Nuchun's Atelier

บล็อกรีวิวเครื่องเขียน l สีมาร์คเกอร์ l อุปกรณ์วาดรูป พร้อมวิธีทำงานประดิษฐ์สนุกๆ ที่ทำได้ที่บ้าน

[Character Design] ตอนต้น : บทเรียนการสร้างตัวละครฉบับ nuchun

ดอยู่นานว่าจะเอาเรื่องอะไรมาเขียนลงบล็อกดี สุดท้ายก็นึกถึงการจัดเวิร์คชอปเกี่ยวกับ Character Design เมื่อปีก่อน ที่ความจริงแล้ว ครั้งนั้นจันไปเป็นวิทยากรช่วยเพื่อนๆ ที่เคยเรียนปริญญาโทด้วยกันค่ะ (แต่จันลาออกมาหลังจบเทอม 1 น่ะ) เพราะเขาต้องจัดเวิร์คชอปส่งอาจารย์ เลยได้มีเวิร์คชอปเล็กๆ เป็นของตัวเองครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ค่ะ ถึงจะผ่านไปนานมากแล้ว แต่ก็ไม่อยากให้ความรู้ที่อุตส่าห์ทำการบ้านมาอยู่เฉยๆ จึงจะบันทึกเรื่องนี้ไว้ซะหน่อยก็แล้วกัน

ครั้งแรกที่จันได้รู้จัก Character Design คือประมาณม.3 ค่ะ ตอนนั้นอาจารย์ที่โรงเรียนส่งไปอบรมเกี่ยวกับการทำ 3D พร้อมกับรุ่นพี่อีกจำนวนหนึ่ง วันนั้นวิทยากรบอกว่าให้ลองออกแบบตัวละครขึ้นมาบนกระดาษ จันวาดรูปผู้หญิงคนหนึ่งสุดฝีมือที่มีตอนนั้น เขียนชื่อตัวละครด้วยชื่อแบบญี่ปุ่น (เพราะตอนนั้นบ้าการ์ตูนญี่ปุ่นมาก) แล้ววางดินสอ เมื่อวิทยากรเลือกผลงานขึ้นมานำเสนอ เขาเลือกงานของรุ่นพี่ที่โรงเรียนซึ่งเป็นคนวาดรูปเก่งมากให้ออกมาเล่าเกี่ยวกับตัวละครค่ะ บนกระดาษของรุ่นพี่คนนั้นมีรูปเด็กผู้ชายคนหนึ่งลายเส้นสไตล์การ์ตูนญี่ปุ่น สวมเสื้อยืด กางเกงขาสั้น ใส่หมวกกัปตันฮุกที่ใหญ่เกินตัว มีกล้องส่องทางไกลคล้องคอและแผนที่ในมือ รุ่นพี่เล่าถึงเด็กชายที่ไม่มีแม้แต่ชื่อว่า “เป็นเด็กผู้ชายที่ชอบผจญภัยค่ะ ความฝันของเด็กคนนี้คือการล่าขุมสมบัติแบบในนิทานก็เลยมีถือแผนที่และคล้องกล้องส่องทางไกลไว้ที่คอ” ตอนนั้นเองที่ทำให้จันเข้าใจว่าการออกแบบตัวละครกับการวาดตัวละครเป็นคนละเรื่องกัน

Character Design คืออะไร

ถ้าพูดให้เห็นภาพก็คือการสร้างสิ่งมีชีวิตเหมือนตัวเองเป็นพระเจ้าค่ะ เราจะต้องสร้างหน้าตา รูปร่าง ลักษณะท่าทาง สีสัน รวมถึงเรื่องราวของตัวละคร โดยส่วนใหญ่จะแสดงลักษณะออกมาให้เห็นชัดเจนและไปทางเดียวกัน ชนิดที่ว่าพอเห็นปุ๊บก็รู้ได้ทันทีว่านิสัยยังไง ผ่านอะไรมา หรืออย่างน้อยก็ทำให้เราสงสัยถึงที่มาที่ไปของสิ่งที่ปรากฏอยู่บนตัวละคร การสร้างตัวละคร ไม่ใช่แค่คน สัตว์ สิ่งของ หรือเป็นแค่ตัวการ์ตูนเท่านั้น แต่อาจเป็นภาพลักษณ์ของบุคคลจริงก็ได้ หรือเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม มาทำเป็นรูปธรรมก็ได้ สามารถสร้างได้หลากหลาย แล้วแต่จินตนาการ

Credit : Kyary Pamyu Pamyu and Stains // SUNSTAR ORA2

พวกเราทำความรู้จักคนอื่นได้อย่างไรกันนะ? ดูจากเสื้อผ้า หน้า ผม เบ้าหน้ากลมเกินมนุษย์ กระเป๋า รองเท้า ท่าเดิน คำพูดติดปาก วีรกรรมพิลึกพิลั่น หรือปริมาณอาหารที่กินได้อย่างน่าทึ่ง หลักการของ Character Design นั้นก็เหมือน “รูปร่าง นิสัย เรื่องราว และเอกลักษณ์” เหล่านี้แหละค่ะ เพียงแต่แทนที่เราจะแสดงหรือกระทำออกมาอย่างเป็นธรรมชาติเพราะปัจจัยหลายๆ อย่างที่หล่อหลอมให้เป็นตัวตนของมนุษย์คนหนึ่ง แต่เราต้องสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาจากที่ไม่มีอะไรเลย เหมือนเราค่อยๆ คิดย้อนกลับไป ไม่ว่าจะเป็นละคร นิยาย ภาพลักษณ์ของดารา ก็ใช้หลักการเดียวกัน เพียงแต่อาจจะเปลี่ยนการสื่อสารจากวาดภาพมาเป็นผ่านตัวอักษร หรือการใช้เสื้อผ้าหน้าผมเท่านั้นเอง พอคิดแบบนี้แล้ว เห็นไหมล่ะว่า Character Design ใกล้ตัวกว่าที่คิดเยอะเลย

ลักษณะของการออกแบบตัวละคร

ตัวละครสำหรับเป็นมาสคอตบริษัท/สินค้า

  • เป้าหมายหลักคือเป็น ตัวแทนบริษัท สินค้า หรือบริการ ในการสื่อสารกับลูกค้า
  • มักมีรูปแบบ น่ารัก เป็นมิตร เสริมภาพลักษณ์ที่ดีแก่บริษัท/สินค้า
  • อาจเกี่ยวโยงกับโลโก้ ผลิตภัณฑ์ บริการหลัก หรือสิ่งที่เป็นที่จดจำของบริษัท
  • ไม่จำเป็นต้องมีเรื่องราว ที่มาที่ไปมากนัก อาจมีแค่ชื่อก็ได้
  • สามารถต่อยอดนำมาทำสินค้าต่างๆ หรือประกอบบรรจุภัณฑ์ได้


Credit : Godji // PTT (เริ่มมาจากก๊อตซิล่าที่เคยใช้ในโฆษณาปตท. ที่ดังมากเมื่อหลายปีก่อน)

 

Credit : enotan / ja nakanoshi (ตัวละครที่ใช้สำหรับผลิตภัณฑ์เห็ดประเภทต่างๆ)

ตัวละครสำหรับผลิตสินค้า

  • เป้าหมายหลักคือ เพื่อผลิตสินค้าออกมาขาย
  • มักมีรูปแบบ ที่โดนใจคนทั่วไปได้ง่าย โดดเด่นด้านหนึ่งๆ สวยงาม น่ารัก ประณีต 
  • ไม่จำเป็นต้องมีภาพลักษณ์ที่ดีก็ได้ เช่น ตัวละครขี้เกียจ หรือกวนโอ้ย เพื่อสร้างความรู้สึกร่วมกับตัวละครได้ดีขึ้น
  • เรื่องราวหรือประวัติอาจมีอยู่บ้าง แต่มี ธีมเป็นเอกลักษณ์ เช่น การใช้โทนสี
  • Character ต้องเปลี่ยนให้เข้ากับฤดูกาลหรือเทศกาลต่างๆ ได้ง่าย

Credit : Hello Kitty // Sanrio

Credit : Gudetama // Sanrio

Credit : Koala March // Lotte

ตัวละครสำหรับเรื่องราว

  • เป้าหมายหลักคือ เป็นส่วนประกอบของเรื่องราวหนึ่งๆ
  • มักมีรูปแบบ ตามแต่เนื้อเรื่องจะกำหนด
  • “ทุกสิ่งที่ปรากฏบนตัวละคร จะต้องมีที่มาที่ไป ภูมิหลัง หรือสาเหตุเสมอ”
  • สิ่งสำคัญคือ ทำให้เกิดอารมณ์ร่วมได้ สมจริง ทำให้คนเชื่อ มีเหตุและผล แม้จะไม่ใช่ความจริง ตัวละครนั้นจะต้องเข้าใจได้ เป็นที่ชื่นชอบ เกลียด หรือสร้างความเห็นใจได้ เพราะอาจคล้ายคลึงตัวเราหรือประสบการณ์จริง ถ้ามีบางสิ่งบางอย่างที่ตัวละครนั้นเชื่อมโยงกับเราได้ เราก็จะเข้าใจตัวละครตัวนั้น ทำให้เกิดสิ่งที่เชื่อมโยงระหว่างเรากับตัวละคร แม้จะเป็นเพียงตัวละครในการ์ตูนก็ตามที
  • นอกจากจะปรากฏบนหนังสือและลงสื่อต่างๆ ยังรวมถึงมุกสั้นๆ ที่แชร์ใน Social Network ด้วย

Credit : Doraemon // Fujiko F. Fujio

Credit : Eatalldaysheep

บทความเพิ่มเติมที่น่าสนใจลองดูในเว็บนี้นะคะ >> บทความ Character Designhttp://wanyarat-arti3901.blogspot.com/
ตัวอย่าง Character Design >> https://characterdesignreferences.com/

เดี๋ยวครั้งหน้าจะมาบอกวิธีการคิดตัวละครแบบเป็นขั้นเป็นตอนกันค่ะ
พบกันใหม่ตอนหน้านะคะ

*********************
ทั้งหมดเป็นการเขียนและวาดโดยจันเอง
ใครจะก๊อปไปไว้ไหน เครดิต www.nuchun.com ด้วยนะคะ
ขอบคุณค่ะ