พอดีเจอการพูดคุยระหว่างไอดอลที่จันชอบ กับนักเขียนการ์ตูนเรื่อง 20th Century Boys และเรื่อง Yawara !
พออ่านแล้วรู้สึกว่าได้เห็นภาพการทำงาน อุปสรรคในการเขียนการ์ตูนเยอะดี แล้วก็ได้เห็นทัศนคติดีๆ หลายๆ อย่างก็เลยเอามาแปลให้ได้อ่านกันค่ะ
จากหนังสือ Smap Magazine วางขายเมื่อปี 2010
แปลจากฉบับแปลภาษาอังกฤษ http://elyn524.livejournal.com/11319.html
Table of Contents
การพูดคุยระหว่าง “อินากาคิ โกโร่” (นักแสดง) x “อุราซาวะ นาโอกิ” (นักเขียนการ์ตูน)
อุราซาวะ นาโอกิ (Urasawa Naoki) เกิดในปี 1960 เริ่มต้นเดบิวต์ในฐานะนักเขียนการ์ตูนปี 1983 ได้รับรางวัลของเทซึกะ โอซามุถึง 2 ครั้งจากเรื่อง Monster และ PLUTO ผลงานชิ้นโบว์แดงเรื่อง 20th Century Boys ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากและได้ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ด้วย ปัจจุบันมีผลงานเรื่อง “Billy Bat” ตีพิมพ์ลงนิตยสาร Morning รายสัปดาห์
อินากาคิ โกโร่ (Inagaki Goro) เป็นไอดอลนักร้อง นักแสดง ในวงบอยด์แบนด์ระดับชาติแห่งดินแดนปลาดิบ ชื่อวง SMAP ค่ะ นอกเหนือจากการทำงานต่างๆ ในวงการบันเทิงแล้ว ก็ยังเป็นผู้แนะนำเสน่ห์ของวัฒนธรรมการอ่านผ่านหน้าที่พิธีกรและการเขียนบทความด้วย
ความสุขของงานที่ได้วาดภาพความฝันของผู้คนอย่างต่อเนื่องคืออะไร
พวกเขาอยู่ในห้องฟังเพลงในบ้านของอาจารย์อุราซาวะ การได้พบอาจารย์อุราซาวะเป็นครั้งแรก อินากาคิ โกโร่ที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ผลงานของอาจารย์รู้สึกประหม่ามาก แต่เมื่อพวกเขาเริ่มพูดคุยเกี่ยวกับความชอบเรื่องหนังที่คล้ายคลึงกัน พวกเขาก็ถูกคอกันทันที และพูดคุยอย่างเป็นกันเองอย่างรวดเร็ว
อินากาคิ โกโร่ไปเยี่ยมบ้านและออฟฟิศของนักวาดการ์ตูนปรมาจารย์อย่าง อาจารย์อุราซาวะ นาโอกิ (Urasawa Naoki) ขณะที่ได้ยืนอยู่หน้าแหล่งกำเนิดของการ์ตูนชื่อดังและได้สัมผัสกับโลกของการ์ตูนที่ไม่เคยรู้ ทำให้โกโร่รู้สึกประทับใจและตื่นเต้นไปชั่วขณะ แม้ว่าพวกเขาทั้งสองจะทำงานในสาขาที่แตกต่างกัน แต่คุณก็ยังหาจุดที่คล้ายคลึงกันได้อย่างหนึ่ง นั่นก็คือพวกเขายังคงประสบความสำเร็จบนจุดสูงสุดของสายงานนั้นๆ
อินากาคิ : นี่เป็นครั้งแรกเลยครับที่ผมได้มาที่ทำงานของนักเขียนการ์ตูน
อุราซาวะ : ปกติ คุณคงไม่ค่อยได้มีโอกาสแบบนี้ใช่ไหมครับ ก็คุณเองก็งานยุ่งมากๆ นี่นา
อินากาคิ : ไม่หรอกครับ ผมคิดว่าอุราซาวะซังเป็นคนหนึ่งที่คงแทบไม่มีวันหยุดเลย
อุราซาวะ : ตอนนี้ ตั้งแต่ผมจับงานเฉพาะเรื่อง “Billy Bat” ที่ลงในนิตยสารการ์ตูนรายปักษ์ ผมก็ทำงานตามสปีดของตัวเองได้ครับ
อินากาคิ : ครั้งแรกที่ผมได้สัมผัสงานของอาจารย์ก็คือ เรื่อง “Yawara!” ถ้าผมจำไม่ผิดนะครับ ในช่วงเวลานั้นอาจารย์ก็ออกเรื่อง “Master Keaton” ด้วย
อุราซาวะ : นั่นเป็นช่วงกลางถึงปลายยุค ’80 ตอนนั้นผมได้ตีพิมพ์กับนิตยสารรายสัปดาห์ ในวงการหนังสือการ์ตูน ช่วงนั้นนักวาดการ์ตูนจะได้รับการยกย่องมากกว่า ถ้าได้ตีพิมพ์การ์ตูนหลายเรื่องลงในนิตยสารหลายฉบับ เป็นกระแสช่วงนั้นครับ
อินากาคิ : อย่างนี้นี่เอง
อินากาคิซังเคลิบเคลิ้มมากเมื่อเห็นต้นฉบับการ์ตูนเรื่อง “Monster” ซึ่งพบอยู่ที่เก็บของด้านหลังของสตูดิโอ “ผมจำได้ว่าได้เห็นฉากนี้ในการ์ตูน นี่เป็นสิ่งล้ำค่าเลยนะครับ ! ขอผมจับได้ไหม ในฐานะที่เป็นแฟนผลงานของอาจารย์อุราซาวะ นี่เป็นความทรงจำที่ดีของอินากาคิ”
อุราซาวะ : หนึ่งตอนที่จะลงในนิตยสารรายสัปดาห์ โดยทั่วไปผมจะใช้เวลาเขียนประมาณสามวันครึ่งครับ หากคุณเอามาคิดรวมกันทั้งหมด ผมจะเขียนราวๆ เดือนละ 130 หน้า ผมดำเนินชีวิตอย่างนั้นเรื่อยมาถึง 18 ปี กระทั่งทำให้ผมเจ็บไหล่มาก
อินากาคิ : เป็นการบาดเจ็บจากการเขียนการ์ตูนเหรอครับ !?
อุราซาวะ : อาการบาดเจ็บไม่ได้เกิดขึ้นที่มือขวาที่ผมใช้จับปากกาครับ แต่เป็นไหล่ซ้ายเพราะผมใช้มือค้ำโต๊ะและยกไหล่อยู่ท่านั้น พอนั่งท่าเดิมนานๆ หลายปีเข้า กระดูกของผมก็เริ่มแข็ง และทำให้ไหล่ของผมเคลื่อนครับ
อินากาคิ : การเขียนการ์ตูนนี่โหดเหมือนมวยปล้ำเลยนะครับ!
อุราซาวะ : ใช่แล้วครับ หมอจัดกระดูกยังบอกเลยว่า กระดูกของผมนี่แย่พอๆ กับนักมวยปล้ำเลยครับ (หัวเราะ) และเพื่อพักไหล่ของผม ผมเลยต้องจำกัดจำนวนเรื่องที่ตีพิมพ์ครับ
อินากาคิ : อย่างนี้นี่เอง ยังไงวันนี้ ช่วยสอนผมหลายๆ อย่างเกี่ยวกับโลกของการ์ตูนด้วยนะครับ
การ์ตูนนั้นจะน่าสนใจมากกว่า หากตามอ่านจากนิตยสารรายสัปดาห์หรือเปล่า?
อุราซาวะ : อินากาคิซัง อ่านหนังสือเยอะใช่ไหมครับ
อินากาคิ : อันที่จริง ผมมักจะอ่านหนังสือมากกว่าการ์ตูนครับ แต่ถึงอย่างนั้นผมก็ชอบงานของอุราซาวะซังนะครับ ผมยังคงอ่านอยู่นะ แต่การตีพิมพ์เป็นซีรีส์ออกมานี่ต้องเป็นงานที่หนักมากแน่ๆ
อุราซาวะ : ก็… ถ้าผมไม่ตีพิมพ์ทุกสัปดาห์ ผมก็จะวาดออกมาไม่ได้เลยครับ เหมือนเวลาที่เด็กๆ ทำการบ้านนั่นล่ะครับ ถ้าไม่มีแรงกดดันว่าจะต้องทำให้ทันเส้นตาย ผมคงไม่มีแรงบันดาลใจให้เขียนออกมา (หัวเราะ) ถ้าหากว่าผมสัญญาอะไรสักอย่าง เช่น “มาเขียนการ์ตูนสำหรับตีพิมพ์ฤดูใบไม้ผลิหน้ากันเถอะ” ผมคิดว่าผมคงจับปากกาขึ้นมาวาดไม่ได้หรอกครับ
อินากาคิ : หมายความว่าคุณชอบทำให้ทันเส้นตายมากกว่าสินะครับ
อุราซาวะ : หากงานของผมไม่เส้นตายเป็นอาทิตย์ต่ออาทิตย์ คงกลายเป็นว่าผมจะกลับไปแก้อีก แล้วก็จะไม่เสร็จสักที ผมจะจับไว้อย่างนั้น ไม่ยอมทำอย่างอื่น แล้วใช้เวลายาวนานเพื่อแก้ไขทุกสิ่งทุกอย่าง ผมจะอยู่ในวงโคจรนั้นตลอดกาล และคงไม่ทำให้มันเสร็จอย่างแท้จริง ถ้าผมไม่พอใจ
อินากาคิ : เข้าใจแล้วครับ ก็คงเหมือนเวลาส่งอีเมลใช่ไหมครับ คุณเขียนอีเมลและเซฟไว้ในดราฟต์โดยยังไม่ส่งไป จากนั้นวันรุ่งขึ้นก็จะเอามาอ่านทวนแล้วเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอย่างละนิดละหน่อย พอทำแบบนั้นครั้งแล้วครั้งเล่า ข้อความก็จะเปลี่ยนไปเป็นอีกอย่างหนึ่งจากที่ตั้งใจไว้ เพราะอย่างนั้นจึงดีกว่าที่จะส่งอีเมลไปเลยทันทีหลังจากเขียนเสร็จ โดยไม่ต้องรีรอ
อุราซาวะ : ประมาณนั้นครับ (หัวเราะ)
นี่คือมุมที่อาจารย์อุราซาวะชอบ ที่ที่เขาเอาไว้เก็บกีตาร์โบราณและแผ่นเสียง อินากาคิซังตื่นเต้นมาก “นี่เป็นที่ซ่อนลับในเรื่อง 20th Century Boys อย่างแท้จริงเลยนะครับ” อุราซาวะซังพูดว่า “ผมได้ดูช่วง Tsuki Ichi ของคุณในรายการ SmaSTATION ด้วยนะครับ” อินากาคิถามกลับไปว่าอาจารย์ชอบหนังเรื่องไหน พวกเขาพูดคุยกันอย่างไม่มีแบบแผน
อินากาคิ : ผมคิดว่าเรื่องราวที่ทำงานใหญ่ขนาดนี้จะต้องวางแผนเอาไว้อย่างสมบูรณ์แบบตั้งแต่ต้นจนจบ การ์ตูนเป็นผลผลิตของแต่ละตอนที่ตีพิมพ์ในนิตยสารอย่างต่อเนื่อง ต้องเป็นโลกที่ได้รับการออกแบบและวางแผนเอาไว้ตั้งแต่ก่อนเริ่มลงมือวาดภาพอย่างแน่นอน
อุราซาวะ : ณ ชั่วขณะที่ผมตัดสินใจว่า “เอาล่ะ ครั้งนี้เรื่องราวจะเกี่ยวกับเรื่องนั้นเรื่องนี้” ในหัวของผมก็พอจะคะเนขนาดของงานได้แล้ว เช่น “ถ้าเรื่องนี้เอามารวมเล่ม น่าจะได้ออกมาราวๆ 18 เล่มนะ” จากนั้นเมื่อผมตีพิมพ์เรื่องราวในนิตยสารรายสัปดาห์ บางที ผมอาจจะเสียพลังงานมากที่สุดไปกับการตัดสินใจว่าจะตัดตรงไหนออกในแต่ละตอน เช่น “ผมต้องทำให้เป็นอย่างนี้ ตอนของอาทิตย์นี้จะได้จบลงตรงนี้”
อินากาคิ : คุณอยากปล่อยให้ผู้อ่านอยากจะติดตามต่อสินะครับ
อุราซาวะ : เพราะผู้อ่านต้องรอตลอดทั้งสัปดาห์กว่าตอนถัดไปจะออก ผมต้องทำให้แน่ใจว่าการรอคอยนั้นจะเป็นเรื่องสนุกของพวกเขาด้วย
อินากาคิ : การ์ตูนจะสนุกที่สุดหากติดตามจากนิตยสารรายสัปดาห์นะครับ แต่ขอโทษนะครับ เรื่อง “Monster” ผมไม่ได้ตามอ่านจากนิตยสารรายสัปดาห์ แต่ซื้อรวมเล่มจนครบก่อนเริ่มอ่านน่ะครับ
อุราซาวะ : ไม่หรอกครับ แค่เป็นวิธีสนุกกับการ์ตูนที่แตกต่างออกไปเท่านั้นเอง
อินากาคิ โกโร่ปรากฏอยู่ในงานของอุราซาวะซัง!?
อุราซาวะ : นี่เป็นปากกา Marupen ครับ
อินากาคิ : ปากกา Marupen คืออะไรครับ
(ปากกา Marupen เป็นปากกาเขียนการ์ตูนแบบจุ่มหมึก เส้นที่ได้จากการเขียนด้วยปากกานี้ จะวาดเส้นได้ตั้งแต่บางจนถึงหนา โดยเปลี่ยนมุมที่จรดปากกา)อินากาคิ : ผมวาดรูปไม่เก่งเอาเสียเลย
อุราซาวะ : ผมบอกได้ตั้งแต่เห็นวิธีจับปากกาแล้วล่ะครับ (หัวเราะ)
อินากาคิ : ผมได้ยินว่าเวลาที่คุณเขียนการ์ตูน คุณจะสัมภาษณ์ตัวละครทุกตัว จริงหรือเปล่าครับ
อุราซาวะ : นั่นเป็นเพราะผมอยากรู้เกี่ยวกับตัวละครทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นตัวละครหลักหรือเป็นตัวละครที่มีบทเพียงเล็กน้อย ผมอยากรู้เรื่องอย่างเช่น “ตอนเด็กๆ เป็นยังไง” ผมจะขุดลึกหาเบื้องหลังชีวิตของตัวละคร แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวหลักๆ เลยก็ตาม
อินากาคิ : ฟังดูเป็นขั้นตอนที่กินเวลามากเลยนะครับ!
อุราซาวะ : เมื่อผมทำอย่างนั้น เช่น ตัวละครที่ไม่มีบทพูด อาจกลายตัวละครที่สำคัญในเรื่องอย่างน่าประหลาดใจก็ได้ บางครั้ง ผมก็ลำบากเรื่องนี้นะครับ “เพราะทุกอย่างน่าสนใจไปหมด แต่ถ้าผมขยายเรื่องนี้ออกไป เรื่องก็จะยาวมาก…” (หัวเราะ)
อินากาคิ : เพราะอย่างนั้นงานของอุราซาวะซังถึงวาดตัวละครออกมาดูลึกซึ้ง ผมเองก็ควรสัมภาษณ์ตัวละครของผมเหมือนกัน เวลาแสดงวิธีนี้อาจช่วยขยายขอบเขตวิธีการแสดงบทบาทของผมไปได้อีก
อุราซาวะ : ถึงแม้ว่าจะไม่เกี่ยวข้องอะไรกับโครงเรื่องหลักเลย สมมติผมวาดผู้ชายที่มีบาดแผลที่หัวเข่าอย่างนี้ ก็ทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นขณะลองเดาที่มาที่ไปของบาดแผลนั้น
อินากาคิ : เข้าใจแล้วล่ะครับ ผมได้เรียนรู้จากเรื่องนี้ด้วยนะเนี่ย เพราะการแสดงสีหน้าของตัวละครของคุณจะวาดออกมาอย่างละเอียดมาก ผมใช้เป็นตัวอย่างการแสดงของผมด้วย “คนเราแสดงสีหน้าแบบนี้ เวลาอยู่ในสถานการณ์แบบนี้นี่เอง!”
เมื่ออุราซาวะซังเริ่มตัด สกรีนโทนก็กลายเป็นผมของตัวละครทันที อินากาคิซังตกใจมากที่ได้สัมผัสกับเวทมนตร์นี้
ภาพทางขวา อาจารย์อุราซาวะวาดภายใน 7 วินาที ทางซ้าย โกโร่ซังที่ล้มเลิกความตั้งใจไปกลางคันวาด
อุราซาวะ : งานของผมจัดเป็น “การ์ตูนแบบเน้นสีหน้า” ก็ได้ครับ
อินากาคิ : การ์ตูนแบบเน้นสีหน้าเหรอครับ
อุราซาวะ : คือการ์ตูนที่แสดงสีหน้าของตัวละครไปตามลำดับในแต่ละกรอบ ตอนที่ผมเริ่มเขียนการ์ตูนตอนนั้น มันไม่ใช่แนวตลาดครับ มีคนบอกว่า “อย่าเขียนการ์ตูนแบบเน้นสีหน้า” กับผมด้วย
อินากาคิ : หมายความว่า ใส่ฉากมารวมด้วยระหว่างนั้น จะดีกว่าน่ะเหรอครับ
อุราซาวะ : แน่นอนว่าถ้าผมใส่ใบหน้าของตัวละครหลักลงไป มันก็จะทื่อๆ ถ้ามีแต่ใบหน้าอยู่ข้างๆ กัน อย่างไรก็ตาม ผมกลับมองอย่างนี้ครับ “ตัวละครกำลังแสดงในกรอบหนึ่งกรอบนี้ จะเป็นไรไปหากจะมุ่งเน้นสีหน้าของพวกเขา” เพราะอย่างนั้นผมถึงท้าทายด้วยการเขียนการ์ตูนแบบเน้นสีหน้าครับ
อินากาคิ : ก็มีเหตุผลอยู่นะครับ เวลาที่ผมอ่านงานของอาจารย์ ผมรู้สึกถึงพลังของสีหน้าของตัวละครจริงๆ
อุราซาวะ : ในประวัติศาสตร์ของการ์ตูน มีเพียงตั้งแต่ยุค 80 เป็นต้นมา ที่การวาดภาพหน้าตรงของตัวละครเป็นที่ยอมรับ เพราะเหมือนตัวละครมองตรงมาที่กล้อง
อินากาคิ : อ๊ะ! วิธีนี้คำพูดกับสีหน้าจะตราตรึงผู้อ่านได้มากกว่า เรารู้สึกถึงพลังของตัวละครที่มองตรงมาที่กล้องโดยไม่รู้ตัว
อุราซาวะ : ที่จริง มีเหตุผลแสนง่ายดายที่เราไม่วาดหน้าตรงของตัวละครในการ์ตูนครับ นั่นก็เพราะจมูกของตัวละครการ์ตูนเป็นสิ่งที่โดดเด่นที่สุดในการ์ตูน แต่เวลาที่คุณวาดหน้าตรงของตัวละคร คุณก็จะวาดรูปร่างของจมูกให้ปรากฏไม่ได้ งั้นจะทำยังไงล่ะ แน่นอนว่าจะวาดจุดสองจุดเป็นรูจมูกไปก็ได้ แต่ภาพก็จะออกมาเหมือนจริงเกินไป ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามในวงการการ์ตูน
อินากาคิ : มีหลายเรื่องเลยนะครับที่ผู้อ่านธรรมดาอย่างเราๆ ไม่รู้เรื่องเลย
อุราซาวะ : เมื่อไหร่ที่การวาดภาพหน้าตรงแบบสมจริงได้รับการยอมรับ ตัวละครการ์ตูนพูดกับผู้อ่านโดยตรงจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เหมือนภาพยนตร์ของ โอซุ ยาสุจิโระนั่นล่ะครับ
อินากาคิ : อุราซาวะซัง ทำไมไม่ลองสร้างหนังดูล่ะครับ ผมรู้สึกสนใจที่จะได้เห็นว่าคุณจะสร้างโลกแบบไหนขึ้นมานะครับ
อุราซาวะ : ผมรู้สึกสนใจในตัวคุณอินากาคิมากกว่าครับ ตัวละครของผมหลายตัว มีลักษณะแบบอินากาคิเลยนะครับ
อินากาคิ : จริงเหรอครับ
อุราซาวะ : คุณเป็นคนที่จะหน้าแดงเมื่อเขินอาย ผมก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่าอธิบายได้ถูกต้องไหม ผมเป็นคนประเภทที่พูดว่า “นี่คือคำตอบที่ถูกต้อง” ได้ลำบากน่ะครับ ผมคิดว่าอินากาคิซังเป็นคนแบบที่คิดสิ่งต่างๆ อย่างละเอียดลออในหัวของคุณ “แม้ว่านั่นจะเป็นคำตอบที่ถูกต้อง แต่ก็ไม่ใช่คำตอบเพียงคำตอบเดียว…” เควินในเรื่อง “Billy Bat” หรือ ดร.เทมมะในเรื่อง Monster เป็นตัวอย่างของตัวละครแบบอินากาคิที่ดีที่สุดเลยครับ
อินากาคิ : ผมคิดว่าตุณพูดถูกที่ผมเป็นคนคิดสิ่งต่างๆ ในหลายๆ ด้านนะครับ วิถีชีวิตของผมนั้นยุ่งเหยิงไปกับสิ่งที่แตกต่างๆ กันหลายอย่างในชีวิตประจำวันของผม (หัวเราะ) แต่ผมประทับใจมากเลยที่ได้ยินว่าผมมีส่วนเหมือนกับตัวละครของอาจารย์อุราซาวะนะครับ!
อุราซาวะ : คุณอยู่วง SMAP มาตั้งแต่คุณยังเด็กแล้วใช่ไหมครับ ผมอยากรู้มากเลยล่ะว่าคุณมีชีวิตแบบไหน
อินากาคิ : เดี๋ยวนะครับ นี่คุณจะสัมภาษณ์ผมเหมือนที่ทำกับตัวละครเหรอครับ (หัวเราะ)
อุราซาวะ : ในเมื่อคุณเป็นดาราดัง คุณคงเดินอยู่บนเส้นทางชีวิตที่พวกเราไม่อาจจินตนาการออกน่ะครับ
อินากาคิ : เพราะผมอยู่วง SMAP มาตั้งแต่อายุ 14 คุณพูดได้เลยครับว่าผมใช้ชีวิตมาเกือบทั้งชีวิตในฐานะสมาชิกวง SMAP
อุราซาวะ : บางครั้ง คุณไม่กลับไปเป็นอินากาคิ โกโร่ในฐานะที่ไม่ใช่ SMAP บ้างเหรอครับ
อินากาคิ : ทำครับๆ เวลาที่ผมไม่ได้ทำงาน ผมก็เป็นเพียงคนธรรมดา เมื่อผมอยู่บนเส้นทางนี้ คนนอกจะมองผมในฐานะ “อินากาคิ โกโร่ วง SMAP” ครับ
อุราซาวะ : ผมก็เป็นอย่างนั้นนะครับ ผมมอง “อุราซาวะ นาโอกิ ผู้ที่วาดรูปเก่ง” ในฐานะเครื่องมือวาดการ์ตูน ผมคิดว่า “หากผมได้หมอนี่มาวาดรูป การ์ตูนเรื่องนั้นคงน่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก”
อินากาคิ : ผมก็เหมือนกันครับ ผมมักรู้สึกอยู่เสมอว่า SMAP ไม่ได้เป็นของผมคนเดียว ผมไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นหนึ่งในห้าชิ้นส่วน เหมือนกับวง SMAP เป็นของใครหลายคนมากกว่าแค่เรา 5 คนเท่านั้น…
อุราซาวะ : เป็นเหมือนการส่งต่อการมีอยู่ของ SMAP สู่สาธารณชน การ์ตูนก็เป็นแบบนั้นเช่นกันครับ เราส่งมอบการ์ตูนสู่ผู้อ่านเพื่อให้อ่านได้อย่างเป็นอิสระ นั่นคือจุดประสงค์ของการเขียนการ์ตูนครับ แต่ทันทีที่คุณก้าวออกไป คุณก็จะถูกมองในฐานะ “อินากาคิ โกโร่ วง SMAP” ลำบากไหมครับ
อินากาคิ : ไม่ว่าเมื่อไหร่ เราก็เหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องเสียบปลั๊กอยู่ตลอดเวลาและพร้อมใช้งานทันทีครับ แต่ผมคิดว่าผมเป็นคนประเภทที่คนอื่นจะปล่อยให้อยู่อย่างอิสระมากกว่าครับ (หัวเราะ)
การ์ตูนกับ SMAP ทั้งสองเป็นความฝันที่มีอยู่จริง
“เพราะเรามีผู้ชม งานของเราถึงเป็นรูปเป็นร่าง”
อุราซาวะ : ในรายการ Smap x Smap จะมีพรีวิวแขกรับเชิญของอาทิตย์ถัดไปเพื่อให้ผู้ชมตั้งตาคอยรายการอาทิตย์หน้าสินะครับ เป็นความสุขที่ได้ทำงานมอบความฝันให้แก่ผู้คนหลากหลาย แต่ผมว่าพวกคุณจะต้องแบกความกดดันไว้มากมายเพื่อสิ่งนั้น
อินากาคิ : อุราซาวะซังเป็นคนหนึ่งที่ต่อสู้กับความกดดันมาหลายปี ในกรณีของผม ผมไม่ได้มีความกดดันมากนักหรอกครับ (หัวเราะ) เพราะสมาชิกวงอยู่ที่นั่นเพื่อผม แต่ผมรู้สึกดีใจที่คุณพูดถึงรายการ Smap x Smap นะครับ คุณได้ดูรายการด้วยเหรอครับ
อุราซาวะ : ผมดูครับ ผมเปิดทีวีไว้ตลอดขณะที่ผมทำงานครับ
อินากาคิ : เป็นเรื่องที่สุดยอดจริงๆ นะครับที่คุณวาดผลงานชั้นยอดเหล่านั้นภายใต้สภาวะแบบนั้น ยังมีอีกหลายเรื่องเลยครับที่ผมอยากถาม แต่เวลาไม่พอซะแล้ว
อุราซาวะ : ไว้มาอีกนะครับ
อินากาคิ : ผมมาได้เหรอครับ ตอนนี้ผมอยากเอาไปอวดเพื่อนร่วมวงจังเลย คิมุระคุงก็เป็นแฟนของอาจารย์อุราซาวะนะครับ เขาต้องอิจฉามากแน่ๆ
*********************
ทั้งหมดเป็นการเขียนและวาดโดยจันเอง
ใครจะก๊อปไปไว้ไหน เครดิต www.nuchun.com ด้วยนะคะ
ขอบคุณค่ะ
– แอดหนูจัน – บล็อกเกอร์ตัวกลม อารมณ์ดีที่ชอบหาอะไรทำสนุกๆ ภายในบ้าน รักการเขียน การอ่าน การวาดรูป และการทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองเป็นชีวิตจิตใจ หลงใหลในมนต์เสน่ห์ของเครื่องเขียน อุปกรณ์งานฝีมือและอุปกรณ์ศิลปะ Craft it Myself • Draw my Life • Create my World