Table of Contents
ปรากฏการณ์พระจันทร์ใกล้เข้ามาอีกแล้วนะคะ !? เตรียมตัวแหงนมองท้องฟ้าดู Super Lunar Eclipse กันรึยังเอ่ย
ครั้งหนึ่งจันเคยเขียนไว้บน Facebook ส่วนตัว ว่า “ที่เสียใจที่สุดที่เป็นคนไม่ติดตามข่าวสาร ก็คือทุกครั้งที่ไม่รู้ว่าจะมี Supermoon” หลังจากนั้นก็มีคนส่งข่าวเรื่องพระจันทร์ให้ตลอดเลย ต้องขอบคุณมากจริงๆ
ทั้งที่ชอบดวงจันทร์มากๆ เพราะเป็นชื่อตัวเองด้วย แต่บ้านจันน่ะ อยู่ในที่ที่ล้อมรอบด้วยตึกสูง จึงมองไม่ค่อยเห็นพระจันทร์สักเท่าไหร่ แต่โชคดีที่ปีใหม่ที่ผ่านมา จันไปเที่ยวกับครอบครัว เป็นช่วงพระจันทร์เต็มดวงพอดี ครั้งนี้ก็เลยได้เห็นพระจันทร์กลมโตลอยเด่นอยู่เหนือทะเล สวยมากๆ เลยค่ะ! หยิบกล้องขึ้นมาถ่ายและได้เรียนรู้การถ่ายพระจันทร์ไปพร้อมๆ กัน
หลังจากถ่ายพระจันทร์ทั้งหัวค่ำและพระจันทร์ก่อนลับฟ้าก็ได้ความรู้หลายๆ อย่าง วันนี้เลยเอาบทเรียนจากพระจันทร์มาบันทึกเอาไว้ค่ะ
อุปกรณ์สำคัญๆ สำหรับการถ่ายพระจันทร์
(กล้องและอุปกรณ์ต่างๆ ที่จันใช้ถ่ายรูป ดูย้อนได้ที่นี่นะคะ)
- กล้องที่มีอยู่ ควรเป็นกล้องที่ปรับ Manual ได้นะ (Mirrorless หรือ D-SLR)
- เลนส์ Tele (เลนส์ซูม) เอาตัวที่ซูมได้มากที่สุดที่มีออกมาค่ะ
- ขาตั้งกล้องขนาดใหญ่ ขอให้เช็คให้แน่ใจด้วยนะคะว่ารับน้ำหนักกล้องกับเลนส์ซูมที่เราจะใช้ได้อย่างมั่นคง
รู้จักพระจันทร์ : ช่วงเวลากับสีสันของพระจันทร์
ในภาพเนี่ย ปรับกล้องไว้เท่าๆ กันหมดเลยนะ แต่สีออกมาแบบนี้เลย ในแต่ละช่วงเวลาแสงของพระจันทร์และสีของพระจันทร์นั้นแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งใกล้จะลับขอบฟ้าเท่าไหร่ จะรู้สึกว่าดวงใหญ่ขึ้น สีเข้มขึ้น แต่ความสว่างน้อยลงค่ะ
รู้จักพระจันทร์ : การโคจรของพระจันทร์
จันเห็นพระจันทร์ครั้งแรกตอนสองทุ่มครึ่ง ลอยเด่นอยู่เหนือทะเลทางทิศตะวันออก พอช่วงตี 4 พระจันทร์มาอยู่ทางทิตะวันตก คล้อยต่ำลงเรื่อยๆ ก่อนจะลับขอบฟ้าไปค่ะ
หลังจากที่ลองตั้งกล้องนิ่งๆ ให้กล้องถ่ายภาพทุกสิบวินาที (โหมด timelapse น่ะ) ในหนึ่งนาทีพระจันทร์เคลื่อนที่ตามภาพบนเลยค่ะ จะเห็นได้ว่า ความจริงแล้วพระจันทร์เคลื่อนที่ไวมากเลย
จากที่จันถ่ายมา ถ้าถ่ายภาพสเกล 16:9 ใช้เลนส์ 150 มม.อยู่บนอาคารชั้น 9 ในช่วงตี 4 ตั้งแต่พระจันทร์เข้ามาจนถึงออกไปจากเฟรมภาพใช้เวลาประมาณ 19 นาทีค่ะ
ธรรมชาติของพระจันทร์กับการถ่ายภาพ
จากการสังเกต พระจันทร์นั้น…
- เคลื่อนที่ตลอดเวลา เพราะอย่างนั้นจะเปิดหน้ากล้องนานๆ ไม่ได้แน่นอน
- เป็นแหล่งกำเนิดแสงในยามค่ำคืน เพราะฉะนั้น ถ้าไม่อยากให้ถ่ายออกมาเป็นจุดเรืองแสงฟุ้งๆ ก็เปิดรูรับแสงน้อยๆ น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ จะได้ตัดแสงสว่างของดวงจันทร์ออกไป คงเหลือไว้แต่ลายกระต่ายตำโมจิบนพื้นผิวดวงจันทร์
- ช่วงหัวค่ำ พระจันทร์จะออกสีขาวมากกว่าเหลือง ถ้าอยากได้สีเหลืองสวย ก็ต้องเปลี่ยน White Balance จาก Auto White Balance เป็น Shade ที่ทำให้สีออกเหลืองมากขึ้น แต่ถ้ามองด้วยตาเปล่าแล้วสีเหลืองออกส้มจัด ให้ใช้ Auto White Balance ตามปกติค่ะ
การตั้งกล้องสำหรับถ่ายพระจันทร์ที่จันใช้
Aperture : F/22 // Exposure : 1/10sec // ISO : 125 // Manual Focus // White Balance : Shade
- ค่ารูรับแสง : F/22 รูรับแสงแบบแคบ ถ้าพระจันทร์แสงน้อยลงให้ปรับค่าตัวนี้ให้น้อยลง เพื่อเปิดรูรับแสงให้ใหญ่ขึ้นค่ะ
- ค่า Speed Shutter : 1/10 sec. ค่านี้พยายามอย่าปรับนะคะ เพราะไม่งั้นถ้าหน่วงมากกว่านี้ จะเห็นพระจันทร์วิ่งเป็นเส้นได้ค่ะ ตามตัวอย่างด้านล่างจันปรับเป็น 4 วินาที ทำให้เห็นรอยการเคลื่อนที่ของพระจันทร์ค่ะ
- ISO : 125 ปกติจันใช้เท่านี้เพื่อไม่ให้เกิด Noise ค่ะ ค่านี้ยิ่งมาก โอกาสเกิด Noise ก็จะยิ่งมากขึ้น กล้องจันเกิด Noise ง่ายมากเลยค่ะ
- Manual Focus : ถ้าใช้ Auto Focus บางครั้งจะจับโฟกัสไม่ติด ทำให้พระจันทร์เบลอค่ะ ก็ให้ใช้ Manual Focus แล้วจิ้มไปที่พระจันทร์แทน
- White Balance : Shade ถ้าถ่ายพระจันทร์หัวค่ำ แล้วอยากให้เป็นสีเหลืองระเรื่อให้ใช้แบบนี้ค่ะ ลองปรับ White Balance ดูแบบที่ชอบค่ะ ถ้าสีออกฟ้าก็จะให้อารมณ์เย็นๆ แบบหนังผีดีเหมือนกัน แต่ถ้าพระจันทร์ออกสีแดงจัดหรือเหลืองแล้ว ให้ใช้ Auto White Balance จะดีกว่าค่ะ (ถ้าพระจันทร์เหลืองแล้ว ใส่ Shade WB ซ้ำ จะออกส้มเหมือนอุกกาบาตพุ่งชนโลกตามรูปด้านบนค่ะ)
ซูมได้แค่ไหน ใหญ่เท่านี้
เลนส์ที่จันใช้ ระยะ 40-150 มม. ค่ะ จากเลนส์ที่จันใช้ ถ่ายพระจันทร์ออกมาได้เท่าภาพบนค่ะ
ไปยืมกล้องพ่อ ระยะ 18-300 มม. ได้มาขนาดเท่านี้ค่ะ เพื่อให้พระจันทร์ที่ถ่ายได้ดูใหญ่ขึ้น ส่วนใหญ่จะ Crop เอาทั้งนั้นเลยค่ะ
พระจันทร์กับวิวยามค่ำคืน
จันลองถ่ายภาพสามภาพ ตั้งกล้องสามแบบค่ะ รูปแรกคือตั้งกล้องแบบที่ใช้ถ่ายพระจันทร์ จะเห็นได้ว่าวิวมืดสนิทเลย เพราะเราต้องเปิดปิดชัตเตอร์ไวเกินกว่ากล้องจะจับแสงยามค่ำคืนไว้ได้นั่นเอง รูปที่สอง คราวนี้ลองตั้งความเร็วชัตเตอร์ให้ช้าลงอีกนิด เห็นภาพวิวชัดขึ้นแต่ไม่เห็นรายละเอียดพระจันทร์แล้ว ส่วนรูปสุดท้ายคือเห็นวิวเมืองชัดเจนแล้ว พระจันทร์ดูสว่างยิ่งขึ้นไปอีก ไม่เห็นขอบคมๆ แล้ว ถ้าจะให้เห็นทั้งสองอย่าง จันว่าคงต้องตัดต่อเอามารวมอีกทีค่ะ
ตัดพระจันทร์มา เอามาวางลงไปบนวิว เติมสีด้วยบรัชแบบฟุ้งๆ นิดหน่อยข้างใต้เลเยอร์พระจันทร์ ก็จะได้ภาพประมาณนี้ค่ะ
จันลองดูการตั้งกล้องของคุณศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ช่างภาพที่ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเอาภาพมาใช้
Aperture : f/11 // ISO : 1000 // Exposure : 1/20sec
ภาพสวยมากๆ เลยล่ะ ช่างภาพมือโปรเนี่ย สุดยอดเลยค่ะ! กล้องที่ทางนั้นใช้เป็น D-SLR แบบโปรสุดๆ ด้วย Canon 1DX (แค่ตัวกล้องอย่างเดียวก็สองแสนแล้ว) ทำให้สามารถเร่ง ISO ได้เยอะมากๆ โดยที่ภาพไม่แตกเลยค่ะ อยากมีกล้องแบบนี้บ้างจัง
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเขียนเทคนิคการถ่ายภาพไว้ด้วย ลองเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมดูได้ในเว็บนี้นะคะ
ครั้งต่อไปที่จะมีปรากฏการณ์พระจันทร์ก็คือในวันที่ 31 มกราคมนี้ค่ะ
ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในวันที่ 31 มกราคม 2561 ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลกตั้งแต่เวลา 17:51 น. จากนั้นค่อย ๆ เคลื่อนเข้าสู่เงามืดของโลก เกิดเป็นจันทรุปราคาบางส่วนในเวลา 18:48 น. เข้าสู่จันทรุปราคาเต็มดวงตั้งแต่เวลา 19:51 – 21:07 น. คิดเป็นระยะเวลาจันทรุปราคาเต็มดวงนาน 1 ชั่วโมง 16 นาที ขณะที่ดวงจันทร์อยู่ในเงามืดของโลกเต็มดวง จะมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงอิฐทั้งดวง สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าในทุกภูมิภาคของประเทศ เมื่อสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงหลังเวลา 21:07 น. ไปแล้ว ดวงจันทร์จะเริ่มออกจากเงามืดของโลกเข้าสู่การเป็นจันทรุปราคาบางส่วนอีกครั้ง จนกระทั่งออกจากเงามืดของโลกหมดทั้งดวงในเวลา 22:11 น. แล้วเปลี่ยนเป็นจันทรุปราคาเงามัวที่จะสังเกตเห็นได้ยาก เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดวงจันทร์จากเงามืดของโลกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และสุดท้ายดวงจันทร์จะพ้นจากเงามัวของโลกเวลา 23:08 น. ถือว่าเป็นการสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้โดยสมบูรณ์
โดยในการเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้ ดวงจันทร์ยังคงอยู่ในระยะทางที่ไม่ห่างจากโลกมากนัก จึงทำให้เราสังเกตเห็นดวงจันทร์ขณะเกิดปรากฏการณ์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าดวงจันทร์ช่วงปกติเล็กน้อย ซึ่งนักดาราศาสตร์บางกลุ่ม เรียกปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า “Super Lunar Eclipse”
Credit ข่าว : เว็บไซต์สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (ในเว็บมีรวมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าถ่ายรูปตลอดทั้งปี 2018 ลองเข้าไปดูรายละเอียดกันได้นะ)
ลองหยิบกล้องมาถ่ายภาพกันดูนะคะ ^^
*********************
ทั้งหมดเป็นการเขียนและวาดโดยจันเอง
ใครจะก๊อปไปไว้ไหน เครดิต www.nuchun.com ด้วยนะคะ
ขอบคุณค่ะ

– แอดหนูจัน – บล็อกเกอร์ตัวกลม อารมณ์ดีที่ชอบหาอะไรทำสนุกๆ ภายในบ้าน รักการเขียน การอ่าน การวาดรูป และการทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองเป็นชีวิตจิตใจ หลงใหลในมนต์เสน่ห์ของเครื่องเขียน อุปกรณ์งานฝีมือและอุปกรณ์ศิลปะ Craft it Myself • Draw my Life • Create my World