Nuchun's Atelier

บล็อกรีวิวเครื่องเขียน l สีมาร์คเกอร์ l อุปกรณ์วาดรูป พร้อมวิธีทำงานประดิษฐ์สนุกๆ ที่ทำได้ที่บ้าน

[Photographer Tips] การขายภาพผ่านเว็บสต็อก

เมื่อปลายปีก่อน จันเริ่มลองขายภาพถ่ายที่ถ่ายระหว่างไปเที่ยวดูค่ะ การขายภาพบนเว็บสต็อกอย่าง www.shutterstock.com นั้นเป็นหนทางหาค่าขนมเล็กๆ น้อยๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้ สร้างความภูมิใจ และเป็นการหาความรู้หลังการเที่ยวที่ดีมากวิธีหนึ่งค่ะเว็บสต็อกขายภาพคืออะไร

ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ หนังสือ นิตยสาร รายการทีวี โฆษณา ต่างก็ต้องใช้ภาพประกอบกันทั้งนั้นใช่ไหมคะ แต่การจะส่งช่างภาพไปถ่ายจากสถานที่จริงหรือจ้างนายแบบนางแบบก็ต้องลงทุนมาก การหาภาพทางอินเทอร์เน็ทก็เสี่ยงถูกฟ้อง ดังนั้นจึงมีเว็บสต็อกขายภาพประเภทนี้เกิดขึ้นเพื่อให้บริการคนเหล่านี้ค่ะ เว็บนี้จะเป็นที่รวบรวมภาพหลากหลายแบบ หลายธีม ครอบคลุมการใช้งานทั่วไปและงานเฉพาะ เป็นตัวกลางระหว่างช่างภาพที่อาสาตัวขายสิทธิ์การใช้รูป (ลิขสิทธิ์ภาพยังเป็นของผู้ขาย 100% สิทธิ์จะไม่ได้ตกกับผู้ซื้อเลย ไม่ใช่การขายขาดลักษณะนั้น เราจะเอาภาพไปทำอะไรต่อก็ได้ เอาไปขายเว็บอื่นด้วยก็ยังได้ค่ะ) กับผู้ซื้อที่ต้องการภาพถ่ายมาใช้อย่างถูกกฎหมาย ผู้ขายภาพจะได้ค่าลิขสิทธิ์เป็นเงินเล็กๆ น้อยๆ จากการดาวน์โหลดของผู้ซื้อ โดยจะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับว่า ผู้ซื้อซื้อแพคเกจแบบไหนกับทางเว็บค่ะ ส่วนผู้ซื้อก็ได้ภาพสวยๆ ไปใช้โดยไม่ต้องลงทุนถ่ายเอง และไม่ต้องกลัวจะถูกฟ้องค่ะ

1 โหลด = 1 ความภูมิใจ

ช่างภาพหลายคนมีกำลังใจที่จะพัฒนาฝีมือเพราะ 1 โหลด แม้จะมีรายได้เพียง 0.25 ดอลลาร์
แต่การที่รู้ว่ารูปที่ตัวเองถ่ายมีคุณค่า เป็นความสุขทางใจที่ประเมินค่าไม่ได้ค่ะ
นับเป็นวิธีการพัฒนาตัวเองที่ดีมากๆ เลยค่ะ

ทำไมต้อง Shutterstock

คลิกดูหน้าขายรูปของจันได้ที่ Shutterstock ค่ะ

สาเหตุที่เริ่มจันเริ่มจาก Shutterstock ก่อน เป็นเพราะว่าเว็บนี้ได้รับความนิยมทั่วโลกค่ะ เป็นเว็บ Stock ที่ค่อนข้างใหญ่ มีชื่อเสียงมานาน มองในแง่ของผู้ซื้อภาพ ส่วนใหญ่จะซื้อเป็นแพคเกจ Subscription เสียเงินปีละประมาณ 80,000 กว่าบาท ซื้อได้เดือนละ 350 รูป ซึ่งเยอะมาก ดังนั้นโอกาสที่จะขายได้ก็มีโอกาสสูง (อย่างน้อยก็จะขายได้จากคนที่ซื้อเพื่อความคุ้ม ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปยอดนิยม รูปใหม่ๆ ที่ลงก็มีโอกาสขายได้) นอกจากนี้ยังมี Application ที่ช่วยเรื่องการใส่ Keyword ได้ง่าย ทำได้ทุกที่ นอกจากนี้ถึงจะ Reject มากๆ ก็ไม่มีผลอะไร ไม่มีการลิมิทการส่งรูปถ้าโดน Reject มากๆ แบบเว็บอื่น ทำให้การขายรูปที่นี่สะดวกสบายจริงๆ ค่ะ

การสอบเป็นผู้ขายภาพกับ Shutterstock

ช่างภาพที่อยากจะขายรูปกับเว็บ ก็สมัครผ่าน Shutterstock Contributor ค่ะ แอคเคาท์นี้จะแยกกันกับแอคเคาท์การซื้อรูปนะ ถ้าใครมีแอคเคาท์ซื้อรูป ก็ต้องสมัครใหม่นะ (สมัครฟรีค่ะ)
รูปทั้งหมดในหัวข้อนี้ Credit : Shutterstock Contributor Support ค่ะ


  1. กรอกข้อมูลพื้นฐานให้ทาง shutterstock
    FullName – ชื่อจริง นามสกุลจริงตาม Passport
    Display name – ชื่อเล่นเหมือน username
    Email ที่ติดต่อได้จริง
    Password จากนั้นกดยอมรับเงื่อนไขและอายุมากกว่า 18 ปี ก่อนจะกด next
  2. เช็คอีเมลแล้วยืนยันอีเมลให้เรียบร้อย

  3. ใส่ที่อยู่จริงเป็นภาษาอังกฤษ

  4. อัพโหลดหลักฐานยืนยันตัวตน ซึ่งก็คือไฟล์สแกนหน้าพาสปอร์ตค่ะ
  5. หลังจากนี้ Shutterstock จะตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ของเรา ระหว่างรอก็อัพรูปไปสอบพลางๆ ก่อนค่ะ

  6. ในขั้นต้นเราจะอัพรูปได้เพียง 10 รูปค่ะ โดยเลือกรูปที่ดีที่สุดไปสอบ เมื่ออัพแล้วเราจะต้องใส่ชื่อภาพ keyword และหมวดหมู่ภาพ (ทุกอย่างต้องกรอกเข้าไปเป็นภาษาอังกฤษหมดนะ (หรือภาษาคาราโอเกะก็ได้ สำหรับชื่อเฉพาะต่างๆ) เมื่ออัพ กรอก แล้วกด Submit ภาพจะอยู่ในสภาพ Pending approval หรือรอตรวจ ถ้าหากใน 10 รูป มีรูปผ่านเพียง 1 รูป เพื่อนๆ ก็จะได้เป็นช่างภาพของ Shutterstock แล้วค่ะ
  7. หลังจากทุกอย่างเรียบร้อยก็สมัคร paypal แล้วกรอกรายละเอียดอีเมล Paypal ในแอคเคาท์ก็จะเรียบร้อยโดยสมบูรณ์ค่ะ

คุณภาพที่วางขายได้

ขอย้ำอีกทีว่า “วาง” ขายได้ แต่จะทำเงินได้หรือไม่ อันนี้แล้วแต่ว่าภาพของเพื่อนๆ เป็นหัวข้อที่ต้องการมากแค่ไหนค่ะ


  1. ถ่ายด้วยมือถือก็โอเค! 

    Shutterstock รับภาพที่ถ่ายด้วยมือถือค่ะ จะเป็นกล้องดิจิตอลเล็กๆ หรือภาพสแกนก็ได้นะ ขอเพียงเป็นภาพความละเอียดเกิน 4 ล้านพิกเซลขึ้นไปเป็นอันใช้ได้ หรือถ้าไม่รู้ให้เอาความกว้าง(พิกเซล) × ความยาว(พิกเซล) ถ้ามีค่าเกิน 4 ล้านก็ใช้ได้ค่ะ (จะสเกลไหนก็โอเค จัตุรัส ผืนผ้า 4:3 widescreen 16:9) ปล. ถ้าจะถ่ายรูปหรือแต่งรูปในแอพที่ไม่ได้มากับกล้อง มีหลายๆ แอพที่แต่งรูปแล้วจะลดขนาดลงโดยอัตโนมัติ ให้เลือกแอพแต่งให้ดีนะคะ
  2. ดูด้วยตา 100% แล้วไม่ผิดปกติ!
    คม ชัด โฟกัสถูกจุด ไม่มืด ไม่สว่างเกินไป ภาพไม่แตก ไม่มีรอยสะท้อน (เช่นพวกถ่ายผ่านกระจก) รอยฝุ่น รอยเม็ดกระดาษ (เวลาสแกน) และรอยผิดปกติต่างๆ รวมถึงสถานที่ไม่ถูกตัด ควรอยู่ครบ เช่นหลังคายอดสุดไม่หายไป อะไรแบบนี้
  3. ไม่มีหน้าคน สัตว์เลี้ยงมีปลอกคอ ไม่ถ่ายในบ้านหรืออาคาร ไม่มีโลโก้ เครื่องหมายการค้า ป้ายชื่อร้าน และป้ายโฆษณาทั้งหลาย !
    ทั้งหมดที่กล่าวมาคือ ถ้ามีต้องมีใบอนุญาตจึงจะนำมาขายได้ค่ะ ถ้าไม่อย่างนั้นต้องเลือกขายแบบ Editorial หรือภาพข่าว ซึ่งจะขายค่อนข้างยาก ถ้าหลบได้หลบ แต่ถ้าจำเป็นต้องติด (เช่นนักท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยว) ลองหาวิธีรีทัชและครอปภาพช่วยเอา จึงจะได้ภาพดีที่สุดค่ะ
    ยกตัวอย่างรูปที่ขายได้ เช่น รูปถ่ายเจาะอาหารตามคาเฟ่ที่ไม่เห็นบรรยากาศในร้านชัดเจน และไม่มีโลโก้หรือชื่อร้านบนจาน แก้ว ขวด หรือทิชชูเช็ดปาก ภาพถ่ายคนด้านหลังที่ไม่เห็นหน้า ภาพทุ่งดอกไม้ (แนะนำอย่าระบุชื่อสวนในชื่อภาพ) น้องแมวข้างทางที่ไม่มีปลอกคอ ภาพวิวที่ไม่ติดนักท่องเที่ยว ภาพวิวถ่ายจากที่สูงๆ ผนังพื้นผิวต่างๆ เป็นต้นค่ะ
  4.  
    ไม่มีคำภาษาต่างประเทศ

    อันนี้แล้วแต่ดวงนะ อันที่จริง บางรูปจันโดนไล่ให้ไปแปลคำที่อยู่บนภาพ บางรูปก็ไม่โดน แนะนำให้เขียน title บอกชัดเจนว่าเป็นของประเทศไหน จะช่วยได้บ้างค่ะ เช่นภาพปลามีป้ายภาษาญี่ปุ่นบอกราคาปลา อาจจะเขียนชื่อภาพว่า “ปลาทูน่าในตลาดสดญี่ปุ่น” แบบนี้ค่ะ
    ปล. จริงๆ ยังมีอีกหลายๆ เหตุที่ทำให้ภาพโดน Reject แต่ที่จันโดนประจำ รวบรวมได้ประมาณนี้ค่ะ

  5. ภาพวาดและ Vector ก็ขายได้นะ!

    Vector ก็ขายได้นะคะ ส่งไฟล์เป็น *.eps ( Downversion เป็น Illustrator 8 หรือ 10) กับ *.jpg ตั้งชื่อทั้งสองไฟล์ต้องเป็นชื่อไฟล์เดียวกัน แล้วอัพพร้อมกันค่ะ
    ปล. แต่จันยังไม่เคยขายภาพ jpg เป็นภาพวาดมาก่อนนะคะ เคยขายแต่ภาพถ่ายกับ Vector เลยไม่แน่ใจว่าต้องทำยังไงบ้าง
คำแนะนำสำหรับการใส่รายละเอียดรูป


Credit : Contributor Application Page

การขายรูปจะมีขั้นตอนหลังการอัพโหลดรูปก็คือการใส่ชื่อรูป Keyword และเลือกหมวดหมู่ ในขั้นตอนนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือ Keyword ที่ควรจะใส่ให้ครอบคลุมมากที่สุด เพราะคนจะหารูปเราเจอหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสิ่งนี้ค่ะ จันมีเคล็ดลับแบบนี้ค่ะ

  1. อัพโหลดรูปผ่านทางคอมพิวเตอร์ เพราะว่าเวลาอัพโหลด อัพได้ทีละเยอะๆ แล้วจันแต่งรูปในคอมพิวเตอร์ก่อนถ่ายอยู่แล้ว ดังนั้นอัพโหลดผ่านคอมพิวเตอร์ไปก่อน
  2. https://vimeo.com/106326531
    ใส่ title และ keyword ในแอพพลิเคชั่น Contributor

    • การตั้งชื่อภาพหรือ TITLE
      หาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ใน wikipedia ภาษาอังกฤษ ความจริงอ่านแค่ย่อหน้าแรกก็จะได้ใจความสำคัญมาเกือบครบแล้ว ดัดแปลงจากตรงนั้นได้เลย แต่ถ้าเป็นรูปลักษณะอื่นอาจจะต้องแต่งประโยคขึ้นมาเองค่ะ รูปที่ถ่ายที่เดียวกันก็ใส่ชื่อภาพแบบเดียวกันได้เลยนะ หรืออาจจะดัดแปลงตามลักษณะรูปภาพบ้าง
       2015 May 5th – Crowded torists at Farmer’s market place at Bruges, Belgium
      ส่วนใครจะส่งแบบ Editorial หรือภาพข่าว ให้ใส่วันเดือนปีที่ถ่าย แล้วเขียนสถานที่ ชื่อเมือง ชื่อประเทศพร้อมความสำคัญของสถานที่ (ก็ดูจากวิกิย่อหน้าแรกได้เช่นกันนะ) พอตั้งชื่อได้แล้วก็เลือกทีละหลายๆ รูปใส่ชื่อ keyword และหมวดหมู่พร้อมกันไปเลย ในแอพฯ เลือกใส่ข้อมูลพร้อมกันได้ทีละ 6 รูปค่ะ
      ปล. ถ้าใส่รูป Editorial ทีละเยอะๆ แล้วไม่แน่ใจว่าชื่อภาพผ่านไหม จันแนะนำให้ Submit ไปแค่รูปเดียวก่อน ถ้าผ่านค่อยกด Submit รูปอื่นๆ ตามไปค่ะ ถ้าโดน Reject จะต้องใส่ชื่อภาพอะไรต่างๆ ใหม่หมด ดังนั้นลองส่งไปรูปเดียวก่อนจะเสี่ยงน้อยกว่าค่ะ
    • การใส่คำค้นหรือ Keyword
      การใส่ Keyword ในแอพฯ เนี่ย จุดที่เยี่ยมมากสำหรับการใส่ Keyword คือการแนะนำคีย์เวิร์ดของแอพฯ ซึ่งจะแนะนำคำขึ้นมาให้เลย โดยไม่ต้องเลือกรูปคล้ายคลึงกันด้วยตัวเอง จะมีคำขึ้นมาให้เรากดเลย เราก็แค่มาดูอีกทีว่าจะใช้คำไหน ไม่ใช้คำไหนค่ะ หลังจากแก้ข้อมูลเป็นเซ็ทแล้ว (ทีละ 6 ภาพที่แนะนำไป) ก็เข้าไปดู Keyword ทีละรูปอีกที ซึ่ง Keyword แนะนำจะเยอะขึ้นเวลาที่แนะนำทีละรูปค่ะ ก็เลือก Keyword พยายามใส่เยอะๆ เลยค่ะ ให้ครอบคลุมที่สุด ชื่อสถานที่ ชื่อเมือง ชื่อเล่น ปราสาท วัง ฤดูกาล ยุคสมัยของศิลปะ สีในภาพ และอื่นๆ ใส่ทุกอย่างที่เห็นในภาพค่ะ อีกอย่างคือถ้าเราใส่คำแปลกๆ เช่นชื่อสถานที่แปลกเป็นภาษาอังกฤษ เช่น Osaka ในคียเวิร์ด แอพฯ จะไม่ถามซ้ำว่าเราใส่คีย์เวิร์ดตัวนี้จริงๆ เหรอ ไม่ต้องกด Submit สองรอบค่ะ การใส่คีย์เวิร์ดต้องระวังการใส่คำซ้ำ เช่น นามเอกพจน์ พหูพจน์ เช่น Flower กับ Flowers เขานับเป็นคำคำเดียวกัน หรือ Verb เฉยๆ กับ Verb+ing ก็เป็นคำเดียวกัน ส่วนจำนวนคำ นะนับตามเว้นวรรคค่ะ เช่น “Neckar River” แบบนี้นับเป็นสองคำ ดังนั้นจำนวนคีย์เวิร์ดในแอพฯ พอ Submit อาจจะเกินได้ แม้แอพฯ จะบอกว่าจำนวนคีย์เวิร์ดไม่ถึงก็ตามค่ะ สุดท้ายกด Submit และรอผลค่ะ
รายได้และสิ่งที่ได้จากการขายรูป

อัตราค่าขายรูปของ Shutterstock จะมีหลายราคา ดูได้จากเว็บของ Shutterstock ตามลิงค์นี้ค่ะ หลักการง่ายๆ คือ ถ้าผู้ซื้อซื้อแพคเกจที่ราคาต่อรูปสูง ค่ารูปที่ซื้อจากเราก็จะได้ราคาสูงขึ้นค่ะ แล้วก็ถ้ายอดขายรวมของเราได้เกิน 500 ดอลลาร์ไปแล้ว อัตราเปอร์เซ็นต์ก็จะสูงขึ้นไปด้วย ประมาณนี้ค่ะ

ของจันเป็นนักขายรูปแบบสมัครเล่น จันเน้นขายภาพที่ถ่ายระหว่างไปเที่ยวเป็นหลัก ไม่ตามเทรนด์หรือถ่ายตามกระแสใดๆ ทั้งสิ้น ตอนนี้จันมีภาพในพอร์ตประมาณ 460 รูป ได้ค่ารูปประมาณรูปละ 0.25 ดอลลาร์ / 1 โหลด ถ้าโชคดีก็ 1.88 ดอลลาร์ / 1 โหลด รายได้ 5 เดือนล่าสุดอยู่ที่เดือนละ 8-11 ดอลลาร์ ยอดโหลดเดือนละ 20-30 รูปค่ะ ก็ไม่มากไม่มาย แต่ก็ทำกันสนุกๆ อ่ะเนอะ อย่างนึงที่ได้คือความภูมิใจ อีกอย่างคือได้เรียนรู้เกี่ยวกับสถานที่ที่ไปอย่างละเอียด ส่วนใหญ่จันจะนั่งอ่านวิกิอย่างละเอียดเพื่อหา keyword เฉพาะด้านเพิ่มเติมค่ะ ฝึกอ่านภาษาอังกฤษ เขียนภาษาอังกฤษไปด้วยในตัว

 

อีกอย่างนึงที่ได้วิชาแบบสุดๆ คือวิชา RETOUCH ค่ะ! พอมีโจทย์ให้ทำแล้ว เพื่อนๆ จะได้ท้าทายวิชา Photoshop ของตัวเองเยอะมากจริงๆ จันทำตั้งแต่ปรับภาพย้อนแสง ลดสีเฉพาะสีในภาพ ลดแสงเหลืองจากหลอดไฟ รีทัชเอาป้ายออก เอาคนออก เปลี่ยนท้องฟ้า เปลี่ยนสีน้ำทะเล อะไรแบบนี้ ได้วิชามากจริงๆ ค่ะ!

จริงๆ จันลองขายอะไรแบบนี้มาบ้างพอสมควร Line sticker ก็ทำมาแล้ว ส่วนตัวจันชอบขายรูปแบบนี้มากกว่า (ถึงมันจะเอาไปใช้คนละแบบก็เถอะนะ แต่จันมองว่าเป็นหนทางทำเงินแบบไม่ค่อยลงทุนคล้ายๆ กัน) การขายรูปกับเว็บสต็อกกินได้ยาวกว่า คนจะเข้ามาซื้อจากเสิร์ชเป็นหลัก ดังนั้นภาพที่อัพไว้จะเก่าจะใหม่ก็มีสิทธิ์ขายได้ อย่างไลน์สติ๊กเกอร์นี่ใช้กระแสนิยมเป็นหลัก พอขายไม่ออกก็เหมือนปิดการขายไปโดยปริยาย ดังนั้นใครที่ชอบทำอะไรแบบนี้ ลองดูการขายรูปเป็นตัวเลือกไว้ก็ดีค่ะ 😁

แล้วพบกันใหม่ตอนหน้านะคะ

*********************
ทั้งหมดเป็นการเขียนและวาดโดยจันเอง
ใครจะก๊อปไปไว้ไหน เครดิต www.nuchun.com ด้วยนะคะ
ขอบคุณค่ะ