนด์ โคปิคก็ยังซึมค่ะ ดังนั้นจันไม่แนะนำให้ใช้กับสมุด แต่ถ้าอยากเอาไปเขียนที่มีหน้าเดียว ไม่แคร์เรื่องการซึม โอเคนะคะ

อุปกรณ์อื่นๆ

ตัวปั๊มที่หน้ามืดสั่งมาค่ะ 😆 อันที่เป็นชื่อ 12 เดือน (มุมซ้ายบน) กับช่องกรอกปฏิทิน (มุมขวาล่าง) มีประโยชน์มากค่ะ แนะนำๆ

ส่วนตัวจันแนะนำตัวปั๊มค่ะ มีตัวปั๊มสองอันที่มีประโยชน์มากๆ ก็คือตัวปั๊มปฏิทินเดือน กับชื่อเดือนทั้ง 12 เดือนค่ะ (ไม่แคร์ลายมือเราอีกต่อไป ปั๊มไปเลย!) ได้ใช้จริงๆ เยอะอยู่ โดยเฉพาะช่องปฏิทินนี่คือเวิร์คมากๆ ช่วยเราเขียนปฏิทิน และ Habit Tracker ด้วย ซื้อได้ใน Aliexpress เหมือนกันค่ะ

อุปกรณ์ที่จันว่าเวิร์คสุดๆ มีเท่านี้เหลือเฟือแล้วค่ะ
Decoruno ของบริษัท Plus Stationery

อีกอันนึงที่อยากจะพูดถึงแม้จะเลิกผลิตไปแล้วคือ ลูกกลิ้งตกแต่งหรือ Decoruno ของบริษัท Plus Stationery ค่ะ ตัวนี้เป็นตัวปั๊มลูกกลิ้งลายน่ารักๆ แบบ Seamless (ต่อลายได้โดยไม่มีขอบ) นำมาใช้ตกแต่งสมุด เช่นเป็นลายตามขอบสมุด

ทำไม Plus ไม่ทำต่อแล้วล่ะ มันมีประโยชน์มากๆ เลยนะ

น่าเสียดายที่ตอนนี้ Plus เลิกผลิตสินค้าตัวนี้ไปแล้ว ไปเน้นการผลิตเทปตกแต่งแทน และที่ไทยซึ่งเคยเอาเข้ามาช่วงปี 2013-2015 ตอนนี้ก็ไม่มีขายแล้วค่ะ (แต่ถามแอดมินเพจ Plus ไปเขาบอกว่าอาจจะยังมีเหลือนะ) แต่ถ้าใครมีอยู่ในมือ ลองนำมาใช้นะคะ ลายของ Decoruno จันว่าขนาดกำลังเหมาะ ลายน่ารัก กลิ้งออกมาแล้วคมชัดดีค่ะ ชอบมากๆ เสียดายจริงๆ ที่เขาไม่ทำต่อ (นี่ถึงขั้นสั่งหิ้วจากญี่ปุ่นแล้วค่ะ)

ส่วนอันอื่นๆ จะสติ๊กเกอร์ กระดาษ มาส์กกิ้งเทป ถ้าราคาไม่แพง ใช้แล้วใจฟูก็ซื้อได้นะคะ แต่หลังจากที่จันลองใช้ จันว่ามันเยอะไป เราจะมานั่งปั๊มนู้นนี่ทุกวันกันเชียวรึ หรือสติ๊กเกอร์นี่ ส่วนตัวจันว่าคุมโทนให้สวยยาก ไม่ค่อยแนะนำให้ทำอะไรซับซ้อนทุกวันค่ะ เพราะจะเบื่อเร็ว พยายามทำให้บูโจ simple ที่สุดไว้ก่อนจะดีค่ะ

ไว้ครั้งหน้ามาดูการดัดแปลงบูโจของจันกันนะคะ

ขอบคุณที่ติดตามค่ะ

*********************
ทั้งหมดเป็นการเขียนและวาดโดยจันเอง ใครจะก๊อปไปไว้ไหน
เครดิต www.nuchun.com ด้วยนะคะ
ขอบคุณค่า