Nuchun's Atelier

บล็อกรีวิวเครื่องเขียน l สีมาร์คเกอร์ l อุปกรณ์วาดรูป พร้อมวิธีทำงานประดิษฐ์สนุกๆ ที่ทำได้ที่บ้าน

ทริปโตเกียวนอกตำรา ตอนที่ 2 : ฉันชอบปลาทอง

สวัสดีค่ะ ทุกคน… วันนี้เป็นตอนแรกที่จันจะเขียนบันทึก นึกย้อนไปถึงการไปทริปหน้าร้อนที่โตเกียวเมื่อปีที่แล้วให้ทุกคนได้อ่านกันค่ะ คิดไม่ออกเหมือนกันว่าจะเรียงสถานที่ยังไงดี จะเจาะเป็นที่ๆ หรือรวมเอาสถานที่ธีมเดียวกันดี ใครชอบแบบไหนบอกกันไว้ได้นะคะ สำหรับคราวนี้จะเริ่มด้วยเรื่องนิทรรศการปลาทองที่จันประทับใจที่สุดกันก่อนค่ะ ไปอ่านกันเลย !

Art Aquarium นิทรรศการปลาทองที่เข้าชมได้เฉพาะฤดูร้อนเท่านั้น !

Art Aquarium 2018 : “ECO EDO Nihonbashi ART AQUARIUM 2018 ~Edo, Coolness of Kingyo~ & Night Aquarium”

เวลาที่นึกถึงหน้าร้อนของญี่ปุ่น สิ่งแรกที่นึกถึงก็คือภาพเด็กสาวใส่ชุดยูกาตะไปตักปลาทองในงานวัด เพราะญี่ปุ่นเชื่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณว่าการดูปลาทอง ทำให้ผู้คนรู้สึกเย็นลง คุณคิมุระ ฮิเตโมโมะ ศิลปิน Art Aquarium จึงสร้างเวทีให้ปลาทองได้เป็นดาวเด่น กลายเป็นนิทรรศการที่นำความหลากหลายและสวยงามของปลาทอง มาจัดแสดงในอ่างแก้วรูปทรงแปลกตาร่วมกับแสงสีแบบสมัยใหม่ค่ะ

รายละเอียดงานเมื่อปีที่แล้ว
ECO EDO Nihonbashi
ART AQUARIUM 2018 ~Edo, Coolness of Kingyo~ & Night Aquarium

Period: July 6, 2018 (fri) – September 24 (mon) / Open throughout the period
Opening Hours: Sun – Fri / 11:00 AM - 10:30 PM (last entrance 10:00 PM)
Venue: Nihonbashi Mitsui Hall
http://artaquarium.jp/en/nihonbashi2018/

ART AQUARIUM 10:00 AM – 7:00 PM   NIGHT AQUARIUM is from 7:00 PM

เมื่อผมมีไอเดียที่จะสร้างงานศิลปะซึ่งเสร็จสมบูรณ์ได้จากการใส่ปลาเข้าไป ผมเลือกที่จะใช้ปลาทองอย่างไม่ลังเล เพราะปลาทองถือเป็นผลงานศิลปะประเภทหนึ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ในงานนิทรรศการ Art Aquarium ผมอยากสะท้อนความเป็นญี่ปุ่นออกไปด้วยผลงานศิลปะที่ใช้ปลาทอง ซึ่งเป็นศิลปะแขนงใหม่จากญี่ปุ่นสู่ทั่วโลก

Kimura Hidetomo ศิลปิน Art Aquarium
รายการ Ojamap ออกอากาศทางช่อง FujiTV วันที่ 13 กรกฎาคม 2016

จันรู้จักนิทรรศการนี้จากการดูรายการทีวีรายการหนึ่งที่ชื่อ Ojamap ค่ะ เป็นรายการญี่ปุ่นที่คุณ Katori Shingo ไอดอลที่จันชื่นชอบ (คนขวา) กับดาราตลก Zakiyama (คนซ้าย)​ เป็นพิธีกร รายการนี้ก็จะเป็นรายการที่ไม่มีสคริปต์ พาพิธีกรพร้อมแขกรับเชิญไปทำภารกิจต่างๆ ไปปลอมตัวทำงานที่นั่นที่นี่ ไปเซอร์ไพร์สงานแต่งงานบ้าง ไปภารกิจกินข้าวให้หมดหม้อตามสถานที่ท่องเที่ยวบ้าง เป็นรายการที่ทำให้เพลิดเพลินได้เสมอเลยค่ะ 

ช่วงปี 2016 เป็นปีที่ Art Aquarium จัดนิทรรศการครบ 10 ปี พิธีกรทั้งสองก็ได้รับภารกิจให้ไปเป็นทีมงานในการจัดนิทรรศการนี้ค่ะ รายการถ่ายทำทั้งหมดสามวัน ทำงานหามรุ่งหามค่ำตั้งแต่วันที่เป็นห้องเปล่าๆ จนกลายเป็นนิทรรศการ Art Aquarium โดยสมบูรณ์ น่าทึ่งมากๆ เลยล่ะ ตั้งแต่ตอนนั้น อีเวนท์นี้ก็กลายเป็นที่ที่จันอยากไปอันดับต้นๆ เลยค่ะ 

การเดินทางไป Art Aquarium

Art Aquarium จัดที่ Nihonbashi Mitsui Hall ซึ่งอยู่ในตึกศูนย์การค้า Coredo Muromachi 1 (ตึกนี้มีสามตึกค่ะ) ตอนแรกจันดูชื่อนึกว่า Hall เนี่ยเป็นตึก ดูใน Google Map ก็งงมากที่ตำแหน่งมาที่ตึกโคเรโดะ ต้องหาข้อมูลจากเว็บอีกทีกว่าจะเข้าใจว่าอยู่ในตึกอีกทีนึง

สำหรับตึกโคเรโดะ เท่าที่จันเดินดู ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารเยอะมากๆ แทบไม่เจอร้านขายของให้ช็อปปิ้งเลยค่ะ ที่จำได้ก็มีแต่โรงหนังแล้วก็ร้านอาหารเต็มไปหมดเท่านั้น

การไปตึก Coredo ให้ใช้รถไฟฟ้าใต้ดิน Tokyo Metro สาย Hanzomon line ลงที่สถานี Mitsukoshimae station (ประตู A6) หรือใช้รถไฟ JR สาย Sobu-kaisoku line ลงที่สถานี Shin-nihonbashi ก็ได้ค่ะ หรือถ้าลงสถานี Nihonbashi Station ออกทางประตู Nihonbashi South – Tokyo Station Yaesu Exit ก็จะมี Free Shuttle Bus ให้บริการด้วยค่ะ

ขอพรให้ถูกหวยรวยเบอร์ที่ Fukutoku Jinja

ตอนที่เราไปถึงตึก Coredo เราไปถึงก่อนเวลาเปิดให้เข้าชมค่ะ ระหว่างที่เดินจากสถานีรถไฟตาม Google Maps ไปตามถนนสะอาดสะอ้านของย่านธุรกิจ Nihonbashi เราก็ไปเจอประตูศาลเจ้าสีแดงตระหง่านที่ด้านหลังของตึก Coredo เลยเดินเที่ยวเล่นแป๊บนึงค่ะ

ประตูโทริอิของศาลเจ้า Fukutoku Jinja อยู่ด้านหลังตึก Coredo

ศาลเจ้าเล็กๆ แห่งนี้ชื่อ Fukutoku Jinja เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ ตั้งแต่สมัยยุคเฮอัน (ปี 794-1185) อายุมากกว่า 1,200 กว่าปี (แต่ที่ดูใหม่มากเพราะเขาเพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่ในปี 2014) ที่นี่มีชื่อเสียงว่าเป็นแหล่งพลังงาน (Power spot) ของการถูกล็อตเตอรี่ค่ะ ! เขาว่าที่นี่ในสมัยเอโดะ (ปี 1603 – 1868) เป็นหนึ่งในศาลเจ้าไม่กี่แห่งที่อนุญาตให้ขายล็อตเตอรี่ ก็เลยมีชื่อเสียงในเรื่องนี้มาจนถึงปัจจุบัน และเป็นที่ประทับของเทพเจ้าแห่งการเก็บเกี่ยวอุดมสมบูรณ์ (ทำไมไม่รู้ให้เร็วกว่านี้น้อ จะไปขอสามตัวท้าย ฮ่าๆ)

ทางระหว่างศาลเจ้ากับสวน เพื่อนถ่ายเอาไว้พร้อมกับงานปั้นตุ๊กตาของตัวเองค่ะ เพื่อนจันเป็นนักปั้นแหละ ติดตามผลงานได้ที่ IG : @teerada นะคะ (ว่าแต่ อันนี้เรียกว่ารูปคู่ไหมเนี่ย ฮ่าๆ)

ข้างๆ ศาลเจ้าจะมีสวน Fukutoku ระหว่างทางเดินจากศาลเจ้าไปสวนนั้น เขาเพิ่งสร้างเสาไม้แขวนกระดิ่งลมทำมือสไตล์ยุคเอโดะเรียงรายกันอยู่ค่ะ แถมบริเวณตึกก็มีโคมกระดาษแบบญี่ปุ่นแขวนตกแต่งไว้ในคอนเซปต์ Eco Edo เห็นแล้วอยากแนะนำเพื่อนๆ ให้เช่าชุดยูกาตะมาถ่ายรูปเล่นมากๆ เลยค่ะ 

ปลาทอง 8,000 ตัวมาจากไหน อย่างไร

การทำ Art Aquarium นั้นใช้ปลาทองบรรจุในกล่องลังทั้งหมด 88 กล่อง คิดแล้วเป็นจำนวนกว่า 8,000 ตัวค่ะ แน่นอนว่าพี่คิมุระไม่ได้เลี้ยงปลาทองแปดพันตัวไว้ที่บ้าน แต่พี่ไปขอเช่าเขามาค่ะ

จากที่รายการ Ojamap บอกคือปลาทองที่ใช้ในการจัดแสดงเนี่ย คิมุระซังก็ไปคุยกับฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาทองที่ชื่อ Maruu จังหวัด Aichi ในเมือง Yatomi ซึ่งเมืองนี้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาทองมานานกว่า 150 ปี คิมุระซังใช้ปลาทองของที่นี่มาตลอดตั้งแต่จัดแสดงครั้งแรกเลยค่ะ

การขนส่งปลาทองจากจังหวัด Aichi ซึ่งอยู่ห่างจากโตเกียวประมาณ 350 กิโลเมตร ปลาทองเดินทางมาถึงโตเกียวอย่างไรกันนะ น้องๆ ทั้งหลายไม่ได้นั่งเฮลิคอปเตอร์มาแน่นอนค่ะ แต่น้องๆ อยู่ในถุงพลาสติกใบใหญ่ที่มัดปากถุงอย่างแน่นหนา ก่อนจะใส่ในลังกระดาษปิดผนึก แล้วใส่ในรถบรรทุกมา เป็นวิธีการที่ฟังดูธรรมดา เหมือนให้แกรบฟู๊ดไปซื้อก๋วยเตี๋ยว แต่พอคิดว่ามีสิ่งมีชีวิตอยู่ในนั้น ก็ชวนให้ประหลาดใจจริงๆ นะคะ

ก่อนการขนส่ง ทางฟาร์มจะนำปลาทองที่จะขนส่งมาให้มาว่ายน้ำในอ่างเฉพาะก่อนเวลาขนส่ง 6 ชั่วโมงค่ะ เพราะตามหลักแล้วปลาทองเป็นสิ่งมีชีวิตที่ยิ่งว่ายน้ำก็จะยิ่งอึ๊ออกมามาก ดังนั้นเพื่อดีทอกซ์ลำไส้น้องๆ เขาเลยให้ว่ายน้ำวนไป 6 ชั่วโมง น้องจะได้อึ๊ออกมาให้หมดก่อนจะขนส่งค่ะ อึ๊ของน้องๆ จะทำให้เกิดก๊าซแอมโมเนีย ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก หากก๊าซนั้นอบอวลอยู่ในถุงพลาสติกค่ะ

ขั้นต่อมาคือการผสมยาปฏิชีวนะในน้ำที่ใส่น้องๆ ระหว่างขนส่ง ถุงพลาสติกที่เขาใส่น้องๆ ถึงจะใหญ่ก็จริง แต่ก็ไม่ได้มีน้องๆ แค่ตัวเดียว พอมีน้องๆ อยู่หลายตัว ว่ายชนกันไปชนกันมาก็จะทำให้น้องๆ บาดเจ็บได้ ดังนั้นจึงต้องใส่ยาสำหรับปลา ผสมลงในน้ำด้วยค่ะ เท่าที่จันอ่านดูเพิ่มเติม คือนอกจากยาที่แก้เรื่องบาดเจ็บแล้ว ก็ยังมียาลดความเครียด อะไรแบบนี้ด้วยค่ะ

ขั้นตอนสุดท้ายคือการอัดอากาศลงไป (ตรงนี้จันฟังไม่ค่อยออกว่ามีสารอะไรบ้าง) แต่เอาเป็นว่าเขาอัดอากาศลงไปจนถุงพลาสติกพองโต ก่อนจะมัดปากถุงแน่นๆ แล้วใส่ลงกล่องลังเพื่อขนส่งค่ะ

ออกมาหน้าตาแบบนี้ เหมือนส่งผักเลยเนอะ

ทำยังไง น้ำในงานถึงใสได้ตลอด

น้ำใส ไหลเย็น เห็นตัวปลา — มายังไง

จริงๆ แล้วในการจัดงานครั้งนี้ น้ำที่ใช้ก็เป็นน้ำประปาจากก๊อกในห้องน้ำของตึก Coredo นั่นล่ะค่ะ น้ำประปาที่ญี่ปุ่นดื่มได้อยู่แล้ว จึงไม่น่ามีปัญหา ไม่แน่ใจว่าที่ไทยใช้น้ำประปาได้รึเปล่านะ? วิธีที่ทำให้น้ำใส ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำ 40 ตันบ่อยๆ ก็คือการบำบัดน้ำนอกตู้ค่ะ

การบำบัดน้ำนอกตู้ ซึ่งตู้บำบัดของงานแต่ละชิ้นจะอยู่ด้านล่างของตู้ค่ะ

การบำบัดน้ำนอกตู้ คือการทำให้น้ำที่อยู่ในตู้ไหลเวียนไปที่อีกตู้หนึ่งซึ่งใส่ที่กรองน้ำเป็นชั้นๆ จากนั้นให้น้ำที่กรองแล้ว ไหลเวียนกลับเข้าไปในตู้ค่ะ ในตู้กรองจะมีสำลีอยู่ชั้นบนสุด เพื่อกรองเศษขยะชิ้นใหญ่ออกไป ชั้นต่อมาเป็น Activated Carbon ที่ทำให้น้ำไม่เหลืองและไม่มีกลิ่น ชั้นที่ 3 จะเป็นใยสังเคราะห์ ที่ช่วยเพาะเชื้อแบคทีเรียที่ย่อยสลายแอมโมเนียได้ ส่วนชั้นสุดท้ายก่อนน้ำไหลกลับเข้าตู้หลัก จะเป็นเศษปะการังทำหน้าที่ดูดตะกอน   เศษอาหาร   ให้ไปติดอยู่ตามปะการังค่ะ พอทำได้แบบนี้แล้ว น้ำก็จะใสขึ้น ดูแลรักษาง่าย และไม่ต้องเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ นั่นเองค่ะ

เกริ่นมายาวแล้ว เข้าสู่ Art Aquarium กันดีกว่า !

ขึ้นมาถึงชั้น 4 ก็จะเจอ Nihonbashi Mitsui Hall ตามภาพค่ะ เข้าไปข้างใน ซื้อบัตรราคา 1,000 เยน แล้วขึ้นไปชั้น 5 เพื่อเข้าสู่ห้องจัดแสดงค่ะ
Ceiling Kingyo
บริเวณทางเข้าจะเป็นทางเดิน One way มีปลาทองที่เล่นแสงสีอยู่บนเพดานค่ะ ตอนจันไปคือคนมีเรื่อยๆ ไม่ได้เยอะแยะอะไร ก็แหงนหน้าถ่ายรูปสนุกเลย ทุกคนก็อู้วหูว~ กันค่ะ อ้อ ที่นี่ถ่ายภาพได้ แต่ห้ามถ่ายวิดีโอนะคะ
ภาพรวมของทั้งงานจะเป็นประมาณนี้ค่ะ ภาชนะที่ใส่ปลาทองแต่ละชิ้นนั้น เป็นของสั่งทำที่มีน้ำหนักถึง 300 กิโลกรัม ถอดประกอบได้เพื่อไม่ให้มีปัญหาเวลาจัดแสดงตามสถานที่เล็กๆ ส่วนมูลค่าของภาชนะแต่ละชิ้นนั้น สามารถซื้อแมนชั่นใจกลางเมืองได้เลยทีเดียวค่ะ
ไม่แน่ใจว่าชิ้นนี้เรียกอะไร พยายามหาข้อมูลแล้วแต่ไม่เจอค่ะ
Super Oiran (Cho Oiran) ซึ่งเป็นไฮไลท์ของงานนี้เลยค่ะ บรรจุปลาถึง 3,000 ตัวแน่ะ
ปลาทองตัวนี้ตลกดีค่ะ ขณะที่ตัวอื่นเขาว่ายไปว่ายมา มีตัวนี้แหละ อยู่นิ่งๆ แล้วยิ้มให้ น่ารักกกก
ตู้ Aqua gate ค่ะ ไม่มีรูปด้านหน้าให้ดูกันอ่ะ มีเท่านี้จริงๆ > <
จันชอบตู้นี้ในแบบ Close up รู้สึกว่ามันเป็นทรงเรขาคณิต สมมาตรกันสวยดีค่ะ
Temaririum ที่ได้แรงบันดาลใจจากของเล่นญี่ปุ่นโบราณ
เหมือนปลาในลูกแก้วเลยเนอะ สวยจัง
Kirikorium เป็นชามแก้วลวดลาย ใส่ปลาทองแก้มป่องที่เรียกว่า Suihogan ลงไปค่ะ
น้องแก้มป่อง Suihogan ราคาจะอยู่ที่ตัวละ 5,000 เยน ส่วนตัวเกรดดีๆ ราคาสูงถึง 30,000 เยนเลยค่ะ ปลาทองแต่ละพันธุ์ที่เราเห็นรูปร่างและสีสันที่แตกต่างกันนั้น เกิดจากการใส่แบคทีเรียทำให้น้องๆ เป็นโรคจึงได้รูปร่าง หน้าตาที่แตกต่างกันออกไปค่ะ
Taisei Hokan Kingyo Large Byobu ชิ้นสุดท้ายที่จันดูก่อนออกประตูไปก็คือฉากพับกั้นห้องแบบญี่ปุ่นชิ้นนี้ค่ะ นอกจากจะใส่ปลาทองให้ว่ายน้ำเล่นในฉากพับแล้ว ยังมีการฉายภาพลงไปอีกด้วย สวยมากๆ เลยล่ะค่ะ
ปลาทองตรงใต้ฉากพับก็สวยนะคะ เอากล้องแนบกระจกแล้วถ่ายรัวๆ เดี๋ยวก็จะได้ภาพสวยๆ เหมือนลายแพทเทิร์นเลยล่ะ
พอออกจากห้องใหญ่ก็จะเป็นโซน Kingyo Collection ที่โชว์ปลาทองหน้าตาแปลกๆ ให้ดูกันแบบเห็นชัดๆ ค่ะ
ปลาทอง ปลาท๊อง ปลาทองงง
ตู้ Kailedorium 3D ทำเลียนแบบกล้องสลับลาย
สีของปลาตัดกับลูกแก้วได้ดีมากเลยยย ชอบบ
จุดสุดท้ายก่อนออกจากห้องจัดงานค่ะ Tokokage Kingyo Ornament และดาบ Shoebitenmei
เมื่อออกมาแล้ว มีคาเฟ่ปลาทองและร้านขายของฝากให้ได้เพลิดเพลินต่อค่ะ ของเพื่อนสั่งเยลลี่ น่ารักๆ อันนี้
ส่วนจานนี้ของจันเป็นแยมโรล ที่ทำเป็นลายปลาคาร์พค่ะ สปอนจ์เค้กเขานุ่มมากๆ เลยนะ ครีมก็ไม่หวานจนเกินไปด้วย จันชอบค่ะ อร่อยมากกก

สนุกมากเลยน้า~ ถึงคนจะเยอะไปหน่อยก็ตามที แต่ถ้าอ้อยอิ่งรอจังหวะ ก็ได้รูปสวยๆ กลับมาเพียบเลย ! เสียดายไม่ได้เช่าชุดยุกาตะไปด้วย

สำหรับ Art Aquarium ในปีนี้ก็ยังเปิดรอให้เพื่อนๆ เข้าไปชมอยู่นะคะ โดยสามารถเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้ ยาวไปจนถึงวันที่ 23 กันยายน 2019 ลองเข้าไปส่องรายละเอียดได้ที่ http://artaquarium.jp/en/nihonbashi2019/ ค่ะ

*********************
ทั้งหมดเป็นการเขียนและวาดโดยจันเอง
ใครจะก๊อปไปไว้ไหน เครดิต www.nuchun.com ด้วยนะคะ
ขอบคุณค่ะ