Nuchun's Atelier

บล็อกรีวิวเครื่องเขียน l สีมาร์คเกอร์ l อุปกรณ์วาดรูป พร้อมวิธีทำงานประดิษฐ์สนุกๆ ที่ทำได้ที่บ้าน

Experience เก็บมาเล่า : ตอนที่ 2 : จดกันเข้าไป (ต่อ)

มาต่อเทคนิคการจด lecture นะคะ

5. ทำหัวข้อใหญ่หัวข้อย่อยเหมือนสารบัญ รวมไว้ในหน้าคู่ แล้วเราจะเห็นโครงสร้างของเนื้อหาทั้งหมด

ว่ากันว่าถ้าหากท่องหนังสือไม่ทันให้ลองท่องสารบัญ เพราะสารบัญจะทำให้เห็นลำดับความคิดของเนื้อหาและบางครั้งเพียงชื่อหัวข้อก็ เพียงพอแล้วที่จะทำให้เราเห็นเนื้อหาคร่าวๆ อย่างอาจารย์บางคนตรวจรายงานเด็กหรือวิทยานิพนธ์โดยเช็คจากสารบัญ ดังนั้นการจดเพื่อจำก็สามารถใช้วิธีนี้ได้เช่นเดียวกัน

6. ปากกาสีและปากกาเน้นข้อความ อย่าใช้พร่ำเพรื่อ


(แผ่นๆ ที่เห็นนี่เป็น filter กล้องค่ะ แฟ้มพลาสติกสามารถใช้ได้ผลอย่างเดียวกันค่ะ แต่จันไม่มีในมือตอนนี้อ่ะนะ – -“)

ปากกาสีนั้นมีข้อดีอยู่หลายอย่าง ว่ากันว่าสีต่างๆ นั้นช่วยกระตุ้นความจำและมีผลต่ออารมณ์ของคน แต่สิ่งที่จันอยากจะแนะนำคือ ไม่ควรใช้ปากกาสีจดโน้ตทั้งหมด เพราะนอกจากจะสิ้นเปลืองแล้ว ยังทำให้เราเห็นจุดที่เน้นได้ยากขึ้น นอกจากปากกาสีจะทำให้คุณเห็นจุดที่เน้นแล้ว ข้อดีอีกอย่างคือ ถ้าคุณเอาพลาสติกสีเดียวกันมาทาบ จะทำให้ข้อความนั้นหายไป เราสามารถใช้วิธีนี้ในการทบทวนได้ เหมือนข้อสอบเติมคำในช่องว่าง แต่วิธีนี้จะไม่ได้ผลหากเราใช้ปากกาสีทั้งหมดในการจดโน้ต สุดท้ายก็คือการสลับสีไปมาจะทำให้เสียสมาธิได้ ก็ควรระวังด้วย

7. หากหนังสือเรียนเป็นภาษาต่างประเทศและเป็นตัวหนังสือพรืดๆ ให้ปิดหนังสือแล้วจด lecture แยกไปเลย

เวลาที่จันเรียนจะมีบางวิชาที่หนังสือมาเป็นพรืดๆ เป็นภาษาฝรั่งเศสหมด ที่นึกออกก็มี วิชาประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส ถ้าพวกวิชาท่องจำแล้วหนังสือเป็นภาษาฝรั่งเศสแบบนี้ ขอแนะนำให้ปิดหนังสือแล้วจดตามอาจารย์ เพราะการหาแล้วจดในหนังสือจะช้าและตามไม่ทันได้

8. ทำสารบัญอย่างละเอียดหรือหาที่ขั้นเพื่อให้เปิดง่าย

ถ้าต้องการใช้ระยะยาว การทำสารบัญเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากนะคะ เพราะจะทำให้เราหาข้อมูลที่ต้องการได้ง่ายและรวดเร็วค่ะ

*-*-*-*-*-*

UPDATE 12.01.2013

9. ขีดเส้นขั้นหน้าหรือขั้นหลังประมาณ 1 นิ้ว – 2 นิ้ว เพื่อจดข้อความเตือนตัวเอง

วันนี้อาจารย์มาทำงานด้วยกันที่บ้านจัน ก็เลยมีโอกาสได้คุยเรื่องนี้เพิ่มเติมค่ะ อาจารย์บอกมาว่า การจดโน้ตควรขีดเส้นขั้นหน้าหรือขั้นหลัง (ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า bande (บอง)) ที่ต้องขีดเส้นขั้น ก็เพื่อให้เรามีพื้นที่สำหรับจดอะไรบางอย่างเตือนตัวเอง อย่างเช่น ตรงนี้ค้นเพิ่มเติมเล่มนี้ เล่มนั้น ตรงนี้จดไม่ทันให้ถามเพื่อน เป็นต้นค่ะ เหมือนเป็นการเก็บ comment ต่างๆ เกี่ยวกับเนื้อหาไว้ เพื่อให้เรานำความรู้ไปเรียนรู้ด้วยตนเองต่อได้ ดังนั้นนี่คงจะเป็นเหตุผลที่อาจารย์สอนให้เราขีดเส้นขั้นหน้าัตั้งแต่ประถมละมั้งคะ

((แต่อาจารย์บอกว่า “ตอนที่ครูเรียนที่แคนาดานะ ครูจดหน้าเว้นหน้าเลย เพื่อให้พื้นที่ bande ของครูใหญ่ๆ แล้วจดๆ โยงๆ ในนั้นเต็มไปหมด”))

*-*-*-*-*-*

นี่ก็เป็นวิธีการจด lecture และเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ค่ะ

บางคนถนัดจดในหนังสือ บางคนถนัดจดลงสมุดเป็นเรื่องเป็นราว อันนี้ก็ตามแต่ถนัดค่ะ
สำหรับจันเอง จันมักจะจดในหนังสือหรือชีทเป็นส่วนใหญ่ เพราะเวลาเราทำสรุปก็จะได้ทำรอบเดียว อ่านเบ็ดเสร็จในแหล่งเดียว
แต่ถ้าใครนิยมการอ่านแลคเชอร์โดยไม่ทำ Short note ก็ควรจะจดลงสมุดนะคะ

ส่วน การทำโน้ตย่อนั้นไม่ต่างอะไรจากหลักนี้มาก เพียงแต่เราต้องเอาข้อมูลทั้งหมดมารวมกัน ทั้งจากหนังสือ ชีท และคำบอกของอาจารย์ แหล่งข้อมูลอาจจะมากกว่านี้ก็ได้ ตามสถานการณ์ เราต้องนำข้อมูลทั้งหมดนี้มารวมกันแล้วแยกตามหัวข้อย่อย หัวข้อใหญ่ จนได้เป็นแหล่งเดียว ส่วนมากจันชอบทำลงกระดาษ A4 หน้าเดียว แล้วพับเป็น 4 ส่วนลงกระเป๋ากางเกง ไว้เผื่อๆ มีเวลาว่างจะได้หยิบมานั่งดู นั่งอ่าน
ถ้าใครขยันทำแบบนี้ใส่สมุด สมุดแยกวิชา
เล่มนี้จะสามารถเป็น Encyclopedia ส่วนตัวได้เลยนะคะ ! เก็บไว้ใช้ได้จนทำงานเลย มีค่ามากๆ เลยนะ

จันว่า การจดที่ดีและถูกต้องจะช่วยเรื่องการเรียนเป็นอย่างมากเลยนะคะ ถ้าจดได้ดี เป็นระบบ และถูกต้องจะช่วยให้จำง่ายและนำไปใช้อ้างอิงได้ จึงอยากให้น้องๆ ลองเอาเทคนิคไปใช้กันดู ถ้าใครผ่านพ้นวัยไปแล้ว ลองตั้งต้นจดประสบการณ์จากการทำงานของคุณเอง คอมเม้นท์ต่างๆ เพื่อพัฒนาตนเองก็สามารถใช้วิธีการจดแบบนี้ได้เช่นเดียวกันนะคะ

ครั้งหน้าจันจะเล่าเรื่องประสบการณ์การไป ลองงาน และ ทำงาน กันบ้าง
ถ้าใครสนใจทำงานเกี่ยวกับหนังสือก็อยากให้ติดตามกันนะคะ ^^

*********************
ทั้งหมดเป็นการเขียนและวาดโดยจันเองใครจะก๊อปไปไว้ไหน
เครดิต www.nuchun.com ด้วยนะคะ
ขอบคุณค่า