Nuchun's Atelier

บล็อกรีวิวเครื่องเขียน l สีมาร์คเกอร์ l อุปกรณ์วาดรูป พร้อมวิธีทำงานประดิษฐ์สนุกๆ ที่ทำได้ที่บ้าน

[Character Design] ตอนจบ : วิธีการออกแบบตัวละคร

วันนี้ลองหยิบปากกาดินสอมาขีดๆ เขียนๆ คาแรคเตอร์ของเราเองกันเถอะ

STEP 1 : หาเป้าหมาย

  • เน้นติดใจผู้ชม : หาจุดร่วมของตัวละครกับกลุ่มเป้าหมาย เข้าใจง่าย มีอารมณ์ร่วม รู้จักใช้คำพูด
  • เน้นภาพลักษณ์ : เป็นมิตร น่ารัก ไม่เป็นทางการ
  • เน้นผลิตสินค้า : หลากตัวละครได้ง่าย มีภาพ มีธีม การใช้สีชัดเจน

STEP 2 : คิดถึงรูปทรงโดยภาพรวม

เพราะเส้นและรูปทรงเป็นสิ่งที่สื่อความบางอย่างได้ ลองจับคู่ภาพรวมที่ต้องการกับรูปทรงพื้นฐานดูก่อน อย่าเอาฝีมือการวาดของเราเป็นที่ตั้งค่ะ

ตัวอย่างหนึ่งที่ดีที่สุดเกี่ยวกับการใช้รูปทรงพื้นฐานคิดตัวละคร ก็คือการออกแบบตัวละครนามธรรมในเรื่อง Inside Out ของ Pixar ค่ะ เพื่อนๆ ลองดูในคลิปนี้ประกอบนะ แต่จันจะสรุปรวบๆ ให้ได้อ่านตรงนี้ด้วยนะคะ

โจทย์เรื่องนี้ก็คือจะทำให้อารมณ์แต่ละอย่าง เช่น “ความสุข” หรือ “ความเศร้า” ออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร เมื่อคิดถึง “ความสุข” มันมาจากหัวใจหรือเป็นความรู้สึกเหมือนระเบิดไปทุกทิศทุกทาง คิดถึงอะไรสักอย่างที่เหมือนลำแสงที่ส่องออกมา เช่น ดอกไม้ไฟ พอเขียนให้เป็นรูปก็จะเหมือนสิ่งที่ลากออกมาจากจุดกึ่งกลางแล้วระเบิดออก ส่วน “ความโกรธ” เราคิดถึงกล่องสี่เหลี่ยม “ความรังเกียจ” นั้นเราคิดถึงการชี้นิ้วและคงต้องมีมุมแหลมๆ เราจึงคิดภาพ “ความรังเกียจ” เป็นสามเหลี่ยม ส่วน “ความกลัว” เราใช้เครื่องหมายคำถาม (?) เป็นสื่อ สุดท้าย “ความเศร้า” นั้น เราคิดถึงหยดน้ำตาหรือไม่ก็น้ำตก จึงเป็นภาพหยดน้ำที่จะสื่อถึงความเศร้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้สัญลักษณ์พื้นฐานของตัวละคร
การนำสัญลักษณ์พื้นฐานมาพัฒนาเป็นตัวละคร
อย่าง “ความเศร้า” นั้น เราพยายามคงรูปร่างหยดน้ำบนรูปร่างของเธอ เมื่อร่างภาพก็วาดทรงหยดน้ำตัดยอดแล้วพยายามคงรูปทรงนั้นไว้ในรูปร่างของ “ความเศร้า” จากนั้นใส่หยดน้ำเข้าไปอีกบนส่วนอื่นๆ อย่างตรงหัวก็เป็นจุดเริ่มที่ดี เธอต้องมีแววตาเศร้า จึงวาดตาเล็กๆ หางตาชี้ลงด้านล่างเหมือนหนัก จากนั้นใส่เสื้อสเวตเตอร์ขนสัตว์นุ่มๆ ให้เธอ ขณะที่ “ความสุข” จะเป็นตัวละครที่แสดงอารมณ์ชัดเจน ดวงตาโตและชี้ขึ้นข้างบนตลอดเวลาเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของการแผ่รังสีไปทุกทิศทาง เธอจะกางแขนกางขาออกมา แต่ “ความเศร้า” จะนิ่งๆ เราจึงพยายามให้เธอหุบแขนเอาไว้ข้างตัว ส่วน “ความรังเกียจ” จะชอบตัดสินสิ่งต่างๆ เราเลยเพิ่มตาทรงอัลมอนด์ให้เธอ เธอมักจะมองค้อนด้วยหางตา แล้วทำหน้าสงสัยอยู่ตลอดเวลา เพราะเธอกำลังตัดสินอะไรสักอย่าง แล้วรู้สึกรังเกียจ “ความสุข” จะเป็นตัวละครแบบที่เพิ่งตื่นนอนแล้วไม่อยากแต่งหน้าหรือทำผม แค่อยากออกไปวิ่งเล่นข้างนอก ขณะที่ “ความรังเกียจ” จะรักสวยรักงาม ทำเล็บ มีขนตายาวๆ และแต่งตัวดีมาก ซึ่งคนพากษ์เรื่องนี้ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน

STEP 3 : รวบรวม idea

ลองรวบรวมความคิดออกมา แล้ววาดออกมาเยอะๆ เพื่อเลือกตัวละครที่เหมาะสมที่สุด ลองใส่เอกลักษณ์บางอย่างให้ตัวละคร หรือการเอาลักษณะเด่นๆ ของคนจริงๆ มาใส่รวมๆ กันก็เป็นเทคนิคที่ดีค่ะ ลองดูเทคนิคของนักเขียนการ์ตูนมืออาชีพได้ในนี้นะ

http://www.dailymotion.com/video/x6lnfb_meitantei-coshin_shortfilms

อีกส่วนหนึ่งที่แสดงลักษณะได้ดีมากๆ ก็คือเสื้อผ้าค่ะ ลองคิดถึงลักษณะของตัวละครแล้วเลือกเสื้อผ้าให้เข้ากัน หรือจะกำหนดเป็นยูนิฟอร์มที่มีเอกลักษณ์ก็ดีนะ

บางคนอาจจะเริ่มจากค่อยๆ สร้างเรื่องราวให้ตัวละครที่วาดประจำ เพื่อสร้างบุคลิกและเอกลักษณ์ของตัวละครที่วาดอยู่ให้ชัดเจนกว่าเดิม สนุกดีนะคะ! ลองทำดูสิ!
อย่าลืมว่า Character Design ไม่ใช่แค่การวาดคนให้ถูกสัดส่วน แต่คือรูปร่าง เรื่องราว นิสัย และเอกลักษณ์ของตัวละครที่บ่งบอกผ่านภาพ อย่าลืมเรื่องนี้ไปซะนะคะ!

การฝึกฝน Character Design

  1. กระตุ้นตัวเองให้อยากทำ อยากลอง อยากวาด
  2. หมั่นค้นหาแรงบันดาลใจอยู่เสมอ ช่างสังเกตจากคนรอบข้าง จับจุดเด่นแม้จะเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ
  3. จดลักษณะสีหน้าที่เจอตามหนังสือการ์ตูน หรือสติ๊กเกอร์ในไลน์หรือเฟสบุคลงสมุด ลองดูการวาดตา คิ้ว ปากที่แสดงสีหน้าต่างๆ กัน
  4. ทำความเข้าใจตัวละครหรือคนที่อยู่รอบๆ ตัว ลองดูพฤติกรรมเด่นๆ ของเขา แล้วหาสาเหตุว่าทำไมถึงทำอย่างนั้น ลองสังเกตแล้วตั้งคำถามกับตัวเอง ยิ่งเข้าใจคนมากเท่าไหร่ จะยิ่งสร้างตัวละครได้สมจริงและสมเหตุสมผลมากขึ้นเท่านั้น
  5. ฝึกวาดรูป อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อให้สื่อสิ่งที่คิดออกมาเป็นภาพได้ ถ้าวาดลงสมุดสวยๆ ทีไรเกร็งทุกที ลองเอากระดาษใช้แล้วมาเย็บเล่มวาดดูนะคะ พอไม่รู้สึกเสียดายแล้ว ไอเดียจะไหลลื่น สนุกมากๆ เลยล่ะ
  6. ถ้าอยากได้ไอเดีย ลองดูตามเว็บไซต์ที่ Create ตัวละคร หรือพวกเว็บทำ Avatar การ์ตูนดูนะ เช่น DreamselfChanrio, Ameba Pico, LINE Play
  7. อย่าคิดกลัวหรือคิดว่าจะเสียเวลาเปล่า ทุกอย่างที่ทำเป็นการฝึกฝนและจะเป็นความรู้ติดตัวเราทั้งนั้น

Character Design x Money

ความจริงเรื่องนี้เป็นเรื่องที่จันไม่ถนัดนัก ส่วนตัวแล้วจันแค่วาดเป็นงานอดิเรกและเผยแพร่ผลงานอย่างที่เห็นๆ กันอยู่ แต่หลายๆ ครั้งที่จันได้โอกาสจากคนอื่นๆ เพราะการเผยแพร่ผลงานแบบนี้ค่ะ ตอนนี้ช่องทางการทำเงินและงานจากการเผยแพร่แบบนี้มีเยอะเหลือเกิน คร่าวๆ ที่จันทราบประมาณนี้ค่ะ

  • เผยแพร่ผลงานทางเว็บไซต์หรือ Social Media ใช้ Tag ที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมเพื่อให้คนเสิร์ชเจอง่ายๆ งานนี้อาจเป็นงานฟรีจนกว่าจะมีชื่อเสียงค่ะ เอาจริงๆ ถ้าชอบก็คิดซะว่าไม่หวังผล แต่ถ้ามีงานหรือรายได้ก็ถือซะว่าเป็นกำไรค่ะ ถ้ามีชื่อเสียงจะมีการติดต่อจ้างทำงาน เช่น งานวาดรูปหรือออกแบบ วาดภาพประกอบ content ที่ลงทางเฟสบุค งานสอนตามเวิร์คชอป งานรีวิวหรือเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้าที่ตรงกับฐานแฟนคลับของเรา หรือซื้อลิขสิทธิ์นำตัวละครไปผลิตสินค้า
  • ถ้าเขียนเป็นเรื่องราวได้ ลองเขียนต้นฉบับส่งสำนักพิมพ์ดูค่ะ ส่งเข้าไปในสำนักพิมพ์ที่เหมาะกับงานของเรา อย่างน้อยที่สุด อาจจะได้งานวาดภาพประกอบกลับมาทำก็ได้ค่ะ
  • ทำ Sticker Line ขาย
  • ขายภาพคล้ายๆ Sticker Line ในเว็บสต็อคซื้อขายภาพ อย่างเช่น Shutterstock.com
  • ทำสินค้าขาย เช่นต้นทุนต่ำๆ อย่างโปสการ์ด โปสเตอร์ หรือสติ๊กเกอร์ หรือของต้นทุนสูงอย่างพวงกุญแจอะคริลิก สกรีนเสื้อ หรือทำผ้าพันคอ แล้วลองขายทางอินเตอร์เน็ทหรืออีเวนท์ต่างๆ
  • ส่งประกวดตามการประกวดออกแบบมาสคอตต่างๆ

https://www.youtube.com/watch?v=xSrRL53xQCY

แถมท้ายด้วยอาราเล่จังกับโกคุคุง ทั้งสองเรื่องเป็นฝีมือของอาจารย์ Akira Toriyama ค่ะ ปกติเห็นอาจารย์ที่เขียนการ์ตูนหลายคนวาดกี่เรื่องก็ออกมาหน้าตาเหมือนๆ กัน แต่ของอาจารย์อากิระเนี่ย ไม่รู้สึกเลยว่าเป็นคนวาดคนเดียวกัน แยกดีไซน์ได้ขาดออกจากกันดีจัง สุดยอดเลยเนาะ!

แล้วพบกันใหม่ในซีรีส์ถัดไปนะคะ > <
ขอบคุณที่ติดตามค่ะ

*********************
ทั้งหมดเป็นการเขียนและวาดโดยจันเอง
ใครจะก๊อปไปไว้ไหน เครดิต www.nuchun.com ด้วยนะคะ
ขอบคุณค่ะ