Nuchun's Atelier

บล็อกรีวิวเครื่องเขียน l สีมาร์คเกอร์ l อุปกรณ์วาดรูป พร้อมวิธีทำงานประดิษฐ์สนุกๆ ที่ทำได้ที่บ้าน

[Review] Zig Clean Color Real Brush Marker มาร์คเกอร์ระบายน้ำ เส้นบางเฉียบจากญี่ปุ่น

จริงๆ Zig Clean Color Real Brush มาร์คเกอร์ระบายน้ำหัวพู่กันเข้ามาในไทยสักพักใหญ่แล้ว แต่ด้วยความที่จันก็ไม่ได้อยากจะแตกไลน์ไปมากกว่าที่เป็นอยู่ เลยไม่ได้ซื้อมารีวิวให้ชมกัน แต่พอดีคนรู้จักผู้แสนดีไปแนะนำจันให้ทางบริษัทตัวแทนจำหน่ายรู้จัก จันเลยได้ Zig เซ็ท 24 สี มารีวิวแบบเจาะลึกให้ได้อ่านกันค่ะ เผื่อใครสนใจสินค้าตัวนี้จะได้ใช้ประกอบการตัดสินใจได้นะ

เอาล่ะ! มาเริ่มกันเลยดีกว่า


Credit : https://kuretakezig.us

ปากกา Zig ตัวนี้เป็นปากกามาร์คเกอร์หัวพู่กันสัญชาติญี่ปุ่น มีสีทั้งหมด 80 สีค่ะ มีขายทั้งแบบเซ็ทเล็ก 4 สี (320 บาท) 6 สี (480 บาท) 12 สี (960 บาท) เซ็ทใหญ่ 24 สี (1,600 บาท) 36 สี (2,340 บาท) เซ็ท 48 สี (3,120 บาท) เซ็ท 60 สี (3,800 บาท) เซ็ท 80 สี (5,100 บาท) รวมถึงแบบแยกแท่ง (ซื้อแยกแท่ง แท่งละ 80 บาท) ขายในห้างสรรพสินค้าทั่วไปตามร้าน Loft B2S Isetan และร้านเครื่องเขียนอื่นๆ [ราคา ณ วันที่ 24/06/2017]
(ปล. ในห้างฯ ขายเฉพาะเซ็ทเล็ก ส่วนเซ็ทใหญ่มีตัวแทนจำหน่ายขายทางอินเทอร์เน็ตค่ะ เดี๋ยวแปะลิงค์ไว้ท้ายเรื่องนะ)

Zig รุ่นนี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่รวมลักษณะของมาร์คเกอร์และสีน้ำมารวมกัน กลายเป็น Watercolor Marker หรือมาร์คเกอร์ระบายน้ำที่ได้ผลลัพธ์คล้ายคลึงสีน้ำ โดยไม่ต้องแบกจานสี กระป๋องใส่น้ำ พู่กันหลากเบอร์ แค่ Zig สีที่ชอบ พู่กันแทงค์สักด้าม กับทิชชูสักห่อก็เอาอยู่ เหมาะจะพกพาไปวาดรูปข้างนอกทีเดียวค่ะ หรือถ้าจะใช้เป็นมาร์คเกอร์แบบปกติก็ใช้ได้ด้วยนะ

ลักษณะของ Zig จะเป็นปากกาแท่งเรียวเล็ก มีหัวพู่กันหัวเดียว เป็นหัวแบบพู่กันจริงๆ ปลายเรียวแหลมเล็กทำจากไนลอน หัวพู่กันให้ความรู้สึกเหมือนเวลาใช้พู่กัน Master Art ที่จะแข็งเล็กน้อย คงรูปดี แต่ยืดหยุ่น ทำให้แม้กดแรงๆ ก็คืนรูปเป็นพู่กันหัวแหลมเหมือนเดิม หมึกไม่เยิ้มแต่บางครั้งจะให้ความรู้สึกฝืดๆ เพราะหมึกแห้งกว่าหัวปากกาแบบฟองน้ำที่เราคุ้นเคยค่ะ

การควบคุมเส้นหนาบางจะใช้น้ำหนักมือควบคุม นับเป็นปากกาอีกรุ่นที่ใช้แทนปากกาตัดเส้นเล็กๆ ในงานละเอียดหรือใช้เขียน Caligraphy ได้สบายๆ เลยค่ะ
(ขออย่างเดียวอย่าตัดเส้นตอนกระดาษเปียกพอ ฮ่าๆ)

หมึกของ Zig ใช้น้ำเป็นส่วนผสมหลัก (Water-based) ไม่มีกลิ่น ในแคตตาลอคเขาบอกว่าไม่มีสาร Xylene ที่เป็นสารละลายเคมี ซึ่งถ้าได้รับปริมาณมากจะส่งผลต่อระบบหมุนเวียนเลือดด้วย แต่ไม่มีการเติมหมึกนะคะ หมึกหมดซื้อใหม่สถานเดียว ในเซ็ท 24 สี จะมีสีให้ตามนี้ค่ะ

เท่าที่จันลองสี สีจะเป็นสีแบบโปร่งใส แต่มีความรู้สึกแบบปากกาเคมีนิดๆ การ์ตูนหน่อยๆ คือมีความสดใส สะท้อนแสงอยู่ จะแตกต่างจากอารมณ์ของลักษณะสีน้ำของแบบดั้งเดิมที่จันเคยรู้จัก เวลาใช้เป็นมาร์คเกอร์ปกติก็ลงได้เรียบเนียนดี สีคมชัด ลงทับสีเดิมแล้วไม่เข้มขึ้นเหมือนปากกาหมึกแอลกอฮอล์ น้ำหนักมือไม่มีผลต่อความเข้มของสี แต่มีผลต่อขนาดเส้น ในเซ็ทสีนี้ สีเนื้อเบอร์ 71 กับสีเขียวเบอร์ 45 ค่อนข้างอ่อนไปนิดสำหรับการระบายน้ำค่ะ อย่างรูปนี้ใช้สีในแพค 24 สีทั้งหมด จะเห็นว่าตรงหน้าที่ใช้สีเนื้อ ถึงจะระบายน้ำเข้าไปก็จะเห็นเป็นน้ำหนักเดียว เพราะสีอ่อนเกินไปนิดนึงค่ะ

ถ้าใครซื้อมาระบายสีผิวคน แนะนำให้ซื้อสีเนื้อเพิ่มเป็นเบอร์ 28 69 กับ 220 ใช้ร่วมกันได้สำหรับระบายผิวขาวๆ ค่ะ


พอใช้สามสีรวมกันแล้วดูมีน้ำหนักขึ้นหน่อยเนาะ~

กระดาษที่ใช้กับ Zig (สำหรับการระบายน้ำ)

สำหรับการระบายน้ำนั้น Zig จะไม่ต้องเอาใจเรื่องกระดาษมากเหมือน Winsor&Newton สักเท่าไหร่นัก ขอแค่เป็นกระดาษสีน้ำ ไม่จำเป็นต้องเป็นกระดาษใยฝ้าย ก็ระบายน้ำแล้วเกลี่ยสีไหลไปได้ดีค่ะ ไม่ทิ้งรอยหมึกแบบเห็นเด่นชัดให้เห็น แต่กระดาษพวก Sketchbook บางยี่ห้อกับกระดาษการ์ด เวลาแห้งจะทิ้งรอยขอบน้ำไว้เยอะ เลยไม่ค่อยอยากแนะนำให้ใช้ค่ะ

การไหลของสี

ชาร์ตนี้ลองแต้มสี Zig บนกระดาษ Canson – Pochades แล้วใช้น้ำเกลี่ยทุกสีดู จะสังเกตว่ายังมีรอยแต้มสีหลงเหลืออยู่บ้างนิดหน่อยค่ะ ตรงนี้แหละที่ยังรู้สึกว่ายังไม่เทียบเท่าสีน้ำแบบ 100%

แต่น่าแปลกที่พอปาดพู่กันจากซ้ายไปขวา จากบนลงล่างรู้สึกสีจะไหลไปได้ดีกว่า เนียนกว่านิดนึง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีพื้นที่ให้สีได้ไหลไปด้วยรึเปล่านะ สีเลยไม่ค่อยกองเป็นรอยให้เห็น

 

ระยะเวลาในการเกลี่ย

ข้อสงสัยอย่างหนึ่งสำหรับคนทำงานรวดเดียวไม่ค่อยเสร็จ ก็คือมาร์คเกอร์นี้จะทิ้งงานไว้ได้นานขนาดไหน ถึงจะเกลี่ยสีต่อไม่ได้ สรุปก็คือ ถ้าระบายน้ำแล้วต้องเกลี่ยให้เสร็จก่อนสีแห้งค่ะ ถ้าระบายน้ำแห้งไปแล้วจะเกลี่ยไม่ได้แล้ว แต่ถ้าจะลงมาร์คเกอร์ทิ้งไว้ แล้วมาเกลี่ยสีวันรุ่งขึ้น อันนี้ทำได้ค่ะ

เทคนิคการใช้ Zig 


  1. เชื่อมสี > แต้มสีหลายๆ สีลงบนกระดาษ จากนั้นใช้น้ำลากสีเข้าหากัน เพื่อผสมสี

  2. จุ่มน้ำ > เอาปากกาจุ่มน้ำโดยตรง เพื่อให้ไล่สีจากอ่อนไปเข้มได้ (หัวพู่กันทำให้ไม่ได้ผลมากนัก เพราะน้ำซึมไม่ได้เยอะ แต่นำไประบายพื้นที่เล็กๆ ได้ค่ะ)

  3. จุ๊บสี > เอาหัวปากกาสองสีมาชนกันในแนวตั้ง ปล่อยให้หมึกด้ามบนไหลสู่ด้านล่าง จะได้สองสีไล่กัน หลังจากระบายเรียบร้อย ทำความสะอาดสีที่ซึมโดยเช็ดกับทิชชูเบาๆ ด้วยนะ!

จากมาร์คเกอร์สู่มาร์คเกอร์ระบายน้ำ

หลังจากใช้สีของ ZIG แล้ว จันยังมีความเห็นเดียวกันกับการใช้สีมาร์คเกอร์ระบายน้ำของ Winsor & Newton อยู่ ดังนั้นขออนุญาตก๊อปคอมเมนท์เดิมบางส่วนมาด้วยแล้วกันนะ

ตรงนี้ขอคอมเมนท์ในฐานะคนที่ใช้มาร์คเกอร์ แล้วสนใจอยากลองเล่นสีนี้นะคะ หลังจากได้ลองสีแบบนี้ ซึ่งก้ำกึ่งระหว่างสีน้ำกับมาร์คเกอร์ ส่วนตัวแล้วคิดว่าต้องใช้พื้นฐานสีน้ำมากกว่ามาร์คเกอร์ค่ะ แล้วจากพฤติกรรมที่ติดมาจากมาร์คเกอร์เล็กๆ น้อยๆ ทำให้เป็นอุปสรรคเหมือนกัน เช่น ต้องรอสีแห้งก่อนถึงจะระบายช่องต่อไปได้ หรือต้องระบายแบบกระจายๆ แทนที่จะระบายจบเป็นส่วนๆ ไป เพราะไม่งั้นสีจะปนกันมั่วไปหมด อีกอย่างคือขนาดภาพที่ระบายใหญ่ๆ จะง่ายกว่าซึ่งตรงข้ามกับมาร์คเกอร์เลย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องใช้เวลาปรับตัวให้เคยชินกับธรรมชาติของสีอ่ะนะ บางคนที่เป็นนักสีน้ำ อาจรู้สึกว่าสีน้ำดีกว่า แต่ว่าสำหรับมือใหม่ที่ยังควบคุมน้ำและพู่กันได้ไม่เก่งนัก ZIG เป็นตัวเลือกที่ดีมากๆ นอกจากนี้ยังเป็นสินค้าที่ฝรั่งเขาบอกว่าเหมาะสำหรับการทำการ์ดและงานคราฟต์ต่างๆ ด้วยค่ะ (ไปแอบส่องคอมเมนท์ยาวเหยียดในอเมซอนมา ส่วนใหญ่ก็คอมเมนท์ดีๆ กันนะ)

ข้อดี

  1. ให้ความรู้สึกแบบสีน้ำ มีความฟุ้ง ความใสที่หาไม่ได้ในสีประเภทอื่นๆ
  2. จำนวนสีน้อยก็ระบายได้หลากหลาย
  3. ลงสีน้อย กินพื้นที่มาก ไม่เปลืองสีมากนัก
  4. หัวพู่กันเหมือนพู่กันจริง
  5. หัวพู่กันคงรูปดี ไม่แตก หมึกไม่เยิ้ม ขีดเส้นได้ตั้งแต่เล็กมากจนถึงเส้นหนาๆ จึงใช้เป็นปากกาตัดเส้นได้
  6. ใช้กับกระดาษได้หลากหลายและเป็นกระดาษสีน้ำทั่วไป ไม่ต้องใช้กระดาษเฉพาะเหมือน Winsor & Newton
  7. การจัดเซ็ท 24 สีคำนึงถึงการใช้งานแบบไม่ระบายน้ำด้วย เลยมีสีอ่อนๆ ผสมอยู่ (อ่านต่อตรงข้อเสีย ข้อ 1)

ข้อเสีย

  1. แต่สีอ่อน 2 แท่งในชุดนั้นอ่อนเกินไปสำหรับการระบายน้ำ ทำให้แทบไม่เห็นน้ำหนักของสี เพราะกลืนกับสีขาวของกระดาษมากเกินไป
  2. ยังทดแทนสีน้ำไม่ได้ 100% เทคนิคบางอย่างของสีน้ำ ยังทำไม่ได้
  3. ระบายน้ำได้เพียงครั้งเดียว จะเกลี่ยสีไม่ได้อีกหลังจากสีที่ลงน้ำไว้แห้ง
  4. หมึกไม่ฉ่ำมาก แม้ไม่เยิ้มแต่ก็ให้ความรู้สึกว่าฝืดไปนิดได้ในบางคราว
  5. แพคเกจกล่องแบบตั้งทำให้หาสีค่อนข้างยาก เพราะตัวอย่างสีอยู่ก้นด้าม หลายครั้งต้องเทสีออกมานอกกล่องก่อนเริ่มใช้งาน จะใช้ง่ายกว่านี้มาก ถ้าตัวอย่างสีมาอยู่ที่ฝาแทน

เดี๋ยวอาทิตย์หน้าจะมีรีวิวดินสอกดหลายๆ รุ่นด้วยนะคะ (พอดีได้มาจากตัวแทนจำหน่ายด้วย)
รอติดตามกันได้ค่ะ พบกันใหม่ครั้งหน้าค่า!

*-*-*-*-*-*-*-*-*-* Advertisement *-*-*-*-*-*-*-*-*-*

สอบถามรายละเอียดสินค้าเพิ่มเติมหรือติดตามกิจกรรม
ได้จากตัวแทนจำหน่ายผ่านทางเพจ Kurepark จ้า
ส่วนใครอยากซื้อเซ็ทใหญ่หรือหาซื้อตามต่างจังหวัดไม่ได้
ทางตัวแทนจำหน่ายแนะนำ IG:Giraffe.stationary มีเซ็ทใหญ่ถึง 80 สีเลย

*********************
ทั้งหมดเป็นการเขียนและวาดโดยจันเอง ใครจะก๊อปไปไว้ไหน
เครดิต www.nuchun.com ด้วยนะคะ
ขอบคุณค่า