สวัสดีวันแห่งความรักค่ะ! วันนี้คนมีแฟนคงจะสวีทกับแฟนอยู่ ส่วนคนโสดเชิญทางนี้ค่ะ ฮ่าๆ
ตอนนี้จันกำลังแปลซับไตเติลเรื่อง Kazoku no Katachi อยู่ค่ะ แปลเล่นๆ ขำๆ เพราะว่าเป็นแฟนคลับนางเอก แล้วอยากให้คนอื่นๆ ได้ดูกันด้วยสนุกๆ แต่พอแปลไปได้สองตอน ก็รู้สึกเรื่องนี้มีจุดที่น่าคิดหลายๆ อย่างเกี่ยวกับการใช้ชีวิตโสด การวางแผนชีวิต การใช้เงิน ที่ตรงกับสิ่งที่พ่อของจัน ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางการเงินพร่ำสอนมา (ตอนนี้ก็ยังสอนอยู่ทุกวันนะ) เลยอยากเขียนเอาไว้ที่นี่ด้วย ถือเป็นข้อเตือนใจเกี่ยวกับการใช้เงินค่ะ ถือซะว่าเป็นของขวัญให้คนโสดในวันแห่งความรักก็ได้ค่ะ อิอิ
(ใครอยากเก็บไว้ลุ้นในละครก่อน ค่อยกลับมาอ่านใหม่หลังดูตอนที่ 1 กับ 2 จบนะคะ)
Credit : TBS
Kazoku no Katachi เป็นเรื่องราวของคนโสดสองคน ที่ตัดสินใจจะอยู่เป็นโสดยันแก่เฒ่า ฝ่ายชาย นากาซาโตะ ไดสุเกะ (แสดงโดย Katori Shingo วง SMAP) อายุ 39 ปี เขาทำงานในบริษัทเครื่องเขียน “เพนน่า” ซึ่งเป็นบริษัทเครื่องเขียนที่มีชื่อเสียง ไดสุเกะเป็นหนุ่มเนี๊ยบที่ต่อต้านการแต่งงานแบบสุดขั้ว ชอบใช้ชีวิตอย่างสันโดษ มีความสุขกับงานอดิเรก แต่เป็นคนจู้จี้จุกจิกมาก ส่วนฝ่ายหญิง ชื่อคุมาไก ฮานาโกะ (แสดงโดย Ueno Juri) อายุ 32 ปี เคยแต่งงานแล้วครั้งหนึ่ง ก่อนจะหย่าร้างกันไปภายในไม่ถึงปี เธอทำงานบริษัทการค้า มีฐานะมั่นคง แม้จะเป็นสาวทำงานเก่ง แต่มีนิสัยเสียคือชอบโพสต์ข้อความตำหนิเกี่ยวกับสินค้าหรือร้านอาหารที่เธอไปเป็นประจำ ซึ่งเธอถือคติว่า “ติเพื่อก่อ” รวมถึงเครื่องเขียนของบริษัทฝ่ายชายด้วย แล้วชะตาก็เล่นตลก เมื่อไดสุเกะย้ายเข้ามาในแมนชั่นสุดหรูที่ฮานาโกะจอมโวยอาศัยอยู่ ไดสุเกะอยู่ห้องชั้นล่างตรงกับห้องของฮานาโกะพอดี ซ้ำร้ายพ่อของไดสุเกะกับแม่ของฮานาโกะก็เริ่มเข้ามาวุ่นวายในชีวิตของพวกเขา ท่ามกลางอุปสรรครอบด้าน พวกเขาจะอยู่เป็นโสดอย่างสงบสุขในโลกส่วนตัวของตนเองได้อยู่รึเปล่า คงต้องติดตามกันค่ะ (เพราะเรื่องยังไม่ฉายทางทีวีที่ญี่ปุ่นไม่จบเลย)
Credit : TBS
ทัศนคติการใช้ชีวิตและการบริหารเงิน เรื่องนี้ค่อนข้างสวนกระแสลักษณะคำสอนของกูรูด้านการเงินหลายๆ คนในปัจจุบัน ที่เน้นเรื่องการลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงย หรือการหารายได้เสริมหากใช้ไม่พอ แต่พระนางในเรื่องนี้กลับเลือกทำงานเพื่อความมั่นคง อาศัยการออม และการใช้จ่ายอย่างรอบคอบ เพื่อให้เงินเพิ่มขึ้นค่ะ แม้จะไม่ง่าย ใช้เวลา และความอดทน แต่เป็นลักษณะการประหยัดเงินด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ยั่งยืน เริ่มต้นได้เอง และไม่มีความเสี่ยงค่ะ ในความเป็นจริงนั้น “เงิน” อาจจะมีค่าลดลงตามสภาวะเงินเฟ้อ เอาง่ายๆ ว่าเพราะสินค้าแพงขึ้น เงินจำนวนเท่าเดิมถึงซื้ออะไรได้น้อยลง แต่ก็อย่าลืมว่าการกำเงินไว้ในมือ ก็ใช้ได้ง่ายและสะดวกที่สุดเช่นเดียวกันค่ะ
Credit : TBS
ทั้งคู่นั้น ตั้งต้นจากการมองการณ์ไกลว่าจะเป็นโสดชั่วชีวิต ไม่พึงพาประกันสังคม แต่จะอยู่ได้จนแก่จนเฒ่าด้วยเงินจากน้ำพักน้ำแรงของตนเอง การมองการณ์ไกลนั้น เป็นเรื่องที่ควรทำทุกคนค่ะ ถ้าคิดว่าพรุ่งนี้อาจจะตายก็ได้ ลองคิดกลับกันว่าเกิดไม่ตาย แล้วอายุยืนอีกต่างหาก จะทำยังไง ควรจะมีเงินสักเท่าไหร่ และต้องสำรองเงินไว้อีกเท่าไหร่ เพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด
Credit : TBS
การมองการณ์ไกล ไม่ใช่แค่ยามแก่ แต่รวมถึงสภาวะที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ตกงาน อย่างที่ฮานาโกะก็คิดเผื่อไว้เช่นกันค่ะ นอกจากนี้ยังรวมถึงการมีค่าใช้จ่ายผูกพันด้วยนะ อย่างเช่น เงินผ่อนต่างๆ และเบี้ยประกันชีวิตที่กินระยะเวลายาวๆ ก่อนที่จะซื้อหรือทำสัญญาต้องคิดให้ถี่ถ้วนค่ะ เพราะเดี๋ยวนี้สิ่งล่อใจเยอะนัก ประกันเงินออมได้ดอกเบี้ยสูงๆ แต่ผูกพันกันหลายสิบปี ต้องทบทวนดีๆ ว่าหากเราไม่มีรายได้ จะจ่ายได้อย่างไร
Credit : TBS
พอมองการณ์ไกลแล้ว เริ่มมีเป้าหมายแล้วว่าจะเก็บเงินให้ได้เท่าไหร่ ก็มาปรับพฤติกรรมของตนเองค่ะ ที่เห็นในเรื่องนี้ชัดๆ คือกรณีของพระเอกซึ่งทุ่มไม่อั้นกับงานอดิเรก แต่เก็บเงินจากการประหยัดเรื่องอื่นๆ แทน เช่น การทำอาหารบางอย่างแทนการซื้อ หรือการไม่ไปสังสรรค์เข้าสังคม แล้วกลับมานั่งดื่มที่บ้าน งานอดิเรกของพระเอกคือการสะสมเบียร์ต่างประเทศ การออกกำลังกาย และการปั่นจักรยานไปชมธรรมชาติค่ะ ดูเผินๆ อาจเป็นการซื้อความสุขเฉยๆ แต่เรื่องการออกกำลังกายถือเป็นการประหยัดเงินอย่างหนึ่งได้ ถ้าสุขภาพแข็งแรง ย่อมไม่ต้องเสียเงินค่ายาหรือโรงพยาบาลใช่ไหมคะ จักรยานก็เป็นการลดค่าเดินทางได้อย่างหนึ่ง ดังนั้น แม้แต่งานอดิเรกของไดสุเกะ ก็ถือเป็นการลงทุนเพื่อการประหยัดได้อย่างหนึ่งค่ะ
ปล. นอกจากเข้าฟิตเนสสัปดาห์ละ 6 ครั้ง ยังกินแต่แป้งเฉพาะตอนกลางวันเท่านั้นค่ะ รักษาสุขภาพมากๆ
Credit : TBS
“รายได้” เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มักหยิบยกมาเป็นข้อเปรียบเทียบอยู่เสมอนะคะ อย่างรายได้ของไดสุเกะน่าจะสูงกว่าฮานาโกะ แต่ฮานาโกะกลับซื้อแมนชั่นด้วยเงินสดได้ตอนอายุ 30 ปีเท่านั้น ขณะที่เขาซื้อได้ตอนอายุ 39 ปี และยังต้องผ่อนอีก 35 ปี จันเองก็เคยถามพ่อเกี่ยวกับเรื่องรายได้ ซึ่งพ่อก็ให้คำตอบมาว่า “จำนวนรายได้ไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าเหลือเก็บเท่าไหร่” “คนบางคนมีรายได้มาก แต่ก็มีรายจ่ายมากเช่นกัน อย่างพวกหัวหน้าที่มีเงินเดือนสูงๆ ก็มักจะมีภาระเกี่ยวกับภาษีสังคม หรือคนที่มีครอบครัวก็มีภาระค่าใช้จ่ายในบ้าน ส่วนคนที่เงินเดือนสูงๆ บางคนก็ใช้เงินฟุ้งเฟ้อ สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้เหลือมากมายอะไร เงินที่เหลือเก็บอาจน้อยกว่าคนเงินเดือนธรรมดาแต่ตั้งใจเก็บออมก็ได้ ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายการศึกษาตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย หากมองว่าการศึกษาคือการลงทุน ต้องทำงานอีกกี่ปีจึงจะได้กำไร จุดนี้ถ้าคิดลึกๆ ก็น่าคิดเหมือนกัน”
Credit : TBS
นิสัยการมองการณ์ไกลและการอดออมนั้นจะติดตัวไป กลายเป็นคนใช้ของอย่างคุ้มค่าค่ะ (แต่บางคนอาจบอกว่าขี้งก 55) สิ่งสำคัญที่สุดก็คือพฤติกรรมการใช้ (ทั้งเงินและสิ่งของ) หากเปลี่ยนแปลงไปในแบบพระนางคู่นี้ คือ มองการณ์ไกล ใช้รอบคอบ ไม่ว่ารายได้มากหรือน้อยก็จะมีเงินเก็บ มีใช้ไม่ขัดสนค่ะ เพราะใช้เงินคุ้มค่า ประมาณตัวเองได้ เน้นเงินออมเป็นสำคัญ รวมถึงการรู้จักผ่อนคลายแบบไม่เสียเงิน หาสถานที่โปรดใกล้บ้าน มีความสุขกับการใช้เงินและเวลาได้ตามใจที่บ้าน ไม่ต้องไปหาที่อื่นค่ะ
Credit : TBS
บางคนอาจบอกว่าชีวิตแบบนี้จืดชืด น่าเบื่อ ก็คงต้องหาจุดสมดุลให้ได้ ไม่ให้ตึงจนทำอะไรไม่ได้สักอย่าง หรือหย่อนจนชักหน้าไม่ถึงหลังค่ะ เรื่องนี้คนเราคิดไม่เหมือนกัน แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ตัวเอง อย่างที่ไดสุเกะบอกเอาไว้ว่า…
Credit : TBS
จะมาหวังว่าชีวิตจะมีความสุขด้วยการแต่งงาน พึ่งพาสามี นางเอกของเราคงตำหนิเอา…
Credit : TBS
สุดท้ายแล้วก็คงอยู่ที่ตัวเราล่ะค่ะ ว่าจะเริ่มมองการณ์ไกล แล้วสร้างทางเลือกให้กับชีวิตของตนเองไว้หรือไม่…
Credit : TBS
เพราะว่าทางเลือกนั้นเราสร้างเองได้ เริ่มต้นการมองการณ์ไกล และคิดเก็บเงินตั้งแต่วันนี้เลยค่ะ !
หวังว่าจะได้ข้อคิดเรื่องการใช้เงินไปบ้างจากพระนางคู่นี้นะ
ใครชอบละครญี่ปุ่น ติดตามเรื่องนี้ได้ที่ https://www.facebook.com/AiolosFansub/ นะคะ
*********************
ทั้งหมดเป็นการเขียนและวาดโดยจันเองใครจะก๊อปไปไว้ไหน
เครดิต www.nuchun.com ด้วยนะคะ
ขอบคุณค่า
เนม’เนม เนม’เนม liked this on Facebook.
Jackk Thongchan liked this on Facebook.
คุณนายออม ชวนประหยัด liked this on Facebook.
Fai Moko liked this on Facebook.
Chalida Phummarin liked this on Facebook.
Siri Chuen liked this on Facebook.
Phimlaphat Sriapai liked this on Facebook.
Pastel Picha liked this on Facebook.
Nattaya Inchandee liked this on Facebook.
Panisara Serizawa liked this on Facebook.