Nuchun's Atelier

บล็อกรีวิวเครื่องเขียน l สีมาร์คเกอร์ l อุปกรณ์วาดรูป พร้อมวิธีทำงานประดิษฐ์สนุกๆ ที่ทำได้ที่บ้าน

[นักวาดอาชีพ] ตอนที่ 1 : ห้องทำงานของนักวาดอาชีพ

อย่างที่เกริ่นไปคราวที่แล้ว ครั้งนี้จะมาเล่าเรื่องในรายการให้ฟังกันค่ะ สำหรับใครที่อยากรู้เกี่ยวกับนักวาดภาพและนักเขียนการ์ตูนแต่ละคน ย้อนกลับไปดูได้ที่นี่นะคะ
เรื่องแรกที่น่าสนใจเกี่ยวกับรายการตอนนี้ ก็คือเขาพาไปบุกห้องทำงานของนักวาดภาพประกอบและนักวาดการ์ตูน พร้อมพูดคุยเกี่ยวกับการทำงานของแต่ละคนด้วยค่ะ

> บุกห้องทำงานนักวาดอาชีพ

akihiroroom

เริ่มกันด้วย ห้องของนักวาดภาพประกอบ นิชิโนะ อากิฮิโระ (Nishino Akihiro) ภาพบนเป็นห้องทำงานของนิชิโนะซังค่ะ ภาพขวาบนคือภาพที่เขากำลังวาดอยู่ค่ะ เป็นงานขาวดำ คนที่ทำงานสเกลใหญ่จังเลยเนอะ กระดาษขนาดนี้ใช้ปากกาหัว 0.03 นี่เอาเรื่องจริงๆ ค่ะ ส่วนภาพล่างเป็นห้องนั่งเล่นค่ะ เขาบอกว่าตอนนี้เขาชอบทำงานอยู่ตรงนี้

14099726_184632525292795_1696667776_n
Credit : Akihiro Nishino’s Instagram

ปัจจุบันนิชิโนะซังวาดรูปและลงสีงานแล้วล่ะ หนังสือเล่มใหม่ที่เพิ่งออกเมื่อเดือนตุลาคมปีนี้ ชื่อ Poupelle of Chimney Town ค่ะ เปลี่ยนมาวาดในคอมพิวเตอร์ แต่ยังคงรายละเอียดงานไว้ สวยมากอ่ะ

vlcsnap-2016-11-04-14h42m10s702

เขากำลังวาดภาพสำหรับทำปกซีดีของ Sekihan (กดดูภาพเสร็จสมบูรณ์ที่นี่ค่ะ) ปากกาที่ใช้คือ Multiliner หัว 0.03 มม. ของ Copic ล่ะ เขาใช้เวลาในการวาดแต่ละรูปประมาณ 1 เดือนค่ะ

vlcsnap-2016-11-04-14h42m35s383

งานชิ้นถัดมาที่เขาเปิดให้ดูคือวาดภาพประกอบหัวเว็บไซต์แนะนำโตเกียวค่ะ (อันนี้หารูปที่เสร็จสมบูรณ์ไม่เจอ)

vlcsnap-2016-11-04-13h52m48s248

คนต่อมาที่บุกถึงสตูดิโอคือสตูดิโอของอาจารย์ฮาระ เท็ตสึโอะค่ะ สตูดิโอของอาจารย์ฮาระมีผู้ช่วยประมาณ 22-23 คนค่ะ งานของอาจารย์ฮาระยังเป็นกึ่งๆ ทำมืออยู่ แต่ปกใช้แบบดิจิตอลแล้ว

untitled-1

บนกระดานนี้คือกระดานเช็คงาน ซึ่งอาจารย์ใช้เช็คงานที่เสร็จแล้วแต่ละหน้า ภาพร่างต้นฉบับของอาจารย์ฮาระจะเป็นตามรูป 1 ค่ะ จากนั้นสตาฟอีกคนจะวาดออกมาเป็นภาพจริง (รูปที่ 2) จนเป็นภาพที่เสร็จสมบูรณ์ในรูปที่ 3 ค่ะ ในปึกที่อาจารย์โชว์ให้ดู ตั้งแต่ร่างจนถึงงานที่เสร็จสมบูรณ์มีประมาณ 6 แผ่นด้วยกันค่ะ

vlcsnap-2016-11-04-13h53m47s828

ปัจจุบันนี้ งานของอาจารย์ฮาระใช้การลงสีในคอมพิวเตอร์แล้วค่ะ (ที่เห็นอยู่นี้คือโปรแกรม Photoshop ค่ะ OS: Mac ส่วนหน้าจอเป็น Wacom รุ่น Cintiq 21UX DTZ-2100D/G LCD 21.3″ ค่ะ ออกมาตั้งแต่ปี 2007 แล้ว)

hara

ห้องติดๆ กันเป็นห้องส่วนตัวของอาจารย์ฮาระเอง มีหุ่นเคนชิโระซังจากเรื่องฤทธิ์หมัดดาวเหนืออยู่ด้วยค่ะ (ถ้าได้ยินไม่ผิด เหมือนจะทำจากทองทั้งตัวเลยล่ะ) โต๊ะทำงานของอาจารย์ยังเป็นโต๊ะเอียงให้ความรู้สึกแบบนักเขียนการ์ตูนเก่าๆ อยู่ ที่ตรงนี้ล่ะค่ะที่ใช้สร้างผลงานมาแล้วมากมาย

vlcsnap-2016-11-01-16h32m09s231

คนสุดท้ายที่ทางรายการได้มาบุกถึงสตูดิโอก็คืออาจารย์ฮานาซาวะ เคนโกค่ะ สตูดิโอของอาจารย์ฮานาซาวะเป็นห้องผนังคอนกรีตดูดีมีสไตล์

hanazawa

ชั้น 1 จะเป็นพื้นที่สำหรับผู้ช่วยทั้ง 6 คนค่ะ สิ่งที่ผู้ช่วยกำลังทำอยู่เรียกว่าการ Trace หรือก็คือการลอกลายจากรูปจริงค่ะ ซึ่งอาจารย์มอบหมายให้วาดเกี่ยวกับพวกเสื้อผ้าและพรอพต่างๆ ค่ะ เท่าที่เห็น ผู้ช่วยจะเปิดภาพจริงดูควบคู่กับการลอกลายตามที่เห็นบนกล่องไฟ ใช้ปากกาคอแร้ง (GPen) กับหมึกสีดำยี่ห้อ Pilot ค่ะ รูปจริงที่อยู่ในกรอบขวาล่างคืออาจารย์ฮานาซาวะนั่นเองค่ะ อาจารย์เป็นต้นแบบหลายๆ แอคชั่นเลยทีเดียว

vlcsnap-2016-11-01-16h34m18s066

นอกจากนี้ในห้องยังมีหนังสือจำนวนมากอยู่ด้วยค่ะ ว่าแต่ในหมู่หนังสือพวกนี้ มีหนังสือแบบไหนแอบซ่อนอยู่กันแน่นะ คำตอบก็คือหนังสือโป๊ค่ะ (ฮา) อาจารย์บอกว่าเพราะพวกเสื้อชั้นในผู้หญิงน่ะ ค่อนข้างวาดยากค่ะ “เก็บไว้สำหรับทำงาน ไม่ใช่เป็นงานอดิเรกนะครับ” ห้องส่งฮากันเป็นแถบๆ ค่ะ สตาฟถามต่อว่า “จริงเหรอครับ” อาจารย์ตอบกลับอย่างไม่มั่นใจว่า “ประมาณนั้นครับ”

vlcsnap-2016-11-01-16h35m17s455

เมื่อขึ้นบันไดวนมาชั้นสอง ก็จะเป็นพื้นที่ส่วนตัวของอาจารย์ฮานาซาวะคนเดียวค่ะ นอกจากที่เห็นแล้วยังมีเครื่องเล่นกล้ามแบบครบเซ็ทด้วย อาจารย์บอกว่าอาจารย์ประมูลผ่านเว็บมา แต่พอเล่นโชว์ให้ทีมงานดู กลับยกแต่ก้าน โดยไม่ใส่ที่ถ่วงน้ำหนักเพราะบอกว่ามันหนักค่ะ แล้วก็กระเป๋าแบ็คแพคที่แขวนอยู่สามใบบนผนัง ทีมงานก็ถามว่าอาจารย์ชอบปีนเขาเหรอ อาจารย์บอกว่าเปล่า แต่ประมูลมา (สรุปคืออาจารย์ชอบประมูลของและซื้อของผ่านอินเทอร์เน็ตค่ะ ฮา)

> ขั้นตอนการทำงานของนักเขียนการ์ตูน Analog X Digital

vlcsnap-2016-11-01-16h37m02s817

อาจารย์ฮานาซาวะบอกว่านี่คือต้นฉบับค่ะ ทางทีมงานก็เลยถามว่าทำไมถึงไม่มีภาพอยู่ในนั้นเลย คำตอบก็คือเพราะอาจารย์ใช้คอมพิวเตอร์ในการรวมภาพทั้งหมดเข้าด้วยกันนั่นเองค่ะ

vlcsnap-2016-11-01-16h37m15s955

vlcsnap-2016-11-01-16h38m05s607

  1. เริ่มจากการใส่เฉพาะ Sound Effect และ กรอบคำพูดลงไป
  2. ใส่ตัวละครที่เป็นพื้นใสเข้าไป
  3. ใส่ฉาก
  4. ใส่สกรีนโทนในคอมพิวเตอร์

โดยสรุปคืองานของอาจารย์ฮานาซาวะจะเป็นกึ่งทำมือกึ่งดิจิตอลนั่นเอง หมายความว่ายังวาดส่วนต่างๆ ลงบนกระดาษอยู่ แต่เอาทุกส่วนมารวมกันในคอมพิวเตอร์อีกที ข้อดีของการทำงานแบบนี้ก็คือปรับแต่งรายละเอียดได้ง่ายกว่า เช่น ตำแหน่งของตัวละครก็เปลี่ยนได้ และทำซ้ำ ดัดแปลงส่วนต่างๆ ของงานเก่ามาทำใหม่ได้

vlcsnap-2016-11-01-16h43m37s654

อย่างภาพนี้ ทางรายการขอให้อาจารย์ลองวาดนากาอิซัง ซึ่งเป็นพิธีกรของรายการให้ อาจารย์วาดเป็นภาพนี้ โดยทำเสร็จใน 1 ชั่วโมงเท่านั้นค่ะ อาจารย์บอกว่าเพราะทุกอย่างมีอยู่แล้ว จึงแค่วาดหน้าของนากาอิซังใส่เข้าไปเท่านั้นเอง

เมื่อถามนักเขียนการ์ตูนคนอื่นๆ เกี่ยวกับการทำงานโดยใช้คอมพิวเตอร์กับการวาดแบบดั้งเดิม อาจารย์ฟุคุโมโตะบอกว่าเขายังใช้วิธีแบบดั้งเดิมอยู่ ทำงานไม่เหมือนกับของอาจารย์ฮานาซาวะเลย ส่วนอาจารย์อิตากาคิบอกว่าเขาใช้คอมพิวเตอร์แล้ว เพราะมันสะดวกกว่ากันมาก ส่วนอาจารย์มิซุชิโระนั้น เป็นงานวาดในคอมพิวเตอร์ล้วนๆ เลยค่ะ เธอถือคติที่ว่าใช้กระดาษให้น้อยที่สุด (Paperless) นั่นเองค่ะ

ครั้งหน้ามาดูการสร้างตัวละครของนักเขียนการ์ตูนชื่อดัง และคำถามที่น่าสนใจอื่นๆ กันค่ะ

หมายเหตุ : ภาษาญี่ปุ่น จันแปลจากการฟังและใช้ Google Translate ช่วยเช็คภาษาในคำบรรยายภาพในรายการ ใครได้ดูแล้วคิดว่าแปลผิด ทักท้วงได้นะคะ > <

*********************
ทั้งหมดเป็นการเขียนและวาดโดยจันเอง
ใครจะก๊อปไปไว้ไหน เครดิต www.nuchun.com ด้วยนะคะ
ขอบคุณค่ะ