Nuchun's Atelier

บล็อกรีวิวเครื่องเขียน l สีมาร์คเกอร์ l อุปกรณ์วาดรูป พร้อมวิธีทำงานประดิษฐ์สนุกๆ ที่ทำได้ที่บ้าน

Keshigomu Hanko : วาดแบบลงยางลบ ตอนที่ 4

มาต่อการทำตรายางจากยางลบค่า

เมื่อเราได้รูปที่เราต้องการแล้วให้เราเตรียมยางลบของเรา ที่ย้ำให้ใช้ยางลบสีอ่อนๆ ก็เพื่อให้เราสามารถเห็นเส้นที่เราจะเขียนลงไปได้นะคะ เรื่องสำคัญอีกเรื่องคือให้เช็คดูผิวของยางลบให้ดีค่ะ เราจะต้องวาดด้านที่มีผิวเรียบ อย่างในรูปนี้ใช้ไม่ได้ค่ะ เพราะส่วนที่นูนอาจทำให้สีของตราปั้มออกมาไม่สม่ำเสมอค่ะ

เลือกด้านเรียบๆ ในการแกะ ถึงจะมีการพิมพ์ตัวอักษรลงไป ก็ไม่ได้มีผลอะไรต่อตราปั้ม (ตราบใดที่มันไม่นูนขึ้นมาอ่ะนะคะ)

ดังนั้นจันจะใช้ด้านนี้แทน

ก่อนที่จะวาดลงไปให้ผสมสีน้ำกับน้ำแล้วแช่ยางลบก่อนค่ะ จะเป็นสีที่ชอบหรือสีอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่สีของยางลบ

หรือถ้าอยากให้สีเข้มหน่อย ก็ใช้ inkpad แทนสีน้ำเลยค่ะ แล้วใช้ฟองน้ำเช็ดออก สีจะติดดี แต่อย่าใช้สีเข้มๆอย่างสีดำหรือสีน้ำเงินนะคะ เดี๋ยวไม่เห็นลายเส้นปากกานะ

(อันนี้จันทำผิดขั้นตอนค่ะ คิดซะว่ายางลบนั้นยังไม่ได้แกะละกันนะคะ = =”)

(สีน้ำที่บ้านไม่มีใช้หมึกพู่กันจีนไปก่อนละกัน = =”)

เอาด้านที่จะแกะไปแช่สีซะหน่อย

จากนั้นเอาฟองน้ำมาซับน้ำออก ที่ต้องทำอย่างนี้เพื่อให้เราเห็นลายที่แกะได้ชัดเจนนั่นเองค่ะ เวลาแกะเราจะเห็นเลยว่าเวลาสแตมป์ออกมาจะเป็นยังไง

Credit : 消しゴムでフランスはんこ

หลังจากนั้นเอากระดาษคาร์บอนมาวางให้ด้านที่มีหมึก (ด้านที่ไม่มีลายยี่ห้อ จับแล้วเลอะมือ) คว่ำลงบนยางลบ จากนั้นเอาภาพที่ต้องการวางทับอีกที ถ้าเป็นภาพจากกระดาษลอกลายอย่าลืมคว่ำด้านที่เราวาดลงนะคะ จากนั้นลากเส้นตามรูป แล้วหมึกจะกลายเป็นรูปอยู่บนยางลบของเรา

ส่วนใครที่วาดสด ให้ใช้ปากกาที่หัวใหญ่นิดนึง เพื่อให้ทำได้ง่าย (เส้นเล็กทำยากค่ะ) วาดสดลงไปโดยตรงได้เลย แต่ว่าผลที่ได้จะกลับซ้ายเป็นขวา ก็ขอให้ระวังกันด้วยนะคะ !!

ก็วาดลงไปให้เรียบร้อย อย่าลืมแรเงาส่วนที่เป็นสีทึบได้ด้วย จะได้ไม่เผลอไปแกะเข้า

การแกะคือแกะเฉพาะส่วนที่ต้องการให้เป็นสีขาวออก ส่วนที่ต้องการให้เป็นสีหมึกปั้มก็ไม่ต้องแกะ

หลักการแกะคือ แกะจากรอบนอกก่อนและเอียงปลายมีดให้ออกจากเส้นเสมอ

(Credit : หนังสือ 消しゴムはんこのかわいい図案集)

เมื่อเราตัดยางลบออกมาดู ส่วนที่เราแกะออกไปควรเป็นลักษณะเหมือนภูเขาค่ะ ก็คือ รอยมีดเฉียงออกจากเส้นเสมอ นั่นเอง


(Credit : หนังสือ 消しゴムはんこのかわいい図案集)

การทำแบบนี้จะทำให้ส่วนที่นูนติดอยู่กับตัวยางลบได้ดีค่ะ ไม่ขาดง่าย

การแกะในหนังสือเขาบอกว่าให้จับยางลบขึ้นมาแล้วค่อยแกะ แต่จันไม่ถนัด ดังนั้นอันนี้แล้วแต่แต่ละคนละกันค่ะ ถ้าลองแกะกับโต๊ะแล้วถนัดกว่าก็ทำแบบนั้นแล้วกัน

Credit : レトロかわいい消しゴムはんこ。

การแกะให้เราพยายามให้มือที่จับมีดอยู่นิ่งที่สุด และใช้การเคลื่อนยางลบเพื่อให้ดัดตามส่วนที่เราต้องการแทนค่ะ


Credit : レトロかわいい消しゴムはんこ。

การหมุนยางลบจะทำให้ได้เส้นเรียบเนียนมากกว่า และจะผิดพลาดได้น้อยกว่าการใช้มือที่ถือมีดในการควบคุมทิศทาง

ส่วนแรกที่เราจะทำก็คือเส้นรอบนอกทั้งหมด กรีดโดยใช้เทคนิคที่บอกไปข้างต้นค่ะ เสร็จแล้วกรีดรอบนอกออกให้หมด พยายามกรีดเป็นเส้นขนานไปเรื่อยๆ จนหมดพื้นที่รอบนอก หรือจะตัดด้านนอกอย่างหยาบๆ ไปเลยก็ได้เหมือนกันค่ะ เอาแค่ให้มันไม่นูนจนเท่าที่เราต้องการจะปั้มน่ะค่ะ

หลังจากนั้นค่อยมากรีดด้านใน อย่าลืมว่าให้ปลายมีดหันออกนอกเส้นเสมอ

เวลาทำให้เป่าเศษออกจากตรายางของเราบ่อยๆ หรือถ้าเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ให้ใช้ปากคีบคีบออก

พอแกะหมดก็เป็อันเสร็จค่ะ

อันนี้ลองปั้มแต่ใช้หมึกพู่กันจีนเอา ประหลาดไปอีกแบบค่ะ

ส่วนอันนี้ใช้หมึกแบบสำหรับตรายางเลย

เพื่อนสามารถนำตรายางนี้ไปปั้มใน Scrapbook จดหมาย การ์ดอวยพร หรือจะใช้ตกแต่งพวกงานผ้าก็เป็นที่นิยมเหมือนกันค่ะ

อุปกรณ์หาไม่ยาก ลงทุนไม่มากมาย อยากให้เอาไปลองทำสนุกๆ กันค่ะ ^^

ขอบคุณสำหรับการติดตามค่ะ !

*********************
ทั้งหมดเป็นการเขียนและวาดโดยจันเองใครจะก๊อปไปไว้ไหน
เครดิต www.nuchun.com ด้วยนะคะ
ขอบคุณค่า