Nuchun's Atelier

บล็อกรีวิวเครื่องเขียน l สีมาร์คเกอร์ l อุปกรณ์วาดรูป พร้อมวิธีทำงานประดิษฐ์สนุกๆ ที่ทำได้ที่บ้าน

#Freetimechallenge : สูตรลับการจัดบ้าน

สวัสดีค่า ทุกคน เป็นยังไงกันบ้างคะ?ช่วงนี้ปิดเทอม Covid-19 เพื่อนๆ ทำอะไรอยู่ที่บ้านกันบ้าง? ครั้งก่อนจันนำเสนอวิธีการวางแผนเรื่องการออมเงินไปแล้ว อีกเรื่องที่อยู่ในแผนการออมเงินก็คือ การจัดบ้าน เรามาจัดบ้านไปพร้อมๆ กันเถอะค่ะ !

ความจริงแล้วการจัดบ้าน เป็นการใช้คำที่ดูเหมือนง่าย แต่ถ้าแบ่งแยกย่อยออกมา มันจะเยอะมากเลยค่ะ แค่ลองนับช่องใส่ของที่มีอยู่ในบ้านดูสิคะ เยอะมากๆ เลยใช่ไหมล่ะ วันนี้จันจะสรุปสิ่งที่จันได้มาจากการอ่านหนังสือจัดระเบียบหลายๆ เล่มรวมมาเป็นขั้นตอนที่เพื่อนๆ ทำตามได้มาฝากกันค่ะ

เกินคำว่าเละเทะไปมากโข

เกริ่นนำ : รู้จักสาเหตุของความรก

  1. ของลอยไปลอยมา ไม่มีบ้านให้น้องอยู่เป็นหลักแหล่ง
  2. ที่เก็บของที่มีสีสันฉูดฉาดหลากหมายรูปแบบเกินไป ทำให้ดูเลอะเทอะ (เช่น กล่องเก็บเอกสารที่หลายสี หลายรูปทรงเกินไป หรือการเก็บ packaging ต่างๆ มาเก็บของ)
  3. พื้นที่เก็บของมีมาก แต่สุมตัวกันเป็นจุดๆ จนใช้ไม่สะดวก
ห้องที่จัดเสร็จแล้วจ้าา ใช้เวลาตั้งแต่ 25 มีนาคม – 12 เมษายน บรรยากาศเปลี่ยนไปเลย ได้ความรู้สึกใหม่ๆ เลยล่ะ

Step 1 : ฮาวทูทิ้ง

ไม่ว่าเพื่อนๆ จะอ่านหนังสือสักกี่เล่ม การจัดบ้านต้องเริ่มจากการทิ้งก่อนจริงๆ ค่ะ มีหนังสือเล่มนึงเคยบอกไว้ว่าขอให้ลองทิ้งทุกวันเป็นโซนๆ ไป วันละ 15-30 นาที เช่น วันนี้จะทิ้งของในลิ้นชักชั้นบน ทำไปเรื่อยๆ จนครบทุกที่แบบนี้ค่ะ ในหนังสือแนะนำว่าควรทำทันทีเมื่อกลับถึงห้อง เพราะถ้าตัวเราเริ่มปรับเป็นโหมดผ่อนคลายก็จะไม่อยากทำอะไรแล้ว แต่ในช่วงปิดเทอมนี้ เพื่อนๆ อาจจะลองทำทันทีเมื่อตื่นนอนก็ได้ค่ะ หรือถ้าอย่างมาริเอะ คนโดะ จะใช้วิธีทิ้งทีละประเภท คือเอาของจำพวกเดียวกันมากองรวมกันให้หมดแล้วเลือกทีละชิ้นๆ 

เกณฑ์การทิ้ง

คำว่าการทิ้งในที่นี้ไม่จำเป็นต้องลงขยะอย่างเดียว จะบริจาคก็ได้ ให้คนอื่นก็ได้ หรือ นำไปขายต่อก็ได้ แต่ควรมีกำหนดเวลาว่าจะออกไปได้เมื่อไหร่ จะปล่อยให้อยู่อย่างนั้นไปเรื่อยๆ อันนี้ไม่เรียกว่าทิ้งเด้อ

สูตรที่ 1 : เลือกไว้ 1 ชิ้นจาก 3 ชิ้น สองชิ้นที่เหลือทิ้งให้หมด
หนังสือของ Mentalist Daigo บอกว่า ในทางจิตวิทยา ถ้าเรามี Choice 3 อย่าง เราจะเลือกสิ่งที่เราต้องการเก็บไว้ได้ แต่ถ้าเรามีมากกว่านั้นจะเลือกไม่ได้ ไม่อยากเลือก ก็จะทิ้งไม่ได้สักที ดังนั้นให้เรากองของประเภทเดียวกันสามชิ้นไว้ตรงหน้า จากนั้นค่อยๆ เลือกที่เราชอบที่สุดขึ้นมาจนเหลือที่เราทิ้งไม่ลงแล้วจริงๆ

สูตรที่ 2 : หยิบขึ้นมาทีละชิ้น แล้วถามว่าเรารู้สึกใจเต้นจี๊ดๆ รึเปล่า
สูตรของ Marie Kondo คือ เอาของประเภทเดียวกันจากทุกที่ในบ้านมาสุมรวมกันไว้ แล้วหยิบขึ้นมาทีละชิ้นๆ ชิ้นไหนที่ทำเราใจเต้นตึกตัก ก็ให้เก็บไว้ ชิ้นไหนที่เฉยๆ ไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกอะไร ให้ทิ้งด้วยความรู้สึกขอบคุณ (ขอเสริมนิดนึง วิธีนี้จะได้ผลดีมากขึ้น เมื่อสุมในที่โปรดของเพื่อนๆ เช่นบนเตียง เพราะทำไม่เสร็จก็ไม่ได้นอนนั่นเอง 555)

สูตรที่ 3 : ลดของใช้ให้เหลือชิ้นเดียว
ในหนังสือของ Kyoko Ikeda บอกไว้ว่า พวกของใช้กระจุกกระจิกในบ้าน อย่าง กรรไกร แม๊กซ์ กรรไกรตัดเล็บ พวกนี้ ให้มีแค่ชิ้นเดียวในบ้านพอ เพราะ ถ้ามีเยอะ เราก็จะไม่เอาของไปเก็บให้เข้าที กลายเป็นว่าหาไม่เจอแล้วจะซื้อใหม่อยู่เรื่อยๆ ส่วนตัวจันยังไม่ได้ทิ้ง แต่รวมด้วยกันไว้ในที่เดียวเหมือนกันค่ะ แล้วพบว่ามีกรรไกรอยู่ประมาณ 5 เล่ม ใช้คนเดียว 5555

สูตรที่ 4 : ทิ้งไม่ลงให้ถามคำถามแบบนี้ 
1. ใช้ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ / ตอนนี้ยังใช้ได้อยู่ไหม
2. ถ้าย้อนกลับไปได้จะซื้ออีกไหม
3. ถ้าต้องไปที่ไกลๆ จะเอาไปด้วยไหม
4. ถ้าเอาไปขายต่อจะได้เงินเท่าไหร่
5. มีใครที่เห็นแล้วคิดถึงไหม ถ้าคิดว่าให้คนนี้ต้องชอบแน่ๆ ก็ให้ไปเลย
6. พื้นที่เก็บสิ่งๆ นี้คิดเป็นกี่ตร.ม. แล้วตอนนี้ราคาที่ดินเราอยู่ที่ตร.ม. ละเท่าไหร่ (ได้ผลดีกับของชิ้นใหญ่ เช่น ลู่วิ่งราวตากเสื้อ)

ทิ้งแค่ไหนถึงจะดี?

หนังสือเล่มหนึ่งแนะนำว่า ให้เราลดปริมาณสิ่งของจนเหลือพื้นที่ประมาณ 60% ขณะที่ทิ้งก็ให้เอาของที่เหลือไปวางที่เดิม โดยยังไม่ต้องคำนึงถึงความสวยงามและไม่ซ้อนกัน ของทุกชิ้นต้องได้ยืนหนึ่ง ไม่เอียงนอน ซ้อนกัน ถ้าได้พื้นที่ว่างที่เราต้องการแล้วก็โอเค 

Step 2 : สังเกตพฤติกรรม

ขั้นต่อมาที่อยากให้ทำคือการสังเกตพฤติกรรมเวลาใช้ห้องค่ะ หนังสือหลายเล่มบอกว่าที่ห้องเรารก ไม่ใช่เพราะว่าเพราะห้องเราแคบ แต่เพราะว่าที่เก็บของไม่สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของเรา เช่น ทันทีที่ถึงห้องเราทำอะไรก่อนคะ วางกุญแจห้องหรือคีย์การ์ดใช่ไหมคะ ดังนั้นหน้าประตูทางเข้า ควรมีที่วางกุญแจหรือคีย์การ์ด ต่อจากนั้นเราหาที่วางกระเป๋าของเรา อาจจะอยู่ในห้องนอนเพื่อความปลอดภัย เราก็ควรจะมีที่วางกระเป๋าในบริเวณที่เราวางง่ายๆ ข้างกันอาจจะมีถังขยะ ให้เราเริ่มกำจัดจดหมายที่หยิบมาจากตู้ไปรษณีย์ เหลือไว้แต่เอกสารที่สำคัญ เป็นต้น จะเห็นว่าถ้าเราวางของที่จำเป็นไว้สัมพันธ์กับความเคลื่อนไหว มันจะเอื้อให้เราทำสิ่งต่างๆ ที่ควรทำง่ายขึ้น แล้วห้องก็จะถูก Reset ให้เข้าที่ทุกๆ วันนั่นเองค่ะ

Step 3 : เก็บอย่างไร

หลังจากที่สังเกตพฤติกรรมแล้ว ก็ให้เลือกพื้นที่ที่จะเก็บของให้เหมาะกับการเคลื่อนไหว ง่ายๆ ก็คือ ทำอะไรตรงไหนก็ให้มีของที่จำเป็นรวมกันไว้ นอกจากนี้ควรรวมหมู่ของประเภทเดียวกันไว้ที่เดียวกันด้วยค่ะ เวลาเราจะหาอะไรจะได้รู้คร่าวๆ ว่า หมวดนี้ไปหาตรงไหนเจอแน่ เราก็จะลดเวลาหาของลงไปได้อีกเยอะเลย

สถานที่เก็บของควรเอาความหยิบง่ายใช้สะดวกเป็นเกณฑ์อีกอย่างหนึ่ง โดยให้เราเอาสายตากับระยะมือหยิบมาเป็นเครื่องมีกำหนดค่ะ

  1. พื้นที่ระดับสายตา คือพื้นที่สำหรับของที่ใช้บ่อยๆ
  2. พื้นที่ที่ยังเอื้อมถึง คือของที่ไม่ค่อยได้ใช้ แต่อยากใช้ให้บ่อยขึ้น 
  3. พื้นที่บริเวณที่หยิบยาก เช่นต้องปีนบันได มุดพื้น ต้องใช้ความพยายามมากๆ จันจะเอาไว้พวกของตุนค่ะ เช่น ยาสระผมที่ซื้อมาตุนตอนลดราคา ครีมบำรุงผิว เครื่องสำอางค์ต่างๆ ก็จะเก็บไว้ตรงนั้น เป็นพื้นที่ที่เราจำได้คร่าวๆ ว่ามีอะไรอยู่ แล้วไปหาเมื่อของหมดค่ะ เพราะของก็ไม่ได้หมดบ่อยๆ อยู่แล้ว แค่รวมกันไว้ให้มองแล้วเห็นชัดๆ เวลาต้องการก็พอ

เรื่องพื้นที่เก็บของเนี่ย ก็เหมือนเป็นจิตใต้สำนึกของทุกคนว่า เวลาบ้านรกต้องซื้อตู้ แล้วบ้านจะหายรก หรือก็คือต้องหาบ้านให้น้องๆ นั่นแหละค่ะ จันไปอ่านหนังสือเล่มนึงมา ของลู่เหวยซึ่งเป็น interior design เขาบอกว่า สำหรับบ้านแล้วต้องมีพื้นที่เก็บของมากกว่า 12% ของพื้นที่ทั้งหมด และยิ่งบ้านเล็กยิ่งต้องมีพื้นที่เก็บของให้มาก โดยพื้นที่เก็บของแนวสูง (พวกที่ทำตู้บิลท์อินทั้งผนังจากพื้นถึงเพดาน) เป็นการใช้พื้นที่คุ้มค่าที่สุด และพื้นที่เก็บของต้องกระจ่ายอยู่ทุกๆ ที่ เพื่อให้อยู่ใกล้มือที่สุดด้วย

แต่เอาจริงๆ ก็มีน้อยคนนัก ที่จะได้อ่านหนังสือแบบนี้ก่อนซื้อหรือสร้างบ้านเนอะ 

สิ่งที่เราทำได้อีกอย่างคือการทิ้งเมื่อซื้อของชิ้นใหม่เข้ามา ไดโกะบอกให้ทิ้ง 2 ซื้อ 1 ค่ะ แล้วเขาแนะนำให้ซื้อของใหม่ที่ Multi-function มากขึ้น เพื่อให้ลดปริมาณสิ่งของลง ขณะที่ยังทำอะไรได้เท่าเดิมหรือมากขึ้นค่ะ

Step 4 : “กดปุ่มรีเซตกลับเป็นศูนย์” ทุกๆ วัน

เมื่อจัดเสร็จแล้ว สุดท้าย สิ่งที่จะทำให้บ้านเรียบร้อยตลอดไป ก็คือใช้เวลาสองสามนาทีในการกดปุ่มรีเซตกลับเป็นศูนย์ทุกๆ วัน หรือก็คือการทำให้ทุกอย่างอยู่ในที่ของมันทุกๆ วันนั่นเองค่ะ แค่นี้การจัดห้องก็จะ Complete~

สำหรับใครที่รู้สึกว่าอ่านแล้วยังมีแรงบันดาลใจไม่พอ เดี๋ยวครั้งหน้าจันจะมาแนะนำหนังสือและรายการทีวีที่ทำให้ได้แรงบันดาลใจในการจัดบ้านและได้ความรู้ไปพร้อมกันค่ะ

*********************
ทั้งหมดเป็นการเขียนและวาดโดยจันเอง
ใครจะก๊อปไปไว้ไหน เครดิต www.nuchun.com ด้วยนะคะ
ขอบคุณค่ะ