ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา คุณยายของจันเสียชีวิต เมื่ออายุได้ 86 ปีค่ะ คุณยายของจันเป็นเจ้าของคลินิกรักษาสิว เสริม-เพ็ญจันทร์การแพทย์ ตรงจตุจักรที่เปิดมาประมาณ 50 ปีได้แล้ว (เปิดสาขาแรกตั้งแต่ปีพ.ศ. 2505 อ่ะนะ) คุณยายก็ทำงานจนกระทั่งถึงช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตค่ะ หลายคนอาจจะงงว่า อ้าว…แล้วมันเกี่ยวอะไรกับเรื่องสิ่งพิมพ์ ประเด็นมันอยู่ที่ว่าหลานสาวหัวดื้อคนนี้ต้องมาจัดอาร์ทเวิร์คหนังสืองานศพนี่ไงล่ะคะ
ปกติเวลาอยู่ที่ทำงานจันจะทำโฆษณาในหนังสือพิมพ์เป็นหลัก ไม่ได้ทำเล่ม Supplement ส่วนงานพิเศษที่รับมาก็จะเป็นจัดตำราขาวดำเป็นส่วนใหญ่ หนังสืองานศพเล่มนี้จึงเป็นเล่มแรกที่จันได้จัดหนังสือที่เป็นสี่สี และ ต้องมานั่งควบคุมค่าใช้จ่ายกับติดต่อโรงพิมพ์เป็นครั้งแรกในชีวิต
แต่ด้วยความที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวเกี่ยวกับราคา หรือ หลักการควบคุมค่าใช้จ่ายในการพิมพ์มากนัก เลยต้องถามรุ่นพี่ที่แผนก และได้ความรู้มาอีกมากทีเดียว
ช่วงแรกที่จันจัดหน้าหนังสือเล่มนี้ จันปวดหัวเกี่ยวกับเรื่องจำนวนหน้าเป็นอย่างมาก เพราะหนังสือเล่มนี้ต้องรวมกับหนังสือวิทยาทานซึ่งก็มีประมาณ 200 หน้าได้ เพราะอย่างนั้นที่บ้านจึงคุยกันว่าส่วนของประวัติคุณยายก็ไม่น่าจะเกิน 70 หน้าน่าจะโอเค แต่จันก็แอบคิดว่า เอ้ย 70 หน้าเองเหรอ น้อยไปหน่อยหรือเปล่า อะไรทำนองนี้ แต่เมื่อที่บ้านเห็นว่าเหมาะสมแบบนั้น ก็เลยต้องทำตามนั้นไป
หลังจากนั้นจันเอาไปปรึกษารุ่นพี่ รุ่นพี่ก็คำนวณให้อย่างดี บอกว่า เนี่ยถ้าหนูชุน (ที่ทำงานเรียกจันว่าหนูชุนตามชื่อภาษาอังกฤษค่ะ) อยากจะประหยัด ต้องทำจำนวนหน้าให้ลงยกพอดี แล้วจะไม่เสียค่าเพลท (แม่พิมพ์) และกระดาษไปเปล่าๆ เลย
เท่าที่จันเข้าใจนะคะ ยก ก็คือ จำนวนหน้าที่พิมพ์ได้ในกระดาษหนึ่งแผ่นใหญ่ ก่อนที่จะตัดเป็นหน้าๆ ตามขนาดที่เราต้องการ เช่น ถ้าเขาบอกว่า 1 ยก มี 16 หน้า แสดงว่าบนกระดาษแผ่นยักษ์ที่เอาเข้าแท่นพิมพ์เนี่ย 1 แผ่นพิมพ์ได้ 16 หน้า และใช้หนึ่งเพลท ถ้าหนังสือเรามี 70 หน้า ก็คือ ห้ายก (เหลือพื้นที่เสียเปล่าประมาณ 10 หน้า) ใช้เพลท 5 แบบ (ตามจำนวนยก) จำนวนหน้าใน 1 ยกจะกำหนดตามขนาดของหนังสือค่ะ ถ้าหนังสือใหญ่ จำนวนหน้าก็ลดลงไป เพลทที่ต้องใช้ก็จะเยอะขึ้น แต่ถ้าขนาด A5 (ครึ่งของ A4) ก็จะเป็น ยกละ 16 หน้าค่ะ
พี่ที่ทำงานแนะนำมาว่าเราควรกำหนดจำนวนหน้าให้หารแล้วลงตัวกับจำนวนหน้าในหนึ่งยก เช่น ถ้ายกละ 16 หน้า ก็ควรจะกำหนดจำนวนหน้าเป็น 16, 32, 48, 64, 80 แบบนี้ เพื่อไม่ให้เสียพื้นที่เพลทและกระดาษค่ะ ถ้าเพิ่มก็เพิ่มเป็นยก ลดเป็นยก แบบนี้จะคุ้มสุด
จำนวนหน้าสีที่แทรกในเล่มก็เช่นเดียวกันค่ะ ต้องเพิ่มหรือลดเป็นยกเหมือนกัน หน้าสี่สีจะใช้เพลท สี่ แบบ (เพลทละสี) หนึ่งชุด พิมพ์ได้ 16 หน้าตามจำนวนยก ราคาตกชุดละ 4500 บาทค่ะ ตอนแรกก็ทำหน้าสีไปให้แบบกระโดดๆ แบบตามใจฉัน อยากได้หน้าสีหน้าไหนก็ทำเป็นสี กระโดดไปกระโดดมาให้ครบตามจำนวนหน้ายก แต่พอโทรไปถามโรงพิมพ์ เขาบอกว่า หน้าหลังของหน้าสีจะคิดเป็นสีเช่นเดียวกัน ไม่ว่าเราจะทำเป็นขาวดำหรือสีมาก็ตาม ดังนั้นเวลาทำหน้าสีต้องทำเป็นสีทั้งหน้าและหลังค่ะ สมมติถ้าจันปูรูปสีเป็นหน้าคู่ หน้าก่อนหน้า กับหน้าหลังจากนั้นจันก็ต้องทำเป็นหน้าสีเช่นกัน
ถกกันต่อไปเรื่องจำนวน คุยกับพี่เขาว่าควรจะทำสักกี่เล่มก็ได้คำตอบว่า 1000 เล่ม เพราะอุปกรณ์อย่างเพลทนั้นทำมาสำหรับพิมพ์จำนวน 1000 เล่ม ถ้าพิมพ์น้อยกว่านี้ ราคาหารต่อเล่มจะสูงกว่า ส่วนต่างต่อเล่มจะไม่มาก ระหว่างพิมพ์ 1000 เล่มกับพิมพ์น้อยกว่านั้น สุดท้ายพี่เขาบอกว่า เผื่อเหลือดีกว่าขาด ถ้าเหลือก็ยังเก็บไว้แจกคนอื่นได้
อีกเรื่องที่สงสัยก็คือจะส่งไฟล์ให้โรงพิมพ์ยังไง เราทำเป็น indesign ไป แต่มันเยอะมากๆ มานั่ง create outline ทีละหน้าก็คงไม่ไหว ได้คำตอบมาว่าให้ส่งเป็น packages แล้วไรท์ไป เหมือนที่เราส่งงานเล่มในบริษัทก็ใช้วิธีนี้เหมือนกัน และอีกข้อที่อยากเตือนคือควรใช้โปรแกรม CS ต่ำๆ อย่าง CS2 หรือ 3 จะดีที่สุด เพราะโรงพิมพ์ส่วนมากจะไม่ได้เปลี่ยนเวอร์ชั่นทุกครั้งที่ออกใหม่ เพราะต้องใช้ของแท้ มีค่าใช้จ่ายเยอะ
สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จากงานนี้อย่างหนึ่งคือการทำงานกับคนในครอบครัวเป็นเรื่องยากค่ะ เพราะว่าเขาไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร เราจึงต้องอธิบายทีละขั้น ทีละตอน ทำงานกันไม่เป็น และโรคอิดออด หยวนๆ ก็เยอะ ทำให้บางครั้งงานก็ไม่เสร็จได้ดั่งใจหมาย อีกอย่างคือเรื่องเยอะเป็นพิเศษเพราะถือเป็นคนกันเอง แต่จันคงต้องถือว่าจันได้เรียนรู้ลูกค้าอีกแบบหนึ่งว่าเป็นอย่างไร แม้ว่าข้อเสียของพวกเขาเหล่านี้จะทำให้จันเคืองอยู่ไม่น้อยเลย
ครั้งหน้าจันจะมาเล่าให้ฟังเรื่องการพูดคุยงานที่ต่างจังหวัดกันบ้างค่ะ
*********************
ทั้งหมดเป็นการเขียนและวาดโดยจันเองใครจะก๊อปไปไว้ไหน
เครดิต www.nuchun.com ด้วยนะคะ
ขอบคุณค่า
– แอดหนูจัน – บล็อกเกอร์ตัวกลม อารมณ์ดีที่ชอบหาอะไรทำสนุกๆ ภายในบ้าน รักการเขียน การอ่าน การวาดรูป และการทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองเป็นชีวิตจิตใจ หลงใหลในมนต์เสน่ห์ของเครื่องเขียน อุปกรณ์งานฝีมือและอุปกรณ์ศิลปะ Craft it Myself • Draw my Life • Create my World