[นิทานภาพ] ขั้นตอนการทำนิทานภาพสำหรับเด็ก (ฉบับมือใหม่)

จันอยากเขียนถึงสิ่งหนึ่งที่จันได้ลองทำก่อนหน้านี้ นั่นก็คือการวาดและเขียนหนังสือนิทานภาพสำหรับเด็กส่งเข้าประกวดค่ะ การประกวดครั้งนี้เป็นการจับมือกันของ TK Park กับเมืองเคมบูจิ เมืองฮอกไกโดที่ได้ชื่อว่าเมืองแห่งนิทานภาพ ณ วันที่เขียน (7 ต.ค) ผลยังไม่ออกว่าเข้ารอบหรือไม่ แต่เพราะเป็นสิ่งใหม่ที่ได้ลองทำ จึงอยากบันทึกประสบการณ์ครั้งนี้ไว้ด้วยค่ะ


Credit : kembuchi-compe.com

ตอนแรกสุดการประกวดครั้งนี้บอกว่าปิดรับผลงานวันที่ 14 กันยายน แต่คือ 12 กันยายนจันก็ไปรัสเซียแล้วอ่ะ แอบคิดว่าอยู่ในสภาพนี้อีกแล้วนะ จะไปต่างประเทศแล้วมีการแข่งขันพอดี เลยต้องรีบทำ รีบส่งจนวันสุดท้ายก่อนขึ้นเครื่อง (แต่สุดท้ายเขาก็ขยายไปถึง 30 กันยายนนะ นี่จะรีบไปทำไมเนี่ย ฮ่า)

ขุมทรัพย์นั้นมีอยู่ในหนังสือ มากยิ่งกว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่โจรสลัดปล้นมาได้
จากเกาะสมบัติกับปลายดินแดนสเปน…
และสิ่งที่ดีที่สุดคือคุณสนุกกับความร่ำรวยเหล่านี้ได้ในทุกวันของชีวิต
วอล์ต ดิสนีย์

1. สำรวจ

ลองดูรีวิวหนังสือ The Art of the Disney Golden Books จากคลิปค่ะ
Credit : Rotoscopers@youtube

จันลองดูลักษณะของหนังสือนิทานเด็กเท่าที่เคยมี ลักษณะรูปภาพมีหลากหลายแบบมากเลย อย่าง Disney Golden Books ภาพจะสวยมากๆ รายละเอียดเยอะ ที่ขายตามท้องตลาด บ้างก็เป็นแบบภาพลายเส้นง่ายๆ เน้นสีสดใส เรื่องราวก็มีหลายอย่าง เชิงสอนบ้าง เชิงเรื่องราวสนุกๆ บ้าง หรืออย่างของ Aaron Becker ที่ใช้ภาพบอกเล่าเรื่องราวอย่างเดียว ไม่มีตัวอักษร จันลองดูในหนังสือ The Art of the Disney Golden Books ซึ่งเป็นรวมภาพและเบื้องหลังของการทำหนังสือนิทานจากการ์ตูนดิสนีย์ ภาพจากบนจอที่คุ้นเคยเปลี่ยนไปเป็นภาพหลากหลายลายเส้นเลยค่ะ เป็นภาพที่แตกต่างแต่ก็ยังคงเหมือนในภาพยนตร์ จันชอบนิทานลักษณะนี้มากที่สุด เพราะจันเชื่อว่าจะปลูกฝังรสนิยมที่ดีให้เด็กๆ ได้และอยากให้เด็กๆ ที่ยังอ่านไม่ออกได้สร้างเรื่องราวของตัวเองจากที่เห็นในภาพ ดังนั้นแทนที่จะวาดภาพแบบลายเส้นง่ายๆ เน้นการสื่อเรื่องราวด้วยตัวอักษร จันจึงตั้งใจให้เป็นนิทานที่สื่อด้วยภาพเป็นหลักแทนค่ะ

Credit : The Art of the Disney Golden Books โดย Charles Solomon

ในหนังสือ The Art of the Disney Golden Books บอกอะไรหลายๆ อย่างเลย เช่น การกำหนดขนาดหนังสือเป็นขนาดเล็กๆ ถือง่าย เด็กๆ รู้สึกเป็นเจ้าของ ไม่ต้องขอพ่อแม่ให้เปิดให้ดู สีสันต้องสดใส สว่าง เนื้อเรื่องเรียบง่าย แม้จะอ่านไม่ออกก็เปิดรูปไปเรื่อยๆ ได้ จะเหมาะกับเด็กๆ ช่วงวัยก่อนเข้าโรงเรียนจนถึงอนุบาลค่ะ

ครั้งหนึ่งเคยได้คุยกับน้องคนหนึ่งที่มาปรึกษาว่ารับงานแต่งหนังสือนิทานจากสำนักพิมพ์ แต่ทำเท่าไหร่ก็ไม่ผ่าน สำนักพิมพ์บอกให้แต่งเรื่องและวาดภาพที่เสริมสร้างจินตนาการของเด็ก จันลองสังเกตเพื่อนวัยสี่ขวบระบายสี เด็กจะชอบสีสดใสมาก เลยเลือกโทนสีสดใสตามแบบที่ถนัด เมื่อตัดสินใจขนาดเล่ม (ซึ่งเอามาจากไซส์หนังสือนิทานเก่าเล่มนึงที่เคยอ่านตอนเด็กๆ) ก็เริ่มคิดถึงธีมและเขียนเรื่องราวขึ้นมาค่ะ

2. เขียนเรื่องราว

ธีมที่จันเลือกก็คือกิจกรรมที่เด็กๆ เล่นได้ โดยไม่ต้องใช้มือถือ เพราะจันเห็นเพื่อนตัวน้อย (ลูกแม่บ้านวัย 4 ขวบ เป็นเพื่อนกันค่ะ) เวลาเดินเข้ามาพร้อมมือถือ จันจะเหนื่อยกับเขามากเป็นพิเศษ เด็กจะไม่ยอมทำอะไรสักอย่าง หงุดหงิดง่าย เอาแต่ใจ แต่พอไม่มีมือถือเขาเล่นกับกระดาษได้เป็นชั่วโมงๆ วาดรูป ระบายสี ทำหมวก ทำอะไรต่อมิอะไรด้วยตัวเองได้ จันจึงคิดว่าเด็กๆ มีพรสวรรค์ที่จะ “เล่นสนุก” ได้กับทุกสิ่ง เราไม่ควรไปขวางกั้นสิ่งนั้นด้วยของเล่นเพียงอย่างเดียวค่ะ

ในเรื่องมีคุณพ่อ คุณแม่ และหนูชุนตัวน้อย (ที่แก้มไม่แหลมแล้ว ฮา) กิจกรรมจะเริ่มจากการเล่นคนเดียว (โดยมีพ่อแม่แอบดูอยู่) แล้วค่อยๆ ก้าวออกมาใช้เวลากับครอบครัว ทำให้พ่อแม่มีความสุขไปด้วย แต่พอเขียนเข้าจริงๆ กลายเป็นว่าจันรู้สึกว่าผู้ใหญ่ที่อ่านเรื่องนี้ให้เด็กฟังก็อาจจะฉุกคิดเรื่องนี้ได้เช่นกัน จันแต่งเนื้อเรื่องออกมาโดยใช้กลอนสี่ ภาษาง่ายๆ จากนั้นร่างภาพที่จะวาดค่ะ นอกจากการคิดถึงตัวอักษรที่ปรากฎแล้ว ถ้าให้ดีลองคิดถึงเวลาที่พ่อแม่เล่านิทานให้ลูกฟังด้วยก็ดีค่ะ จะมีตรงไหนที่เล่นได้บ้าง หรือทำให้พ่อแม่คุยกับลูกระหว่างอ่าน จุดนี้ก็เป็นเรื่องดีค่ะ

3. ร่างภาพ

คุณมีงานเล่าเรื่องทั้งหมดที่ต้องทำ ไม่ใช่แค่ให้เนื้อเรื่องบอกเล่าเรื่องราวอย่างเดียว
ต้องให้ภาพได้สื่อสิ่งที่อยากจะสื่อออกมา ภาพจะช่วยสื่อสิ่งที่ตัวอักษรสื่อได้ยาก
Scott Tilley Art Director ของ Disney

นี่เป็นครั้งแรกที่จันร่างภาพก่อนวาดเลยนะ! จริงๆ ก็ไม่ถึงกับร่าง เรียกว่าคิดภาพและกำหนดองค์ประกอบภาพทั้งหมดก่อนจะถูกต้องกว่าค่ะ จันเข้าใจแล้วล่ะว่าทำไมเขาต้องร่างภาพกันก่อน ความรู้สึกต่างกันมากเลย กับการวาดภาพไปเรื่อยๆ แบบที่เคยทำมา องค์ประกอบภาพดี ดูชัดเจนและจัดการได้ง่ายกว่ากันเยอะ

ส่วนที่ต้องกำหนดไว้อย่างชัดเจนเวลาวาดภาพประกอบหนังสือนิทานภาพ ก็คือบริเวณที่จะใช้ใส่เนื้อเรื่องและตำแหน่งพับครึ่งของตัวเล่มค่ะ ถ้ามาคิดกันทีหลัง ก็จะมีรายละเอียดหลายๆ อย่างที่ต้องถูกตัดออกไป แล้วขั้นตอนที่ต้องทำต่อจะเหนื่อยมากเป็นพิเศษ ต้องระวังตรงนี้ให้ดีค่ะ จันขยายภาพร่าง ปรับให้เห็นบางๆ เป็นสีเทาๆ แล้วปริ้นท์ใส่ A4 ก่อนจะวาดลายเส้นจริงทับลงไปค่ะ

4. วาดภาพจริง

พอได้ภาพวาดจริงที่ลง A4 แล้ว จันนำไปขยายลายเส้นเป็นขนาด A3 แล้วปรับให้เส้นเข้มขึ้น ก่อนจะปริ้นท์ออกมาเพื่อลอกลายทำเส้นจริงค่ะ (ดูวิธีอย่างละเอียดได้ใน [Drawing] การลอกลายต้นฉบับภาพวาด) ตรงนี้ก็เหมือนขั้นตอนการวาดรูปของจันตามปกติค่ะ การวาดภาพจริง ควรวาดขนาดใกล้เคียงกับเล่มจริง เพื่อให้ไม่ต้องกังวลเรื่องความคมชัดเวลาเอาไปทำงานพิมพ์ วาดเป็นคู่ๆ ตามลักษณะการวางในหนังสือ แล้วก็วาดภาพให้เกินออกไปจากขนาดจริง เพื่อทำสิ่งที่เรียกว่า “การเผื่อตัดตก” ค่ะ


Credit : zig-cartoonist.com

ปล. คราวนี้ลองใช้ปากกาตัดเส้นที่ได้มาใหม่ด้วยล่ะ เป็นของ Zig รุ่น Mangaka Pen ค่ะ ได้แพคกลางมาเพราะรีเควสว่าชอบปากกาตัดเส้นสีน้ำตาลกับแพครวม 5 สีอีกแพคนึง ดีทีเดียวค่ะ หัวแข็ง สีออกมาคล้าย Neopiko พอสมควร (Copic จะออกเหลืองกว่าหน่อย) เดี๋ยวมีเวลาค่อยรีวิวละเอียดอีกทีเนอะ

5. การลงสี

การลงสีเนี่ย ลองไปอ่านใน The Art of the Disney Golden Books ดู เขาบอกว่าถ้าลงสีใน Photoshop จะ undo ได้เป็นสิบๆ ครั้ง แต่ถ้าลงสีบนกระดาษ ถ้าพลาดนิดเดียวก็ต้องลงสีใหม่หมด (เพิ่งมาคิดได้เอาตอนนี้ ฮ่าๆ แต่ก็ดิจิตอล เพ้นท์ไม่เป็นอยู่ดี) สิ่งที่สำคัญเวลาลงสี ก็คือการใช้สีแบบเดิมๆ เวลาลงสีตัวละครค่ะ เช่น สีผม สีผิว ไม่ควรแตกต่างกันมาก (ยกเว้นตามแสงเงาอ่ะนะ) ทางที่ดีคือจดหรือถ่ายรูปไว้ค่ะ ว่าใช้สีอะไรบ้าง เพื่อให้ตัวละครเหมือนกัน ไม่รู้สึกแตกต่างค่ะ

6. ทำ Artwork สำหรับส่งพิมพ์

หลังจากได้ภาพสีสแกนเข้าคอมพิวเตอร์เรียบร้อย (สแกนความละเอียดอย่างน้อย 300 dpi นะคะ) ที่เหลือก็คือการทำหนังสือโดยใช้โปรแกรม Adobe Indesign ค่ะ เป็นโปรแกรมเฉพาะสำหรับการทำหนังสือ ขั้นตอนนี้ไม่ยากแล้วถ้า Material พร้อมหมด เอาภาพวาง Text วางลงไป การเลือกใช้ตัวอักษรเวลาลง Artwork ให้ใช้ตัวอักษรที่ไม่ยึกยือ เป็นตัวอักษรที่ไม่วิบัติเพื่อเป็นการปลูกฝังการเขียนที่ถูกต้อง ตัวสะกดต้องถูกต้อง และควรเป็นตัวอักษรใหญ่หน่อยเพื่อให้เด็กๆ มองแล้วเขียนตามได้ด้วยค่ะ

ความจริงแล้วนอกจากขั้นตอนคร่าวๆ ที่บันทึกไว้ในนี้แล้ว จริงๆ ยังมีอีกหลายๆ จุดที่ถ้าคิดดีๆ จันมองข้ามไปพอสมควรค่ะ เช่น เรื่องจุดนำสายตา (อยากให้เห็นจุดไหนเห็นก่อนในหน้า อะไรแบบนี้) การเล่นกับตัวอักษร ลูกเล่นกับภาพ ฯลฯ ยังมีเทคนิคการนำเสนออีกหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้ค่ะ แต่การได้ลองทำครั้งแรก ก็สนุกมากค่ะ รู้สึกว่าเป็นงานอีกอย่างที่เหมาะกับตัวเอง เพื่อนๆ หรือคุณพ่อคุณแม่ที่ฝันอยากจะเขียนนิทานสอนลูกสักเล่ม ลองเอาวิธีของจันไปใช้ดูนะคะ

พบกันใหม่ครั้งหน้าค่ะ!

*********************
ทั้งหมดเป็นการเขียนโดยจันเอง
ใครจะก๊อปไปไว้ไหน เครดิต www.nuchun.com ด้วยนะคะ
ขอบคุณค่า