วันนี้มีคำถามปลีกย่อยและความคิดเห็นเรื่องต่างๆ ของนักเขียนการ์ตูนมาฝากกันค่ะ
Q: การสร้างตัวละคร
อาจารย์หลายๆ คนบอกว่าได้แรงบันดาลใจตัวละครมาจากดาราค่ะ
อาจารย์ฮาระบอกว่า ตัวละครในเรื่อง “ฤทธิ์หมัดดาวเหนือ” นั้นได้อิมเมจมาจากนักแสดงหลายคนค่ะ เช่น บรูซลี ซึ่งอาจารย์ชอบมาก อาจารย์ใช้บรูซลีกับมัตสึดะ ยูซาคุ (Matsuda Yusaku) เป็นต้นแบบของเคนชิโร่ค่ะ อาจารย์มักจะดึงลักษณะที่น่าจะดีของคนที่อาจารย์ชอบออกมา แล้วรวมเป็นฮีโร่ที่แข็งแกร่งที่สุดค่ะ อาจารย์บอกว่าถ้ามาจากคนคนเดียว สำหรับการ์ตูนแล้วรู้สึกไม่พอ ก็เลยเอาจากคนนู้นคนนี้มารวมกันเพื่อสร้างตัวละคร ต้นแบบนอกจากนักแสดงสองคนนี้แล้ว ยังมี Arnold Schwarzenegger, Sylvester Stallone หรือตัวละครอย่างราโอ ก็ได้แบบจาก Rutger Hauer
ทางด้านอาจารย์โมริตะบอกว่าอยากได้ท่าแบบเด็กเกเร อาจารย์เลยเอาท่าของซันมะซัง (Akashiya Sanma) ซึ่งเป็นตลกชื่อดังมาใช้ค่ะ
อีกแบบหนึ่งคือการสร้างตัวละครจากคนใกล้ตัวค่ะ อาจารย์มิซุชิโระบอกว่าแน่นอนว่าอาจารย์ก็สร้างตัวละครขึ้นมาเหมือนกัน แต่ปกติจะสร้างตัวละครจากการสังเกตคนใกล้ตัว อย่างเพื่อนหรือคนรู้จักเพื่อให้ตัวละครสมจริง นากาอิซังถามต่อว่าอย่างงานของอาจารย์ที่เป็นเรื่องราวของความรัก เวลาสร้างตัวพระเอกได้เอาแบบจากดารามาใช้บ้างไหม อาจารย์ตอบประมาณว่าไม่ได้ใช้สักเท่าไหร่ค่ะ
Q: จุดเริ่มต้นของการเป็นนักเขียนการ์ตูน
อาจารย์อิตากาคิบอกว่าตอนที่อายุได้ 21 ปี เขาได้อ่านเรื่อง Nariagari ของอาจารย์ยาซาวะ เอคิจิ ก็เลยอยากเป็นอย่างนั้นค่ะ ตอนนั้นเขาถามตัวเองว่าสิ่งที่ตัวเองทำได้ดีที่สุดคืออะไร คำตอบที่เขาได้ก็คือการวาดรูป เขาคิดว่าสักสองปีคงจะได้ออกผลงานจริงๆ แต่กว่าจะได้ออกจริงๆ ใช้เวลาถึง 7 ปีค่ะ
อาจารย์ฟุคุโมโตะบอกว่าตัดสินใจตอนมัธยมปลายค่ะ แม้ว่าอันที่จริงเขาก็วาดรูปได้ไม่ดีนัก
คนที่เริ่มเข้าวงการเร็วที่สุดในหมู่แขกรับเชิญก็คืออาจารย์โมริตะค่ะ อาจารย์ฟุคุโมโตะบอกว่าตอนที่อาจารย์โมริตะอยู่มัธยมปลายก็เริ่มออกผลงานกับสำนักพิมพ์ชื่อดังแล้ว อาจารย์โมริตะก็ยืนยันว่าเริ่มทำงานด้านนี้ตอนม.ปลายค่ะ
Q: เคยอยากเลิกเขียนการ์ตูนไหม
อาจารย์ทั้งห้าคนตอบว่าไม่ค่ะ นากาอิซังถามว่าไม่มีช่วงเวลาหนักๆ จะเขียนก็ตันหรือรู้สึกว่าแย่แล้วบ้างเหรอ อาจารย์อิตากาคิบอกว่ามีเยอะเลยล่ะ ช่วงเวลาที่รู้สึกแย่ๆ อย่างไม่มีผลงาน ก็รู้สึกไม่อยากเป็นตัวเองด้วยซ้ำไป ถ้า A กำลังออกผลงาน แล้ว B ไม่ได้ออกผลงาน อาจารย์อิตากาคิบอกถ้าเป็น B เนี่ย จะรู้สึกหนักใจมาก
ส่วนอาจารย์ฟุคุโมโตะบอกว่าอย่างถ้าเริ่มคิดตัวละครอยู่ในหัว แล้วมีคนเขียนออกมาแล้วก็คงรู้สึกแย่มาก
Q: เวลาที่การ์ตูนได้มาทำหน้งหรือละคร จริงๆ แล้วดีใจไหม
ทุกคนตอบว่าดีใจค่ะ
หมายเหตุ : คำถามนี้ หลายๆ คนอาจจะงงๆ ว่าทำไมถึงถาม คือในหมู่คนที่ชอบการ์ตูน มักจะไม่ค่อยชอบใจกับการเอาการ์ตูนมาสร้างเป็นหนังหรือละครค่ะ ส่วนใหญ่หลังจากที่นักแสดงออกมาแล้ว มักจะวิพากษ์วิจารณ์กันเยอะ ทั้งชอบและไม่ชอบ แต่ถึงอย่างนั้นหนังและละครกว่าครึ่งของญี่ปุ่นก็มาจากการ์ตูนนี่ล่ะค่ะ
Credit : Rookies -Sotsugyo- (2009), Morita Masanori
อาจารย์โมริตะบอกว่า บางทีที่เรื่อง ROOKIES เอามาทำเป็นละคร นี่อาจเป็นเรื่องที่น่าดีใจที่สุดในชีวิตของเขาเลยค่ะ “เพราะบางคนอาจจะไม่ได้อ่านการ์ตูน แต่ได้ดูละครใช่ไหมล่ะครับ” คนที่เล่นเป็นตัวเอกเรื่องนี้คือนักแสดงชื่อซาโต้ ริวตะ (Sato Ryuta) ซังค่ะ อาจารย์ได้รับจดหมายจากซาโต้ซัง เขียนว่า “ผมอยากแสดงเป็นคาวาโตะครับ ไม่ว่าจะพบกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ขมขื่นเพียงใด นี่คือพื้นฐานของ ROOKIES ที่จะข้ามอุปสรรคไปได้ แต่ว่าตอนนี้ผมอายุยังไม่เท่าคาวาโตะ ถึงอย่างนั้นในฐานะนักแสดงก็อยากจะแสดงบทนี้ครับ พอได้รับข้อเสนอที่จะแสดงเรื่องนี้ ส่วนตัวผมอยากให้ช่วยรอจนกว่าผมจะอายุพอๆ กับคาวาโตะจะได้ไหมครับ” พอมีข้อเสนอจะทำเรื่องนี้ อาจารย์ถึงได้ปฏิเสธไปเพื่อรอซาโต้ ริวตะซัง (ไม่ค่อยชัวร์ แต่คิดว่าประมาณนี้ค่ะ)
Credit : FujiTV, Mizushiro Setona ในนิตยสาร ROLA (2014.02)
ทางด้านอาจารย์มิซุชิโระ เรื่อง Shitsuren Chocolatier ก็นำมาทำเป็นละคร นำแสดงโดยมัตสึโมโตะ จุน (Matsumoto Jun) กับอิชิฮาระ ซาโตมิ (Ishihara Satomi) อาจารย์บอกว่าที่ได้มัตสึโมโตะ จุนมาเล่นนั้นเป็นเรื่องที่ดีมากค่ะ เพราะตัวละครแต่ละตัวในเรื่องนี้แทบเป็นไปไม่ได้เลยในชีวิตจริง แต่นักแสดงทุกคนทำให้เธอเปลี่ยนความคิดค่ะ ระหว่างที่ถ่ายทำอยู่ อาจารย์ก็ได้เจอกับมัตสึโมโตะซังด้วยค่ะ ตอนนั้นรู้สึกเหมือนบุคคลที่อยู่ไกลตัวมากๆ เลยค่ะ
Credit : Movie’s Official Website, Hanazawa Kengo
ทางด้านการ์ตูนของอาจารย์ฮานาซาวะที่เพิ่งนำมาทำเป็นภาพยนตร์เรื่อง I’m a Hero นำแสดงโดยโออิซุมิ โย (Oizumi Yo) ซัง อาจารย์บอกว่าตอนแรกคิดภาพไว้ว่าน่าจะเป็นคนที่ตัวสูงมากกว่านี้ เลยรู้สึกว่าผิดคนไปสักหน่อย แต่พอได้ดูการแสดงแล้ว กลับคิดว่าเหมาะมาก
ครั้งหน้านักวาดอาชีพจะมาคุยเรื่องรายได้ให้ฟังกันค่ะ มาลองดูกันดีกว่า ว่านักวาดอาชีพในประเทศที่ให้ความสำคัญกับงานศิลปะนั้น รายได้จะเป็นอย่างไรกันบ้าง
หมายเหตุ : ภาษาญี่ปุ่น จันแปลจากการฟังและใช้ Google Translate ช่วยเช็คภาษาในคำบรรยายภาพในรายการ ใครได้ดูแล้วคิดว่าแปลผิด ทักท้วงได้นะคะ > <
*********************
ทั้งหมดเป็นการเขียนและวาดโดยจันเอง
ใครจะก๊อปไปไว้ไหน เครดิต www.nuchun.com ด้วยนะคะ
ขอบคุณค่ะ
– แอดหนูจัน – บล็อกเกอร์ตัวกลม อารมณ์ดีที่ชอบหาอะไรทำสนุกๆ ภายในบ้าน รักการเขียน การอ่าน การวาดรูป และการทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองเป็นชีวิตจิตใจ หลงใหลในมนต์เสน่ห์ของเครื่องเขียน อุปกรณ์งานฝีมือและอุปกรณ์ศิลปะ Craft it Myself • Draw my Life • Create my World