Nuchun's Atelier

บล็อกรีวิวเครื่องเขียน l สีมาร์คเกอร์ l อุปกรณ์วาดรูป พร้อมวิธีทำงานประดิษฐ์สนุกๆ ที่ทำได้ที่บ้าน

[Drawing] Winsor & Newton Watercolour Marker Review (ฉบับนักสีน้ำมือใหม่)

P1210127

วันนี้มาเอารีวิวปากกา Watercolour Markers ของแบรนด์ผู้ผลิตสีน้ำชื่อดัง สัญชาติอ้งกฤษ “Winsor & Newton” มาฝากกันตามสัญญาค่ะ
จากที่ลงรูปไป เห็นยอดแชร์และไลค์กันกระหน่ำจนน่าตกใจ แต่จันไม่มีประสบการณ์ด้านสีน้ำมากนัก (ปกติใช้ Alcohol-based Marker) ดังนั้นรีวิวนี้ หากมีนักวาดสีน้ำเห็นว่าขาดประเด็นไหนไป ก็โพสต์มาถามไว้ได้นะคะ ทั้งทางเพจและคอมเมนท์ค่ะ

img064

มาร์คเกอร์ระบายน้ำเซ็ทนี้ ซื้อมาจากร้านสมใจ สาขาสีลมคอมเพล็กซ์ ในราคา 850 บาท (ราคาวันที่ 30.03.16) กล่องเหล็ก เซ็ท 12 สีค่ะ ภายในกล่องมีสี Lemon Yellow Hue, Cadmium Yellow Hue, Cadmium Red Hue, Alizarin Crimson Hue, Dioxazine Violet, Prussian Blue Hue, Cerulean Blue Hue, Hooker’s Greek Dark, Sap Green, Yellow Ochre, Burnt Umber และ Ivory Black ชื่อสีแบบเดียวกับตระกูลสีน้ำ จริงๆ แล้วมีแบบเซ็ท 6 สีด้วย ส่วนแบบแยกแท่งจะมีทั้งหมดจริงๆ 36 สีค่ะ แต่จันลืมถามที่ร้านว่าเขาเอามาขายทั้งหมดไหม

00829-group-3ww-l

Credit : dickblick.com

มาร์คเกอร์แบบนี้เรียกว่า Watercolour Marker (Water-based) ค่ะ เนื่องจากส่วนผสมเป็นน้ำ ทำให้ไม่มีกลิ่นฉุนจากแอลกอฮอล์ มีสองหัวในด้ามคือหัวแหลมกับหัวพู่กัน หัวพู่กันเป็นหัวแบบ Copic ไม่ได้เป็นขนๆ แบบพู่กันจริงๆ สำหรับหมึก คุณ Fifa Wanwisa ถามมาในเฟสบุคว่ามีหมึกเติมไหม ไปเช็คดูแล้วรู้สึกจะไม่มีค่ะ

20160402_162026

มาร์คเกอร์ของ Winsor & Newton หมึกจะค่อนข้างแน่นและเข้มชัด ลงแล้วเรียบเนียน ไล่น้ำหนักมือไม่ได้ ลงสีทับสีเดิมแล้วสีไม่เข้มขึ้นเหมือนพวกแอลกอฮอล์ (แต่กระดาษจะยุ่ยได้นะ) เวลาเบลนด์จะเป็นสีน้ำประเภทโปร่งใส สีจะไม่สะท้อนแสงเหมือนของ Zig Clean Color Real Brush ทำให้มีความเป็นธรรมชาติมากกว่าค่ะ

ข้อดีมากๆ ข้อนึงที่เขียนไว้ข้างกล่อง เขาบอกว่าหมึกของมาร์คเกอร์นี้จะดีกว่าสีน้ำ ตรงที่ “ทนแสงได้” ค่ะ หรือก็คือ “ไม่จางเมื่อกระทบกับแสง” (ภาษาอังกฤษเรียกว่า Lightfastness เกิดขึ้นจากแสงที่กระทบกับผิวผลงานที่ลงสีไว้ ไปปรับเปลี่ยนหรือทำลายพันธะเคมีของสี ทำให้สีซีดลงหรือเปลี่ยนไป) ดังนั้นรูปที่ระบายด้วยมาร์คเกอร์ชนิดนี้ เอาไปตั้งโชว์ที่มีแสงส่องถึงได้ โดยไม่ต้องกลัวสีจางค่ะ

Winsor & Newton Watercolour Marker x PAPER

New WC Marker Pads 250x315px
Credit : winsornewton.com

หลังจากโพสต์เกี่ยวกับสีไป มี Comment ของคุณ Natcha Illilaz Buama ทางเฟซบุค บอกว่าสียี่ห้อนี้เบลนด์ไม่ได้กับกระดาษทุกชนิด ต้องใช้กระดาษเฉพาะ จันเลยไปทดลองกับกระดาษหลายๆ ยี่ห้อ แล้วระบายน้ำมาได้ผลตามนี้ค่ะ

wn-paper

ที่ได้ผลดีที่สุดคือกระดาษสีน้ำ Waterford ซึ่งเป็นกระดาษสีน้ำใยฝ้ายแบบ 100% ขายแผ่นใหญ่มาตัดเอง แผ่นละประมาณ 200 บาทได้ค่ะ กระดาษยี่ห้ออื่นที่เป็นใยฝ้าย 100% มีกระดาษ ARCHES (ร้านสมใจ), Fabriano (ร้านสมใจ) , Khadi (ร้าน Lamune) ส่วนกระดาษอื่นๆ ที่ทดลอง จากที่ถามพี่ที่ทำงานซึ่งเป็นครูสอนสีน้ำ บอกว่าเป็นกระดาษที่มีส่วนผสมเยื่อไม้ อาจจะไม่เหมาะกับสีตัวนี้ ผลพวงจากการที่ต้องใช้กระดาษใยฝ้ายทำให้เมื่อสีแห้งแล้ว จะเช็ดซับสีออกจากกระดาษไม่ได้ค่ะ และเมื่อสีแห้งแล้วจะเบลนด์สีไม่ค่อยได้ ระวังกันด้วยนะ

Winsor & Newton Watercolour Marker x ฺBLENDING

20160401_143227 img061-1

ภาพที่ลองภาพแรก จันใช้กระดาษ Waterford แล้วลงสีแบบ Underwater คือลงสีโทนของรูปก่อน เมื่อแห้งแล้วลงสีจริงทับ (อ่านวิธีจากหนังสือมา 55) ผลก็คือการเบลนด์ไม่ได้ดั่งใจค่ะ ยังเห็นรอยป้ายสีลงบนกระดาษอยู่เพียบ (ชัดสุดคือตรงนาฬิกา มุมบนซ้าย) คือระบายน้ำแล้วไม่เบลนด์ให้เลย เพราะเราระบายน้ำแล้วมันแห้งไปแล้ว ตามคุณสมบัติของกระดาษ

กับภาพใหม่ เลยลงบนกระดาษสดๆ เบลนด์ได้ปกติ เหมือนสีน้ำแบบก้อนเลยค่ะ ลองดูได้จากคลิปค่ะ

blend (2)

นอกจากนี้ ขณะที่สีหนึ่งยังไม่แห้ง สามารถลงอีกสีทับ แล้วออกมาเป็นสีผสมก่อนเกลี่ยได้ค่ะ คล้ายๆ กับการผสมสีในจานสี ถ้าหัวเปื้อนเช็ดด้วยทิชชูนะ แต่วิธีนี้หากต้องการผสมสีอ่อนกว่าสีจริง เช่น ผสมสีเหลืองกับสีแดงเพราะต้องการสีเนื้อ จะยังทิ้งรอยจางๆ เอาไว้ค่ะ เพราะสีใสๆ กลบรอยไม่มิดนั่นเอง ตรงจุดนี้ยังแก้ปัญหาไม่ได้อยู่ดีค่ะ สีผิวเลยออกมาซีดมาก จะลงเข้มๆ ก็ใจไม่ถึงอ่ะ อยากได้สีชมพู > < อ้อ อีกอย่าง จากที่ลองระบาย เราเว้นช่วยที่เป็นสีอ่อนแล้วระบายน้ำเยอะๆ ได้เลยค่ะ ไม่จำเป็นต้องลงสีเต็มพื้นที่เหมือนมาร์คเกอร์แอลกอฮอล์ สีเนี่ยเกลี่ยได้มากพอสมควรเลยค่ะ

เทคนิคการ Blending เพิ่มเติม

img061-2

  1. ระบายน้ำสะอาดก่อนแล้วทาสีตาม จะทำให้รอยสีที่เป็นเส้นๆ จางลง เป็นฟุ้งๆ จากนั้นจะเกลี่ยด้วยน้ำซ้ำก็จะง่ายขึ้นค่ะ (เขาเรียกแห้งบนเปียกใช่ไหม)
  2. 20160402_180404
    จุ่มหัวลงในน้ำสะอาด ไม่ต้องนานนะ อย่าแช่นะคะ จะทำให้สีอ่อนลงเล็กน้อย แล้วสีจะค่อยๆ เข้มขึ้น คืนสภาพเดิม (สังเกตปลายหัวจะสีอ่อนลง)
  3. P1210103 P1210104
    ถ้าระบายสีแล้ว เกลี่ยแล้วยังเข้มไป ให้ใช้ทิชชูสะอาดซับ สีก็จะอ่อนลง แต่ต้องระวังสีกระจายออกเกินพื้นที่ที่ต้องการระบายด้วย

20160402_173517

สีแบบนี้จริงๆ เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับพกพาไปข้างนอกค่ะ เพราะน้ำหนักเบามากเลย พกกระดาษ สีกล่องนึง พร้อมพู่กันแบบมีน้ำในตัวก็วาดภาพได้แล้ว เป็นทางเลือกที่ดีทีเดียวล่ะนะ

P1210131

จากมาร์คเกอร์สู่สีน้ำ

ตรงนี้ขอคอมเมนท์ในฐานะคนที่ใช้มาร์คเกอร์ แล้วสนใจอยากลองเล่นสีนี้นะคะ หลังจากได้ลองสีแบบนี้ ซึ่งก้ำกึ่งระหว่างสีน้ำกับมาร์คเกอร์ ส่วนตัวแล้วคิดว่าต้องใช้พื้นฐานสีน้ำมากกว่ามาร์คเกอร์ค่ะ แล้วจากพฤติกรรมที่ติดมาจากมาร์คเกอร์เล็กๆ น้อยๆ ทำให้เป็นอุปสรรคเหมือนกัน เช่น ต้องรอสีแห้งก่อนถึงจะระบายช่องต่อไปได้ หรือต้องระบายแบบกระจายๆ แทนที่จะระบายจบเป็นส่วนๆ ไป เพราะไม่งั้นสีจะปนกันมั่วไปหมด อีกอย่างคือขนาดภาพที่ระบายใหญ่ๆ จะง่ายกว่าซึ่งตรงข้ามกับมาร์คเกอร์เลย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องใช้เวลาปรับตัวให้เคยชินกับธรรมชาติของสีอ่ะนะ แต่ภาพที่ได้น่าประทับใจทีเดียวล่ะ ถ้าชอบสีน้ำก็น่าลองทีเดียว

20160403_164653

ข้อดี

  1. สีเหมือนสีน้ำมาก เป็นธรรมชาติ
  2. ไม่ต้องใช้จำนวนสีเยอะนัก ก็วาดได้หลากหลาย
  3. ราคา (ถ้าไม่เปลี่ยนแปลง) ก็ถือว่าคุ้มค่ากับคุณภาพและแพคเกจ
  4. ลงสีน้อย กินพื้นที่มาก ทำให้ไม่เปลืองสีมากนัก
  5. ทนแสง ไม่จางเมื่อกระทบกับแสงเหมือนสีน้ำทั่วไป

ข้อเสีย

  1. ต้องใช้กระดาษเฉพาะมากๆ ใช้กระดาษทั่วไปไม่ได้ และกระดาษราคาแพงอยู่
  2. ยังทดแทนสีน้ำไม่ได้ 100% เทคนิคบางอย่างของสีน้ำ ยังทำไม่ได้
  3. ในเซ็ท สีหนักไปทางสีเข้ม บางครั้งในพื้นที่เล็กๆ ที่ต้องการใช้สีอ่อนๆ พื้นที่เบลนด์ไม่พอ ทำให้ได้สีเข้มกว่าที่ต้องการ
  4. ระบายน้ำได้เพียงครั้งเดียว จะเกลี่ยสีไม่ได้อีกหลังจากสีที่ลงน้ำไว้แห้ง

20160403_115641

สุดท้าย ขอขอบคุณผู้แนะนำเรื่องสีน้ำ (จากบื้อๆ นี่มีความรู้ขึ้นเยอะเลย) : พี่ที่ทำงานซึ่งเป็นครูสอนสีน้ำ หนังสือสีน้ำแสนสนุก และ SS illustration Book และขอบคุณเพื่อนๆ ที่แชร์กันกระหน่ำ บ้างลากเพื่อนมาดู 55 ขอบคุณมากค่ะ

*********************
ทั้งหมดเป็นการเขียนและวาดโดยจันเอง ใครจะก๊อปไปไว้ไหน
เครดิต www.nuchun.com ด้วยนะคะ
ขอบคุณค่า