Nuchun's Atelier

บล็อกรีวิวเครื่องเขียน l สีมาร์คเกอร์ l อุปกรณ์วาดรูป พร้อมวิธีทำงานประดิษฐ์สนุกๆ ที่ทำได้ที่บ้าน

Experience เก็บมาเล่า : ตอนที่ 1 : จดกันเข้าไป

พักนี้ชีวิตว่างๆ ที่ยังหางานที่รักที่ชอบไม่ได้เสียทีของจัน วนเวียนอยู่กับการเก็บข้อมูล เทคนิคการเรียน หรืออะไรพวกนี้หลายอย่าง
เหมือนทุกอย่างโคจรมาพบกันโดยบังเอิญ…


(Credit : http://www.tbs.co.jp/dragonzakura/)
ทั้งซีรีส์ญี่ปุ่นที่ดู เรื่อง Dragon Zakura ซึ่งอัดแน่นไปด้วยเทคนิคการเรียนเพื่อสอบเอ็นทรานซ์
ทั้งการฟังอบรมวิชาชีพหนังสือ ที่ผู้บรรยายหลายคนพูดถึงการเก็บข้อมูลของตัวเองเพื่อเขียนงานเขียนและงานแปล
ทั้งโปสเตอร์ของอาจารย์ที่รับจ๊อบมา ก็เป็นเรื่องเทคนิคการเรียนการสอนวิชาการเขียนภาษาอังกฤษ


แถมไปร้านหนังสือเก่า ดันไปเจอหนังสือเทคนิคการจด Lecture ของมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของญี่ปุ่นซึ่งรวบรวมเทคนิคการจดเอาไว้อย่างละเอียดยิบ


สุดท้าย ความรู้สึกนึกคึกที่อยู่ๆ ก็จับดินสอ ปากกา และสมุดอีกหลายเล่ม มานั่งสรุปเนื้อหาวิชาและประสบการณ์ตรงที่เกี่ยวข้องกับสายงานที่อยากทำ และ รวบรวมผลิตภัณฑ์ที่ตัวเองชอบเอาไว้เป็นไอเดียในการทำของขาย

ทั้งหมดนี้ก็ส่งผลมาสู่บล๊อคที่อยากจะแชร์เรื่องราวเกี่ยวกับการรวบรวม ข้อมูล การจด Short note การย่อความ เทคนิคการจดโน้ตทั้งหลาย และการจัดข้อมูลอย่างเป็นระบบ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับหลายๆ คน น่าจะเอาไปปรับได้กับชีวิตของตัวเอง ทั้งนักเรียน นักศึกษา และ คุณผู้ใหญ่ทั้งหลาย

กด More เพื่ออ่านต่อนะคะ ยาวอ่ะค่ะ (มีเทคนิคการจดเพื่ออัพเกรดการเรียนกันด้วยนะจ้ะ)

….

คุณเชื่อไหมคะ
ว่าการรวบรวมสิ่งต่างๆ ไว้ในสมุดเล่มหนึ่งนั้นเป็นสิ่งที่เด็กๆ ชาวฝรั่งเศสได้รับการปลูกฝังตั้งแต่อนุบาล
โรงเรียนฝรั่งเศสในไทยที่อาจารย์ที่คณะเคยไปชมการเรียนการสอนนั้น
อาจารย์กลับมาเล่าให้ฟังว่า เด็กๆ ทุกคนจะมีสมุดคนละเล่ม ครูอาจารย์จะสอนเรื่องราวต่างๆ แล้วให้เด็กๆ ตัดแปะไว้เรื่องราวเหล่านั้นไว้ในสมุดเล้มหนึ่ง จากนั้นเมื่อสอนเรื่องใหม่ก็จะโยงมาสู่เรื่องที่เคยสอนไปแล้ว และเด็กๆ ก็จะไปหาเนื้อหาในสมุดเล่มนั้น

จะว่าไปตอนเด็กๆ จันเคยตัดแปะรูปที่จันชอบลงสมุดไว้เหมือนกัน

จันว่าการรวบรวมสิ่งที่เราสนใจไว้ในที่เดียวกันแล้วจัดให้เป็นระบบนั้น ดีมากๆ เพราะสมองของคนเราลืมได้ แถมยังเปลี่ยนหรือบิดเบือนความทรงจำได้อีกต่างหาก ดังนั้นไม่ว่าจะเป็น การจดบันทึกเพื่อการเรียน ความสนใจส่วนตัว และประสบการณ์ ก็ล้วนแล้วแต่ดีทั้งนั้นล่ะค่ะ

….

ถ้าลองคิดว่าเรา “จด” แบบไหน ณ ช่วงเวลาใดมากที่สุด ก็คงเป็นการจดตอนเรียนหนังสือนี่ละ

การจะเรียนหนังสือได้ดี การจด Lecture เป็นสิ่งจำเป็นมากๆ เลยนะคะ
เพราะเราต้องฟัง เข้าใจ และเขียนลงไป ซึ่งจันว่าเป็นกระบวนการที่ทำให้เราจำได้
ที่จันเรียนรอดมาได้ก็เพราะการจดนี่ล่ะค่ะ แต่ก็มีหลายๆ เทคนิคการ “จด” ที่อยากจะแนะนำให้เอาไปใช้กันนะคะ

(เคล็ดลับฉบับญี่ปุ่น Credit : 東大合格生のノートはかならず美しい)

1. การจดนั้น เราไม่จำเป็นต้องจดทุกคำพูดแต่ให้ฟังแล้วเราเข้าใจว่ายังไงก็ให้จดตามนั้น เป็นภาษาของเรา

อย่าตะบี้ตะบันจด เพราะไม่อย่างนั้นคุณอาจจะไม่ได้อะไรเลย
คุณจะงงเมื่อเอากลับมาทบทวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นเนื้อหาที่เข้าใจได้ยากหรือเป็นภาษาต่างประเทศแล้ว

อย่างจันเรียนศิลปศาสตร์ วิชาเอกภาษาฝรั่งเศสมา การจะจดตามคำพูดของอาจารย์ฝรั่งทุกคำพูดนั้นเป็นเรื่องยากมาก T^T
ดังนั้นจันจะจับความให้เข้าใจแล้วค่อยจดเป็นภาษาไทย โดยเฉพาะพวกวิชาที่เน้นการปฏิบัติ เราสามารถจดเป็นความเข้าใจของเราได้ ไม่ต้องจดเป็นภาษาฝรั่งเศสตามคำพูด ไม่อย่างนั้นเราอาจจดผิดและสร้างปัญหาในภายหลังได้ค่ะ

2. การจดนั้น ต้องจดให้เป็นระเบียบ

เป็นระเบียบไม่ได้หมายความว่า ตัวบรรจง ลายมือสวยงาม (แต่ถึงไม่สวยก็ต้องอ่านออกนะคะ) แต่ให้จดเป็นขั้นเป็นตอน หัวข้อใหญ่ หัวข้อย่อย ต้องจดให้เป็นลำดับชัดเจน เพื่อที่เราจะได้ดูง่าย ใช้การเยื้องกับการย่อหน้า (เหมือนกด tab ใน word) ส่วนหัวข้อใหญ่ให้เขียนตัวใหญ่ๆ หรือล้อมกรอบให้ชัดเจนว่า อันนี้นะ หัวข้อใหญ่

การย่อหน้านอกจากจะเป็นประโยชน์ในเรื่องทำให้ดูง่ายแล้ว ยังเป็นประโยชน์ในเรื่องพื้นที่ ถ้ามีข้อมูลเพิ่มเติมเราสามารถเขียนบริเวณที่เว้นว่างนั้นได้ อย่างปัญหาหนึ่งที่จันมักจะพบในการจดคือ อาจารย์ชอบบอกหัวข้อย่อยทั้งหมดมาก่อนแล้วค่อยอธิบาย ซึ่งถ้าเราจดหัวข้อย่อยก่อนแล้วจดคำอธิบายแล้วมักจะที่ไม่พอเป็นประจำ วิธีแก้คือการจดหัวข้อย่อยที่อาจารย์บอกก่อน แล้วจดคำอธิบายแยก หรือ ไม่ต้องจดหัวข้อย่อยที่อาจารย์พูดมาทั้งหมด แต่รอจดพร้อมกับคำอธิบายแล้วแต่ลักษณะการจดของแต่ละคน แต่ถ้าเผลอจดไปซะแล้ว ถ้าที่ไม่พอก็จดตรงที่ว่างๆ ต่อก็ยังไหวค่ะ

3. ถ้าต้องจดข้อความเป็น paragraph และเป็นภาษาที่ไม่คุ้นเคย ให้จดบรรทัดเว้นบรรทัด

อันนี้ได้มาจากหนังสือญี่ปุ่นค่ะ ข้อดีของการจดบรรทัดเว้นบรรทัดคือ เราสามารถจด ศัพท์ หน้าที่ของคำในประโยคนั้นๆ วิเคราะห์รูปประโยคได้ หรือถ้าเป็นงานเขียนส่งอาจารย์ อาจารย์เราควรเว้นบรรทัดให้อาจารย์เช่นกัน เพื่อความสะดวกในการแก้ไขและคอมเม้นท์ค่ะ

4. วาดรูปหรือแปะรูปที่เกี่ยวข้องลงไปจะช่วยเรื่องการจำมากขึ้น

ข้อนี้ได้มาจากหลายแหล่งค่ะ ทั้งในซีรีส์ จากการอบรม และจากหนังสือ เหตุผลที่เราควรใช้รูปภาพช่วยนั้นก็เพราะว่าสมองที่จำข้อความกับจำภาพนั้นเป็นสมองคนละส่วนกัน ดังนั้นถ้าเราใช้ภาพคู่กับตัวอักษร ถ้าเราลืมก็จะยังมีข้อมูลสำรองอยู่ในสมองอีกส่วน ทำให้เรานึกออกได้

เขียนไปเขียนมาชักยาว
ขอรวบไปต่ออาทิตย์หน้านะคะ ^^

*********************
ทั้งหมดเป็นการเขียนและวาดโดยจันเองใครจะก๊อปไปไว้ไหน
เครดิต www.nuchun.com ด้วยนะคะ
ขอบคุณค่า