Nuchun's Atelier

บล็อกรีวิวเครื่องเขียน l สีมาร์คเกอร์ l อุปกรณ์วาดรูป พร้อมวิธีทำงานประดิษฐ์สนุกๆ ที่ทำได้ที่บ้าน

[my happy working] สิ่งที่ฉันได้เรียนรู้ในการทำงานสิ่งพิมพ์

วันนี้จันจะมาถ่ายทอดสิ่งที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการออกแบบสิ่งพิมพ์ในช่วงเวลา 8 เดือนนี้มาให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันค่ะ เพื่อที่ว่าใครก็ตามที่กำลังจะมาทำอาชีพเกี่ยวกับการออกแบบสื่อโฆษณาหรือสิ่งพิมพ์ หรือแม้แต่คนที่อยากเริ่มต้นออกแบบโลโก้หรืออะไรก็ตามที่ต้องไปตีพิมพ์จะได้เก็บไว้เป็นความรู้และข้อคิด เพื่อให้ผลงานสวยงาม และ ความเสี่ยงจากข้อผิดพลาดในการตีพิมพ์น้อยที่สุดค่ะ

ตั้งแต่ทำงานมา ลูกค้าส่วนใหญ่ที่จันเจอ จะไม่เข้าใจระบบการทำงานของสิ่งพิมพ์เลยแม้แต่น้อย ส่วนมากจะเข้าใจว่าแค่ออกแบบมาแล้วสวย ถูกใจตัวเอง แค่นั้นก็พอแล้ว และมักจะเหมารวมการออกแบบเว็บไซต์กับการทำสิ่งพิมพ์ว่าเหมือนๆ กัน ใช้รูปเหมือนๆ กัน ใช้ Material แบบเดียวกัน จนบางครั้งก็ส่งรูปที่อยู่ในเว็บไซต์ของตัวเองมาให้บ้าง โลโก้บ้าง แล้วพองานออกมาบางทีก็ไม่เข้าใจอีกว่าทำไมถึงออกมาไม่คมชัดตามที่ตัวเองวาดฝันไว้เสียสวยหรู

สิ่งพิมพ์นั้นต่างจากการทำเว็บโดยสิ้นเชิงอย่างที่เคยกล่าวไปในตอนที่แล้ว เพราะ ระบบการพิมพ์ก็ต่างจากการทำให้ปรากฏบนหน้าจอ ระบบสีคนละระบบ และผลิตผลของงานก็ต่างกัน

ลองมาเทียบดูเป็นข้อๆ

เว็บไซต์

  • ระบบสี : RGB เพราะสีที่ได้จะสวยสดกว่า หน้าจอคอมพิวเตอร์ใช้โหมดสีนี้ได้ไม่มีปัญหา
  • รูปภาพที่ใช้ : ขนาดไฟล์เล็กที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพราะต้องทำให้โหลดเร็วที่สุด ขอแค่ดูบนหน้าจอแล้วเห็นก็เป็นอันใช้ได้
  • Resolution ที่นิยม : 72 dpi
  • สกุลไฟล์รูปภาพที่ใช้ : มาตรฐานที่สุดคือ jpg เพราะแสดงผลแล้วไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องสีเพี๊ยน ขนาดเล็ก
  • ขนาดตัวอักษร : ขนาดที่ดูแล้วสบายตา ส่วนมากจะเป็น font มาตรฐานที่มีอยู่ทุกเครื่อง เพราะไม่มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์และแสดงผลเหมือนๆ กันทุกเครื่อง (แต่ถ้าทำออกมาเล็กเกินไป คอมพิวเตอร์ก็ขยายได้อยู่ดี ถ้าพลาดเรื่องนี้ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอด)
  • สิ่งที่ต้องคำนึงถึง : ขนาดของหน้าจอผู้ใช้งาน โปรแกรมที่ใช้เปิดเว็บไซต์ (ฺBrowser) ขนาดของไฟล์และสคริปต์ ขนาดของตัวอักษร และ ลักษณะการจัดหน้าเว็บให้ดูเหมือนมีความอัพเดทอยู่เสมอ เพื่อดึงดูดผู้เข้าชมให้ติดตาม

สิ่งพิมพ์ 

  • ระบบสี : CMYK เพราะเวลาตีพิมพ์หน้าสีจะเกิดจาก 4 สีนี้ผสมกัน (CMYK = ฟ้า-บานเย็น-เหลือง-ดำ) สีจะดูหม่นกว่า RGB และมีสีให้เลือกน้อยกว่า
  • รูปภาพที่ใช้ : รูปที่ละเอียดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะภาพยิ่งละเอียดความคมชัดจะยิ่งมาก ตีพิมพ์ออกมาจะสวยงาม ไม่แตก
  • Resolution ที่นิยม : 200 dpi ขึ้นไป
  • สกุลไฟล์รูปภาพที่ใช้ : สามารถใช้ jpg ได้ แต่พี่ๆ พูดกันว่าทุกครั้งที่ save *.jpg คุณภาพจะยิ่งด้อยลง ไฟล์ภาพที่ดีที่สุดในการทำสิ่งพิมพ์คือไฟล์ *.tiff แต่ขนาดไฟล์จะใหญ่มาก และเวลาทำงานจะต้อง save *.ai และ *.psd ไว้ด้วย เพราะต้องแก้งานในนั้น ส่วนไฟล์สำเร็จของการทำงานเพื่อส่งพิมพ์คือ *.eps และ *.pdf ค่ะ
  • ขนาดตัวอักษร : ขนาดตัวอักษรจะต้องเป็นตัวอักษรที่เห็นชัด อ่านสบายตา font อาจไม่ใช่ฟอนท์ที่เป็นมาตรฐาน แต่ต้องอ่านง่าย สำหรับภาษาไทย ส่วนที่เป็นตัวข่าวนิยมใช้ 14 pt ช่องว่างระหว่างบรรทัดเท่ากับขนาด font ส่วนภาษาอังกฤษใช้ 8-9 pt ช่องว่างระหว่างบรรทัดเป็น auto ไม่งั้นจะดูแน่นไป และการจัดเสมอหน้าหลังในหนังสือพิมพ์จะต้องตัดคำเอง บางทีพยัญชนะ สระ ตัวสะกดไม่ไปอยู่บนบรรทัดเดียวกัน ฝ่ายศิลป์ต้องอ่านทีละบรรทัดแล้วเคาะให้คำไปอยู่ในที่ที่ควรอยู่ เพราะเครื่องคอมพิวเตอร์ตัดคำภาษาไทยได้แย่มาก ดังนั้นการเปลี่ยน font เปลี่ยนเนื้อหา และ เปลี่ยนขนาดหลังจากที่ตัดคำไปแล้ว เราจะต้องเริ่มอ่านทีละบรรทัดกันใหม่ คนทำสิ่งพิมพ์จะมีขั้นตอนนี้เพิ่มเข้ามา ซึ่งแตกต่างจากการทำเว็บไซต์
  • สิ่งที่ต้องคำนึงถึง : ขนาดของสิ่งพิมพ์ (ถ้าไม่พอดีจะไม่สามารถส่งเข้าระบบตีพิมพ์ได้) ลิขสิทธิ์รูปและฟอนต์ คุณภาพของรูป สี (ขาวดำ สี่สี สีพิเศษ) จำนวนสีตัวอักษรของตัวข่าว ระบบสีของ artwork ถ้าเป็นเล่มต้องคำนึงถึงจำนวนหน้า (ถ้าคำนวณให้ดีเราจะตีพิมพ์โดยใช้เพลทและกระดาษคุ้มที่สุด) ลักษณะกระดาษที่ใช้ (ทำให้สีที่ได้ออกมาแตกต่างกันมาก) นอกจากนี้ถ้าลงหนังสือพิมพ์ก็จะมีเรื่องข้อจำกัดของเวลามาเกี่ยวด้วย เพราะว่าหนังสือพิมพ์ตีพิมพ์ทุกวัน และมีคิวในการตีพิมพ์ของมัน
.
บางคนอาจไม่เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องระบบสี จันเลยจะมาอธิบายให้ฟังกันนะ เครื่องพิมพ์ในโรงพิมพ์ทั่วไปจะใช้หมึก 4 สี CMYK เขาจะพิมพ์ทับตำแหน่งเดียวกัน เพื่อให้ได้ออกมาเป็นสีที่เราต้องการ ดังนั้นการพิมพ์สี่สีจึงหมายถึงแม่สีทั้งสี่และทุกสีที่ CMYK สามารถผสมออกมาได้ สองสีคือสองสีที่เราเลือกและสีที่สองสีนี้สามารถผสมออกมาได้ หนึ่งสีคือการพิมพ์สีใดสีหนึ่ง แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาไม่รวมสีขาว (สีของกระดาษ) นะคะ
.
ลองดูรูปนี้อาจจะเข้าใจวิธีพิมพ์มากขึ้นนะ
(คลิกที่รูปเพื่อดูภาพใหญ่ค่ะ)
.
ดังนั้นเวลาพิมพ์ก็จะใช้เพลท 4 ชิ้น พิมพ์ทับกัน 4 ครั้ง เพื่อให้ได้สีที่ต้องการ โอกาสที่เครื่องพิมพ์จะวางเพลทแล้วไม่ตรงกัน เหลื่อมกัน มีสูงมาก สิ่งที่นักออกแบบจะต้องพยายามจำกัดคือ ข้อความที่เป็นตัวอักษรเล็กๆ บางๆ ควรใช้สีใดสีหนึ่ง และ สีของพื้นที่ปูรองตัวอักษรเล็กๆ ก็ไม่ควรเกินสองสี การออกแบบโลโก้ก็เช่นกัน ไม่ควรจะเกินสองสี ไม่อย่างนั้นเวลาพิมพ์อาจจะโลโก้เล็กๆ อาจจะอ่านไม่ออกได้ และข้อแนะนำเล็กน้อยสำหรับการออกแบบโลโก้ คือ พยายามออกแบบในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ด้านยาวยาวกว่าด้านกว้างเล็กน้อยจะดีที่สุด เพราะรูปทรงที่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ยาวมาก หรือ การออกแบบโลโก้เป็นแนวตั้ง จะเสียเปรียบเรื่องพื้นท่ี เวลาจัดโลโก้เยอะๆ ที่เรียงต่อกัน โลโก้แบบอื่นๆ จะออกมาดูเล็กกว่าโลโก้ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่แนะนำไป
.
อีกเรื่องคือเวลาส่งไฟล์ให้ Create Outline และ Embed รูปก่อนส่งพิมพ์เสมอค่ะ ไม่อย่างนั้นตัวอักษรที่คุณบรรจงคัดสรรมาอาจจะอ่านไม่ออก หรือกลายเป็นภาษาต่างดาวได้นะ
.
เดี๋ยวครั้งหน้าจะมาแนะนำวิธีการกะจำนวนหน้าให้คุ้มค่าสำหรับการพิมพ์หนังสือเล่มนะคะ
พบกันใหม่ตอนหน้าค่า
*********************
ทั้งหมดเป็นการเขียนและวาดโดยจันเองใครจะก๊อปไปไว้ไหน
เครดิต www.nuchun.com ด้วยนะคะ
ขอบคุณค่า