Nuchun's Atelier

บล็อกรีวิวเครื่องเขียน l สีมาร์คเกอร์ l อุปกรณ์วาดรูป พร้อมวิธีทำงานประดิษฐ์สนุกๆ ที่ทำได้ที่บ้าน

[Photographer Tips] ถ่ายภาพในค่ำคืนพระจันทร์เต็มดวง

ปรากฏการณ์พระจันทร์ใกล้เข้ามาอีกแล้วนะคะ !? เตรียมตัวแหงนมองท้องฟ้าดู Super Lunar Eclipse กันรึยังเอ่ย

ครั้งหนึ่งจันเคยเขียนไว้บน Facebook ส่วนตัว ว่า “ที่เสียใจที่สุดที่เป็นคนไม่ติดตามข่าวสาร ก็คือทุกครั้งที่ไม่รู้ว่าจะมี Supermoon” หลังจากนั้นก็มีคนส่งข่าวเรื่องพระจันทร์ให้ตลอดเลย ต้องขอบคุณมากจริงๆ

ทั้งที่ชอบดวงจันทร์มากๆ เพราะเป็นชื่อตัวเองด้วย แต่บ้านจันน่ะ อยู่ในที่ที่ล้อมรอบด้วยตึกสูง จึงมองไม่ค่อยเห็นพระจันทร์สักเท่าไหร่ แต่โชคดีที่ปีใหม่ที่ผ่านมา จันไปเที่ยวกับครอบครัว เป็นช่วงพระจันทร์เต็มดวงพอดี ครั้งนี้ก็เลยได้เห็นพระจันทร์กลมโตลอยเด่นอยู่เหนือทะเล สวยมากๆ เลยค่ะ! หยิบกล้องขึ้นมาถ่ายและได้เรียนรู้การถ่ายพระจันทร์ไปพร้อมๆ กัน
หลังจากถ่ายพระจันทร์ทั้งหัวค่ำและพระจันทร์ก่อนลับฟ้าก็ได้ความรู้หลายๆ อย่าง วันนี้เลยเอาบทเรียนจากพระจันทร์มาบันทึกเอาไว้ค่ะ

อุปกรณ์สำคัญๆ สำหรับการถ่ายพระจันทร์

(กล้องและอุปกรณ์ต่างๆ ที่จันใช้ถ่ายรูป ดูย้อนได้ที่นี่นะคะ)

  • กล้องที่มีอยู่ ควรเป็นกล้องที่ปรับ Manual ได้นะ (Mirrorless หรือ D-SLR)
  • เลนส์ Tele (เลนส์ซูม) เอาตัวที่ซูมได้มากที่สุดที่มีออกมาค่ะ
  • ขาตั้งกล้องขนาดใหญ่ ขอให้เช็คให้แน่ใจด้วยนะคะว่ารับน้ำหนักกล้องกับเลนส์ซูมที่เราจะใช้ได้อย่างมั่นคง

รู้จักพระจันทร์ช่วงเวลากับสีสันของพระจันทร์


ในภาพเนี่ย ปรับกล้องไว้เท่าๆ กันหมดเลยนะ แต่สีออกมาแบบนี้เลย ในแต่ละช่วงเวลาแสงของพระจันทร์และสีของพระจันทร์นั้นแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งใกล้จะลับขอบฟ้าเท่าไหร่ จะรู้สึกว่าดวงใหญ่ขึ้น สีเข้มขึ้น แต่ความสว่างน้อยลงค่ะ

รู้จักพระจันทร์ : การโคจรของพระจันทร์

จันเห็นพระจันทร์ครั้งแรกตอนสองทุ่มครึ่ง ลอยเด่นอยู่เหนือทะเลทางทิศตะวันออก พอช่วงตี 4 พระจันทร์มาอยู่ทางทิตะวันตก คล้อยต่ำลงเรื่อยๆ ก่อนจะลับขอบฟ้าไปค่ะ

หลังจากที่ลองตั้งกล้องนิ่งๆ ให้กล้องถ่ายภาพทุกสิบวินาที (โหมด timelapse น่ะ) ในหนึ่งนาทีพระจันทร์เคลื่อนที่ตามภาพบนเลยค่ะ จะเห็นได้ว่า ความจริงแล้วพระจันทร์เคลื่อนที่ไวมากเลย

จากที่จันถ่ายมา ถ้าถ่ายภาพสเกล 16:9 ใช้เลนส์ 150 มม.อยู่บนอาคารชั้น 9 ในช่วงตี 4 ตั้งแต่พระจันทร์เข้ามาจนถึงออกไปจากเฟรมภาพใช้เวลาประมาณ 19 นาทีค่ะ

ธรรมชาติของพระจันทร์กับการถ่ายภาพ

จากการสังเกต พระจันทร์นั้น…

  1. เคลื่อนที่ตลอดเวลา เพราะอย่างนั้นจะเปิดหน้ากล้องนานๆ ไม่ได้แน่นอน
  2. เป็นแหล่งกำเนิดแสงในยามค่ำคืน เพราะฉะนั้น ถ้าไม่อยากให้ถ่ายออกมาเป็นจุดเรืองแสงฟุ้งๆ ก็เปิดรูรับแสงน้อยๆ น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ จะได้ตัดแสงสว่างของดวงจันทร์ออกไป คงเหลือไว้แต่ลายกระต่ายตำโมจิบนพื้นผิวดวงจันทร์
  3. ช่วงหัวค่ำ พระจันทร์จะออกสีขาวมากกว่าเหลือง ถ้าอยากได้สีเหลืองสวย ก็ต้องเปลี่ยน White Balance จาก Auto White Balance เป็น Shade ที่ทำให้สีออกเหลืองมากขึ้น แต่ถ้ามองด้วยตาเปล่าแล้วสีเหลืองออกส้มจัด ให้ใช้ Auto White Balance ตามปกติค่ะ

การตั้งกล้องสำหรับถ่ายพระจันทร์ที่จันใช้

Aperture : F/22 // Exposure : 1/10sec // ISO : 125 // Manual Focus // White Balance : Shade 

  • ค่ารูรับแสง : F/22 รูรับแสงแบบแคบ ถ้าพระจันทร์แสงน้อยลงให้ปรับค่าตัวนี้ให้น้อยลง เพื่อเปิดรูรับแสงให้ใหญ่ขึ้นค่ะ
  • ค่า Speed Shutter : 1/10 sec. ค่านี้พยายามอย่าปรับนะคะ เพราะไม่งั้นถ้าหน่วงมากกว่านี้ จะเห็นพระจันทร์วิ่งเป็นเส้นได้ค่ะ ตามตัวอย่างด้านล่างจันปรับเป็น 4 วินาที ทำให้เห็นรอยการเคลื่อนที่ของพระจันทร์ค่ะ
  • ISO : 125 ปกติจันใช้เท่านี้เพื่อไม่ให้เกิด Noise ค่ะ ค่านี้ยิ่งมาก โอกาสเกิด Noise ก็จะยิ่งมากขึ้น กล้องจันเกิด Noise ง่ายมากเลยค่ะ
  • Manual Focus : ถ้าใช้ Auto Focus บางครั้งจะจับโฟกัสไม่ติด ทำให้พระจันทร์เบลอค่ะ ก็ให้ใช้ Manual Focus แล้วจิ้มไปที่พระจันทร์แทน
  • White Balance : Shade ถ้าถ่ายพระจันทร์หัวค่ำ แล้วอยากให้เป็นสีเหลืองระเรื่อให้ใช้แบบนี้ค่ะ ลองปรับ White Balance ดูแบบที่ชอบค่ะ ถ้าสีออกฟ้าก็จะให้อารมณ์เย็นๆ แบบหนังผีดีเหมือนกัน แต่ถ้าพระจันทร์ออกสีแดงจัดหรือเหลืองแล้ว ให้ใช้ Auto White Balance จะดีกว่าค่ะ (ถ้าพระจันทร์เหลืองแล้ว ใส่ Shade WB ซ้ำ จะออกส้มเหมือนอุกกาบาตพุ่งชนโลกตามรูปด้านบนค่ะ)

ซูมได้แค่ไหน ใหญ่เท่านี้


เลนส์ที่จันใช้ ระยะ 40-150 มม. ค่ะ จากเลนส์ที่จันใช้ ถ่ายพระจันทร์ออกมาได้เท่าภาพบนค่ะ


ไปยืมกล้องพ่อ ระยะ 18-300 มม. ได้มาขนาดเท่านี้ค่ะ เพื่อให้พระจันทร์ที่ถ่ายได้ดูใหญ่ขึ้น ส่วนใหญ่จะ Crop เอาทั้งนั้นเลยค่ะ

พระจันทร์กับวิวยามค่ำคืน

จันลองถ่ายภาพสามภาพ ตั้งกล้องสามแบบค่ะ รูปแรกคือตั้งกล้องแบบที่ใช้ถ่ายพระจันทร์ จะเห็นได้ว่าวิวมืดสนิทเลย เพราะเราต้องเปิดปิดชัตเตอร์ไวเกินกว่ากล้องจะจับแสงยามค่ำคืนไว้ได้นั่นเอง รูปที่สอง คราวนี้ลองตั้งความเร็วชัตเตอร์ให้ช้าลงอีกนิด เห็นภาพวิวชัดขึ้นแต่ไม่เห็นรายละเอียดพระจันทร์แล้ว ส่วนรูปสุดท้ายคือเห็นวิวเมืองชัดเจนแล้ว พระจันทร์ดูสว่างยิ่งขึ้นไปอีก ไม่เห็นขอบคมๆ แล้ว ถ้าจะให้เห็นทั้งสองอย่าง จันว่าคงต้องตัดต่อเอามารวมอีกทีค่ะ

ตัดพระจันทร์มา เอามาวางลงไปบนวิว เติมสีด้วยบรัชแบบฟุ้งๆ นิดหน่อยข้างใต้เลเยอร์พระจันทร์ ก็จะได้ภาพประมาณนี้ค่ะ

จันลองดูการตั้งกล้องของคุณศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ช่างภาพที่ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเอาภาพมาใช้
Aperture : f/11 // ISO : 1000 // Exposure : 1/20sec
ภาพสวยมากๆ เลยล่ะ ช่างภาพมือโปรเนี่ย สุดยอดเลยค่ะ! กล้องที่ทางนั้นใช้เป็น D-SLR แบบโปรสุดๆ ด้วย Canon 1DX (แค่ตัวกล้องอย่างเดียวก็สองแสนแล้ว) ทำให้สามารถเร่ง ISO ได้เยอะมากๆ โดยที่ภาพไม่แตกเลยค่ะ อยากมีกล้องแบบนี้บ้างจัง

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเขียนเทคนิคการถ่ายภาพไว้ด้วย ลองเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมดูได้ในเว็บนี้นะคะ

ครั้งต่อไปที่จะมีปรากฏการณ์พระจันทร์ก็คือในวันที่ 31 มกราคมนี้ค่ะ

ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในวันที่ 31 มกราคม 2561 ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลกตั้งแต่เวลา 17:51 น. จากนั้นค่อย ๆ เคลื่อนเข้าสู่เงามืดของโลก เกิดเป็นจันทรุปราคาบางส่วนในเวลา 18:48 น. เข้าสู่จันทรุปราคาเต็มดวงตั้งแต่เวลา 19:51 – 21:07 น. คิดเป็นระยะเวลาจันทรุปราคาเต็มดวงนาน 1 ชั่วโมง 16 นาที ขณะที่ดวงจันทร์อยู่ในเงามืดของโลกเต็มดวง จะมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงอิฐทั้งดวง สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าในทุกภูมิภาคของประเทศ เมื่อสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงหลังเวลา 21:07 น. ไปแล้ว ดวงจันทร์จะเริ่มออกจากเงามืดของโลกเข้าสู่การเป็นจันทรุปราคาบางส่วนอีกครั้ง จนกระทั่งออกจากเงามืดของโลกหมดทั้งดวงในเวลา 22:11 น. แล้วเปลี่ยนเป็นจันทรุปราคาเงามัวที่จะสังเกตเห็นได้ยาก เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดวงจันทร์จากเงามืดของโลกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และสุดท้ายดวงจันทร์จะพ้นจากเงามัวของโลกเวลา 23:08 น. ถือว่าเป็นการสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้โดยสมบูรณ์

โดยในการเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้ ดวงจันทร์ยังคงอยู่ในระยะทางที่ไม่ห่างจากโลกมากนัก จึงทำให้เราสังเกตเห็นดวงจันทร์ขณะเกิดปรากฏการณ์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าดวงจันทร์ช่วงปกติเล็กน้อย ซึ่งนักดาราศาสตร์บางกลุ่ม เรียกปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า “Super Lunar Eclipse”
Credit ข่าว : เว็บไซต์สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (ในเว็บมีรวมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าถ่ายรูปตลอดทั้งปี 2018 ลองเข้าไปดูรายละเอียดกันได้นะ)

ลองหยิบกล้องมาถ่ายภาพกันดูนะคะ ^^

*********************
ทั้งหมดเป็นการเขียนและวาดโดยจันเอง
ใครจะก๊อปไปไว้ไหน เครดิต www.nuchun.com ด้วยนะคะ
ขอบคุณค่ะ