ขอเลื่อนเวลาอัพเดทบล๊อคเป็นวันเสาร์ เวลา 20.30 น. นะคะ ติดตามกันได้เด้อ
วันนี้จะมาบอกเคล็ดลับและเบื้องหลังการวาดภาพและระบายสีภาพล่าสุดค่ะ
ภาพนี้ อาจจะดูไม่ค่อยออกกันเท่าไหร่ แต่จันลองใช้เทคนิคใหม่โดยใช้วิธีการระบายสีที่ใช้กันในสีน้ำค่ะ
Credit : amazon.com
วิธีนี้ได้มาจากหนังสือ Gothic Lolita Punk: Draw Like the Hottest Japanese Artists เป็นหนังสือสอนวาดภาพสไตล์ Step by Step ของนักวาดภาพหลายคน นักวาดคนหนึ่งในเล่มนี้คือนักวาดภาพสีน้ำคนหนึ่งชื่อคุณ tama ค่ะ (http://tamaxxx.egoism.jp)
งานของคุณทามะจะดูอึมครึม แฝงความหวาน (ปนสยองเล็กๆ) เป็นนักเขียนภาพประกอบคนหนึ่งที่จันชอบมากๆ
คุณทามะรองพื้นด้วยสีก่อนระบายสีจริง ทำให้สีของทั้งรูปมีความกลมกลืนกัน ไม่มีสีใดสีหนึ่งที่โดดออกมาหรือแตกต่างกันชัดเจน และยังใช้น้ำหนักพู่กันได้มีเสน่ห์มากๆ ทีนี้จันเอามาดัดแปลงเป็นมาร์คเกอร์ยังไงลองมาดูกันนะคะ
ครั้งนี้จันใช้กระดาษการ์ด 180 แกรมวาด ผิวเวลาสแกนจะออกมาเนียนๆ ไม่เป็นคลื่นๆ เหมือนพวกกระดาษ 100 ปอนด์หรือกระดาษสีน้ำค่ะ แต่ข้อเสียคือถ้าลงสีไปเยิ้มๆ หรือลงหลายชั้น หมึกจะเลอะออกมานอกเส้นได้ค่ะ จันใช้ดินสอสีไม้ระบายน้ำสีน้ำตาลวาดภาพ ลองใช้เทคนิคการทำเส้นหนักเส้นเบาและการใช้เส้นลงสีเหมือนวิธีการวาดภาพขาวดำค่ะ
ต่อมาเป็นเทคนิคการ underpainting ค่ะ ว่ากันง่ายๆ ก็เหมือนการลงสีรองพื้นเพื่อปรับสีพื้นกระดาษขาวๆ ให้เป็นสีโทนที่เราต้องการ พอลงสีอื่นๆ ทับไป สีพื้นที่เรารองไว้จะผสมกับสีเดิม ทำให้เราไม่หลุดโทนค่ะ
สิ่งที่จันใช้ก็คือหมึกเติมมาร์คเกอร์ สีเบอร์ 0 แทนน้ำ หมึกเติมสีอื่นๆ พยายามเลือกสีที่ไม่กระทบต่อสีหลักมากนัก ไม่ควรใช้สีสดๆ (ในหนังสือใช้คำว่า High-Saturation หรือสีที่อิ่มตัวมากๆ งงอยู่ดี – -*) หมึกที่จันใช้ในงานนี้ก็เอาตามที่มีอยู่ (มีอยู่ไม่กี่หลอด 55) เน้นโทนชมพู copic R20 ส้ม copic E02 เหลือง copic Y11 ใช้พู่กันแบบมีที่ใส่น้ำในตัว (นิยมใช้ในงานสีไม้ระบายน้ำค่ะ) จริงๆ ของคุณทามะจะเลือกใช้พู่กันขนาดใหญ่เท่าที่จะหาได้ในขั้นตอนนี้ค่ะ
จันเติมเบลนเดอร์เข้าไปในพู่กัน ไม่ต้องใส่เยอะนะคะ เพราะหัวพู่กันอันนี้ไม่ค่อยประหยัดหมึกเท่าไหร่ค่ะ ค่อยๆ เติมไปดีกว่า หาจานสีพลาสติกหรือจานพลาสติกใส่อาหาร ของจันใช้นามบัตรเก่าที่เขายกเลิกไปแล้ว เพราะมันเป็นกระดาษเคลือบลามิเนทค่ะ ถ้ากระดาษธรรมดาจะซึมสีได้ ดูให้ดีๆ หรือใครจะใช้แผ่นใสก็ได้นะ หยดสีหมึกเติมลงไป แล้วเอาพู่กันจุ่มหมึกก่อนจะไล่แต้มลงกระดาษทีละจุด ลองดูส่วนหนักเบา สีอ่อนสีเข้มดีๆ นะคะ
ของจันนี่ลายพู่กันยังไม่ค่อยสวย จันว่าจันยึดติดกับการระบายลงกรอบไปนิดนึง ถ้าใจกล้ากว่านี้ โทนสีที่ได้น่าจะเห็นชัดกว่านี้
จากนั้นใช้มาร์คเกอร์ที่ใช้ปกติลงแบคกราวด์กว้างๆ บอกตามตรงว่าอยากจะหยุดมือไว้ตรงนี้เลยอ่ะค่ะ สีมันอ่อนหวานและสวยมากๆ ชอบ แต่มันไม่ได้อ่ะ ไม่เสร็จ ตามวิธีของทามะจะลงแบคกราวด์กว้างๆ ทั่วภาพ จริงๆ จันควรจะลงสีด้านล่างด้วย แต่เพราะยังคิดไม่ออก ณ ตอนนั้นเลยเว้นไว้ก่อน
ใช้มาร์คเกอร์ลงสีจัดๆ ตามรายละเอียดต่างๆ แต่ก็ยังคิดไม่ออกอยู่ดีว่าข้างล่างจะระบายสีอะไรเลยเว้นไว้อีก
ลงไปได้ส่วนนึงจันก็เริ่มเอาปากกาขาวมาระบาย ซึ่งจริงๆ มันควรจะลงสุดท้าย แต่จันใจร้อน เลยลงไปพร้อมๆ กันเลย
ระบายต่อไป ~~☆ จะเห็นว่าหลายๆ จุดในภาพมีสีออกส้มๆ ชมพูๆ แซมอยู่ เห็นกันไหมนะ?
จนเสร็จ จันใช้ปากกาสีทองสองสามจุดของภาพด้วย (จริงๆ คือผิดหวังนิดหน่อยตรงนี้ มันดูไม่ค่อยเข้าเท่าไหร่ 555)
ใครที่มีหมึกเติมโคปิคอยู่บ้างก็ลองใช้เทคนิคนี้ดูนะคะ สนุกไปอีกแบบนึง อยากให้ลองกันค่า
*********************
ทั้งหมดเป็นการเขียนและวาดโดยจันเองใครจะก๊อปไปไว้ไหน
เครดิต www.nuchun.com ด้วยนะคะ
ขอบคุณค่า
– แอดหนูจัน – บล็อกเกอร์ตัวกลม อารมณ์ดีที่ชอบหาอะไรทำสนุกๆ ภายในบ้าน รักการเขียน การอ่าน การวาดรูป และการทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองเป็นชีวิตจิตใจ หลงใหลในมนต์เสน่ห์ของเครื่องเขียน อุปกรณ์งานฝีมือและอุปกรณ์ศิลปะ Craft it Myself • Draw my Life • Create my World